“พิณทอง เล่ห์กันต์” จับมือ “ทนายเล็ก น.ส.วรพรรณ เบญจวรกุล” ลุยฟ้องมติชนสุดฯและคุณเพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง พร้อมผนึกพลังผู้เสียหายทั่วประเทศ กู้ศักดิ์ศรีหญิงอีสาน เผยบทความดังกล่าวยังวางขายตามท้องตลาด
น.ส.พิณทอง เล่ห์กันต์ ผู้รณรงค์ใน Change.org เรื่อง “มติชนสุดฯและเพ็ญศรี เผ่าเหลืองทองต้องขอโทษคนอีสานจากกรณีดูหมิ่นผู้หญิงอีสานผ่านบทความ” เปิดเผยความคืบหน้ากับ “อีสานบิซ” ว่า วันที่ 3 ม.ค. 63 ตนได้ปรึกษากับ น.ส.วรพรรณ เบญจวรกุล หรือ ทนายเล็ก เรื่องดำเนินการฟ้องร้องหมิ่นประมาท ต่อสำนักพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ และ คุณเพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง ที่ได้เขียนบทความอุปนิสัยชี้ชะตากรรม ผ่านคอลัมน์โลกหมุนเร็ว ฉบับวันที่ 13 – 19 ธ.ค. 63
ในเชิงดูหมิ่น เหยียดหยาม ผู้หญิงอีสานและคนอีสาน อย่างร้ายแรง ทั้งเรื่อง 1.การดูถูกเหยียดหยาม ศักดิ์ศรีความเป็นของคนอีสาน และผู้หญิงอีสาน โดยการใช้คำพูดในเชิงดูถูกด้านการศึกษา ฐานะทางเศรษฐกิจ ความคิด วัฒนธรรม อุปนิสัย รวมถึงพันธุกรรมของผู้หญิงอีสาน ซึ่งนั่นหมายรวมถึงสังคมอีสานทั้งสังคม
เพราะหน่วยสังคมหนึ่งไม่ได้มีองค์ประกอบแค่เพศใดเพศหนึ่ง หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่มันมีความหลากหลายส่วนประกอบที่ก่อรูปร่างให้เกิดเป็นสังคม ชุมชน คนอีสาน หรือแม้แต่ประเทศไทย เพราะฉะนั้น เมื่อการดูหมิ่นเหยียดหยามผู้หญิงอีสาน ก็หมายถึงการดูหมิ่นทั้งสังคมอีสาน ทั้งเพศหญิง เพศชาย เพศหลากหลาย ทุกเพศทุกวัย ทุกเชื้อชาติที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคอีสาน
2.การดูหมิ่นศักดิ์ศรีผู้หญิงอีสานที่พูดถึงพฤติกรรมการชอบความสบาย รอรับคำสั่ง ถนัดในงานบริการ และเลือกที่จะแต่งงานกับชายชาวต่างชาติเพื่อไต่เต้าทางสังคมและขยับฐานะทางเศรษฐกิจโดยไม่ได้ให้ความสำคัญด้านการศึกษา มากกว่าเลือกที่จะแต่งงานกับฝรั่งเพื่อความสบาย (โดยตั้งคำถาม “ทำไมหญิงอีสานจึงไม่เลือกเอาตัวรอดด้วยการศึกษา เป็นเรื่องของ “โอกาส” หรือว่า “อุปนิสัย”)
น.ส.พิณทอง กล่าวอีกว่า 3. ผู้เขียนใช้คำที่ดูถูกเหยียดหยามการแต่งงานการข้ามชาติ ข้ามเผ่าพันธุ์ เหมือนกับผู้หญิงอีสานเหล่านั้น เป็นอาชญากร จนต้องใช้คำว่า “ผู้เขียนภาวนาขอให้ marriage migration นี้เป็นแค่ trend และเมื่อสังคมเปลี่ยนไป trend นี้จะหมดไป แต่ดูเหมือนว่านี่จะเป็นความหวังที่รางเลือน
การดูถูกอาชีพการทำงานบ้าน ว่าเป็นอาชีพต่ำต้อย ทำงานโดยคนที่มีการศึกษาน้อย แต่การที่ผู้หญิงอีสานมีการศึกษาน้อย เพราะพวกเธอเหล่านั้นไม่เลือกโอกาสทางการศึกษา แต่มันเป็นเพราะนิสัยการพึ่งพาพึ่งพิงคนอื่น และการเห็นตัวอย่างรุ่นพี่ที่ไปมีสามีฝรั่ง เลยเอาแบบอย่าง ส่วนผู้หญิงที่ไม่ได้แต่งงานกับฝรั่ง จึงต้องจมปลักอยู่กับงานที่มีรายได้น้อย
แม้กระทั่งไม่พอที่จะเสียภาษีให้รัฐที่เพิ่มตัวเลขจีดีพี โดยที่ผู้เขียนไม่ได้กล่าวถึงว่าคนทุกคนในสังคมไทย รวมทั้งคนอีสานและผู้หญิงอีสานต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงผ้าอนามัย และมีสิทธิในการใช้บริการพื้นฐานของรัฐทุกประการ รวมถึงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เทียบเท่ากับคนอื่นๆ ในภูมิภาคอื่นๆของสังคม
น.ส.พิณทอง กล่าวอีกว่า 5. ใช้คำว่า “หญิงอีสาน” ในบทความนี้ นั่นหมายถึง พฤติกรรมแบบนี้ ผู้หญิงภาคอื่นไม่ทำใช่หรือไม่?
ปัญหาที่ผู้เขียนได้กล่าวถึงและกล่าวโทษต่อผู้หญิงอีสานในบทความนั้น เป็นการกล่าวโทษต่อปัจเจกบุคคล โดยบอกว่าผู้หญิงเหล่านั้น ไม่ได้เลือกการศึกษามากกว่าการแต่งงานกับชาวต่างชาติเพื่อความสุขสบายและไต่เต้าทางสังคมแบบทางลัด
โดยไม่มองเห็นเลยว่าปัญหาดังกล่าวมันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมที่ไม่เท่าเทียมของสังคมไทย มากกว่าที่จะเป็นปัญหาบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
บทความนี้ได้ชี้นำวิธีคิดเชิงชนชั้น เช่น ชนชั้นรายได้น้อย การศึกษาต่ำ ยากจน เป็นภาระของรัฐและชนชั้นที่เสียภาษี
“จากคำดูหมิ่น เหยียดหยาม ที่ร้ายแรง ซึ่งดิฉันรับไม่ได้ จึงจะดำเนินการแจ้งความและแถลงข่าวในวันที่ 6 ม.ค. 63 เกี่ยวกับกระบวนการทางกฎหมาย พร้อมกับรวบรวมผู้หญิงอีสานที่เสียหายยื่นฟ้อง” น.ส.พิณทอง กล่าวและว่า
ล่าสุดวันที่ 3 ม.ค. 63 บทความดังกล่าวยังสามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาด แสดงว่าสำนักพิมพ์ดังกล่าวได้ละเมิด ดูหมิ่น เหยียดยาม ผู้หญิงอีสานและคนอีสาน ตนจึงรวบรวมหลักฐานทั้งที่เป็นสิ่งพิมพ์ ข้อความเป็นสื่อออนไลน์ ไว้ต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด
“เราต้องการยุติการดูหมิ่นคนเหยียดหยามคนอีสาน นับจากวันนี้ เพื่อคนอีสานและคนกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆในอีสาน จะได้อยู่ร่วมกันกับคนไทยอย่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน”