อีสานโพลเผยผลสำรวจคนอีสานส่วนใหญ่เข้าใจวิธีการรับมือกับการแพร่เชิ้อของโควิด 19 ยกเว้นประเด็นการปิดเมืองห้ามคนออกจากบ้านจะแก้ไขปัญหาได้ที่ไม่เป็นความจริง และส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าภาย 2-3 เดือนจะสามารถคุมการแพร่ระบาดได้
วันที่ 16 เมษายน 2563 ผศ.ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง “ความเข้าใจคนอีสานกับการรับมือไวรัสโควิด 19” ว่า จากการประเมินส่วนใหญ่เข้าใจถูกต้องว่า
ขณะนี้ยังไม่มียารักษาต้องรักษาตามอาการ การกักตัวอยู่บ้านและเว้นระยะห่างจะช่วยลดการระบาด การอยู่ในที่สาธารณะจำเป็นต้องสวมหน้ากากแม้ไม่ป่วย
ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวไม่สามารถพบปะผู้คนได้ตามปกติวิธีชนะโควิด คือการชะลอจำนวนผู้ติดเชื้อจนกว่าจะมียารักษาหรือวัคซีน และมีความกังวลและต้องการตรวจหาเชื้อโควิดแบบสะดวกและฟรี
“ขณะที่มีบางประเด็นที่คนจำนวนมากยังอาจเข้าใจไม่ถูกต้องทั้งหมดหรือกังวลเป็นพิเศษได้แก่ การเข้าใจว่าคนทั่วไปไม่ควรสวมหน้ากากผ้าแทนหน้ากากอนามัย
การถูมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อได้ดีกว่าการล้างมือด้วยสบู่เหลว วิธีชนะโควิด คือ การปิดเมืองห้ามคนออกจากบ้าน 14 – 21 วัน และมีเพียง1ใน 3 เท่านั้นที่เชื่อมั่นว่า ภายใน 2-3 เดือน ไทยจะสามารถควบคุมการระบาดได้”ผศ.ดร.สุทินกล่าว
ผศ.ดร.สุทิน กล่าวว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความเข้าใจของคนอีสานต่อการรับมือกับการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 4-11 เมษายน 2563 จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 789 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด รายละเอียดแต่ละประเด็นเป็นดังนี้
1. ขณะนี้ยังไม่มียารักษา ต้องรักษาตามอาการ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 90.1 เข้าใจถูกต้อง มีเพียงร้อยละ 1.7 ที่คิดว่ามียารักษาแล้ว และมีอีกร้อยละ 8.2 ที่ไม่แน่ใจ
2. คนทั่วไปควรสวมหน้ากากผ้าแทนหน้ากากอนามัย กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 48.2 เข้าใจว่าสวมหน้ากากผ้าแทนหน้ากากอนามัยได้ ขณะที่ร้อยละ 39.4 สวมหน้ากากอนามัยปลอดภัยกว่า ซึ่งอาจทำให้บุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลนหน้ากากอนามัยได้ และมีอีกร้อยละ 12.4 ที่ไม่แน่ใจว่าควรจะใส่แบบไหนถึงจะเหมาะสม
3. การกักตัวอยู่บ้านและเว้นระยะห่าง จะช่วยลดการระบาด กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 91.8 เข้าใจถูกต้อง มีเพียงร้อยละ 2.6 ที่อาจเข้าใจไม่ถูกต้อง และมีอีกร้อยละ 5.6 ที่ไม่แน่ใจ
4. การอยู่ในที่สาธารณะ ถ้าไม่ป่วย ไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากาก กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 75.6 เข้าใจว่าไม่ใช่ และควรสวมหน้ากากเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ แต่ก็ยังมีร้อยละ 12.8 ที่เห็นว่าไม่จำเป็นหากไม่ป่วย และมีอีกร้อยละ 11.6 ที่ไม่แน่ใจ
5. การถูมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อได้ดีกว่าการล้างมือด้วยสบู่เหลว กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 54.5 เข้าใจว่าการถูมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อได้ดีกว่า ขณะที่มีเพียงร้อยละ 24.1 ที่เข้าใจว่าการล้างมือด้วยสบู่เหลวฆ่าเชื้อได้ดีกว่า ซึ่งเป็นวิธีการที่ได้ผลมากกว่า และมีอีกร้อยละ 21.4 ที่ไม่แน่ใจ
6. ผู้สูงอายุ และ ผู้มีโรคประจำตัว ยังพบปะผู้คนได้ตามปกติ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 74.2 เข้าใจว่าไม่ใช่ และควรหลีกเลี่ยงการพบปะผู้คน แต่ก็ยังมีร้อยละ 17.7 ที่เห็นว่ายังพบปะผู้คนได้ตามปกติ และมีอีกร้อยละ 8.1 ที่ไม่แน่ใจ
7. วิธีชนะโควิด คือ การชะลอจำนวนผู้ติดเชื้อ จนกว่าจะมียารักษาหรือวัคซีน กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 81.6 เห็นด้วย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง มีเพียงร้อยละ 6.6 ที่ไม่เห็นด้วย และมีอีกร้อยละ 11.8 ที่ไม่แน่ใจ
8. วิธีชนะโควิด คือ การปิดเมือง ห้ามคนออกจากบ้าน 14-21 วัน กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 67.1 เข้าใจว่า การปิดเมืองและห้ามคนออกจากบ้าน จะทำให้ชนะโควิดได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ยังไม่ถูกต้องทั้งหมด เนื่องจากการการปิดเมืองและห้ามคนออกจากบ้าน เป็นเพียงกลยุทธ์หนึ่งที่ช่วยชะลอการระบาดในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น ขณะที่ร้อยละ 14.7 คิดว่าไม่ใช่วิธีชนะโควิด และมีอีกร้อยละ 18.2 ที่ไม่แน่ใจ
9. ภายใน 2-3 เดือน ไทยจะสามารถควบคุมการระบาดได้ กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 34.5 เชื่อว่าจะคุมการระบาดได้ภายใน 2-3 เดือน ขณะที่ร้อยละ 24.0 ไม่เชื่อว่าจะคุมการระบาดได้ และร้อยละ 41.5 ไม่แน่ใจว่าจะสามารถควบคุมได้การระบาดได้ภายใน 2-3 เดือน หรือไม่
10. ท่านกังวลและต้องการตรวจหาเชื้อโควิดแบบสะดวกและฟรี กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 76.1 ตอบว่าใช่ มีเพียงร้อยละ 17.7 ที่ตอบว่าไม่ใช่ และอีกร้อยละ 6.2 ไม่แน่ใจ
สรุป ความเข้าใจคนอีสานกับการรับมือการระบาดของไวรัสโควิด 19
ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง มีความเชื่อมั่นในการพยากรณ์ 99% และคลาดเคลื่อนได้บวกลบ 4.6% ประกอบด้วยเพศหญิง ร้อยละ 51.4 เพศชายร้อยละ 48.6
อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 9.9 อายุ 26-30 ปี ร้อยละ 11.7 อายุ 31-40 ปี ร้อยละ 19.5 อายุ 41-50 ปี ร้อยละ 31.9 อายุ 51- 60 ปี ร้อยละ 20.5 และอายุ 61 ปีขึ้นไป ร้อยละ 6.5
การศึกษา ประถมศึกษา/ต่ำกว่า ร้อยละ 24.2 มัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ 19.6 มัธยมศึกษาตอนปลาย/ระดับปวช. ร้อยละ 17.1 ระดับอนุปริญญา/ปวส. ร้อยละ 5.0 ระดับปริญญาตรี ร้อยละ 30.9 และสูงกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 3.2
ด้านอาชีพส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ร้อยละ 39.0 รองลงมา ค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 14.7 พนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 12.5 รับจ้างทั่วไป/ใช้แรงงาน ร้อยละ 9.9 รับราชการ/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 9.7 นักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 4.7 พ่อบ้าน/แม่บ้าน ร้อยละ 5.2 และ อื่นๆ ร้อยละ 4.4
ด้านรายได้เฉลี่ยต่อเดือน รายได้ไม่เกิน 5,000 บาท ร้อยละ 15.0 รายได้ระหว่าง 5,001-10,000 บาท ร้อยละ 34.9 รองลงมามีรายได้อยู่ระหว่าง 10,001-15,000 บาท ร้อยละ 18.4 รายได้ระหว่าง 15,001-20,000 บาท ร้อยละ 12.2 รายได้ระหว่าง 20,001-40,000 ร้อยละ 13.0 และรายได้มากกว่า 40,001 บาทขึ้นไปร้อยละ 6.5