ม.เทคโนโลยีสุรนารี ขึ้นแท่นอันดับ 1 มหาวิทยาลัยไทย ด้าน Physical Sciences จากการจัดอันดับ มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก โดย THE World University Rankings
เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา Times Higher Education (THE) ประเทศอังกฤษ ได้เผยผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก ประจำปี ค.ศ. 2019 (The 2019 Times Higher Education World University Rankings) ในระดับสาขาวิชา อย่างเป็นทางการ โดยในกลุ่มสาขาวิชาด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ (Physical Sciences) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 1 ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย และเป็นมหาวิทยาลัยเพียงแห่งเดียวของไทย ที่อยู่ในกลุ่มอันดับ 501-600 มหาวิทยาลัยชั้นนำโลก
รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ
รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เผยว่า จากการประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก ประจำปี ค.ศ. 2019 กลุ่มสาขาวิชา Physical Sciences หรือ World University Rankings 2019 by subject: physical sciences โดย Times Higher Education หรือ THE สถาบันจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกชื่อดังจากประเทศอังกฤษ ซึ่งในปีนี้ได้เพิ่มจำนวนมหาวิทยาลัยที่ได้รับการจัดอันดับขึ้นจำนวนมากถึง 963 อันดับ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยชั้นนำอันดับ 1 ของโลกในสาขาวิชานี้ ได้แก่ Princeton University รองลงมา ได้แก่ Massachusetts Institute of Technology และ Stanford University ประเทศสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ
สำหรับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ที่ได้รับการจัดอันดับในสาขาวิชานี้ ในปีนี้ มีทั้งสิ้น 12 มหาวิทยาลัย โดยเรียงตามคะแนนรวมถ่วงน้ำหนัก ได้ดังนี้
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อันดับที่ 501-600
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี อันดับที่ 601-800
มหาวิทยาลัยมหิดล อันดับที่ 601-800
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันดับที่ 601-800
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อันดับที่ 800+
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ อันดับที่ 800+
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อันดับที่ 800+
มหาวิทยาลัยขอนแก่น อันดับที่ 800+
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อันดับที่ 800+
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันดับที่ 800+
มหาวิทยาลัยนเรศวร อันดับที่ 800+
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง อันดับที่ 800+
ทั้งนี้การจัดกลุ่มสาขาวิชาด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ (Physical Sciences) ประกอบด้วย สาขาวิชาด้านฟิสิกส์และดาราศาสตร์ เคมีคณิตศาสตร์และสถิติ ธรณีวิทยา วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์โลกและวิทยาศาสตร์ทางทะเล
สำหรับเกณฑ์ที่ใช้ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำดังกล่าว ประกอบด้วย 5 ตัวชี้วัดหลัก (13 ตัวชี้วัดย่อย) โดยเป็นเกณฑ์เดียวกันกับการจัดอันดับของ World University Rankings 2019 แต่ร้อยละของน้ำหนักในการคำนวณแตกต่างกัน ซึ่งการจัดอันดับครั้งนี้ ให้น้ำหนักในการคำนวณ ดังนี้
การอ้างอิง (อิทธิพลของการวิจัย) มีน้ำหนัก 35%
การสอน (สภาพแวดล้อมในการเรียนรู้) มีน้ำหนัก 27.5%
การวิจัย (ปริมาณ รายได้ และชื่อเสียง) มีน้ำหนัก 27.5%
ความเป็นนานาชาติ (บุคลากร นักศึกษา การวิจัย) มีน้ำหนัก 7.5%
รายได้จากภาคอุตสาหกรรม (การถ่ายโอนความรู้) มีน้ำหนัก 2.5%
โดย ม.สุรนารี มีคะแนนรวม 30.16 นับเป็นคะแนนรวมสูงสุดในประเทศไทย โดยตัวชี้วัดที่ได้คะแนนสูงสุดของประเทศ 3 ตัวชี้วัด ได้แก่ การอ้างอิง ความเป็นนานาชาติ และการสอน ซึ่งสะท้อนถึงคุณภาพของการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยที่ได้มาตรฐานสากล ศักยภาพของคณาจารย์และบุคลากรในมหาวิทยาลัยในการผลิตผลงานวิจัยคุณภาพสูง
“ผลการจัดอันดับในครั้งนี้ ถือเป็นสิ่งที่น่ายินดีและน่าภาคภูมิใจอย่างยิ่ง แสดงให้เห็นว่า ม.สุรนารี มีศักยภาพความเข้มแข็งทางด้านวิชาการในระดับสากล มีความสำเร็จที่ไม่เคยหยุดนิ่ง มีพัฒนาการที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 28 ปี แห่งการก่อตั้งมหาวิทยาลัย อีกทั้งยังแสดงถึงความสำเร็จในการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย ที่พร้อมสร้างสรรค์ความรู้คู่เคียงสังคม มุ่งสู่มาตรฐานสากล เป็นแหล่งสร้างคน สร้างนวัตกรรม ผลิตบัณฑิตพร้อมทำงาน ที่มีความรู้ในวิชาชีพตรงตามความต้องการตลาดแรงงาน และสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคม พร้อมเป็นที่พึ่งของสังคมต่อไป” อธิการบดี ม.สุรนารี กล่าว
แสดงความคิดเห็น