เสนอ ครม.คุมเข้มสหกรณ์ออมทรัพย์ปล่อยกู้สมาชิก กำหนดเงื่อนไขหลังหักหนี้แล้วต้องมีเงินเหลือไม่น้อยกว่า 30% ของเงินเดือน และงวดผ่อนชำระไม่เกิน 150 งวด หลังพบมีภาระหนี้สูงหลายรายเหลือเงินเดือนเพียง 5 % หรือ 10 % เท่านั้น เพราะกู้ทุกอย่างทั้งกู้สามัญ กู้พิเศษ กู้ฉุกเฉิน ช่วงโควิดเปิดทางให้สมาชิกสหกรณ์ที่ได้รับผลกระทบพักชำระหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้ได้
เว็บไซต์สำนักข่าวอิศราได้เผยแพร่ว่า นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมฯได้ส่งร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ. …. ไปให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาแล้ว และคาดว่าจะมีการเสนอร่างกฎกระทรวงดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้เห็นชอบต่อไป
สำหรับร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ จะกำหนดเพดานการกู้ยืมเงินของสมาชิกฯ คือ เมื่อสหกรณ์ฯปล่อยกู้ให้สมาชิกฯแล้ว จะต้องไม่ทำให้สัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) ของสมาชิกสูงเกิน 70% ของเงินเดือน หรือสมาชิกฯต้องมีเงินเดือนเหลือไม่น้อยกว่า 30% หลังจากหักภาระการชำระหนี้แล้ว พร้อมทั้งกำหนดงวดการผ่อนชำระเงินกู้ไว้ที่ไม่เกิน 150 งวด หรือไม่เกิน 12 ปี 6 เดือน เพื่อไม่ให้สมาชิกก่อหนี้สูงเกินไป
“ปัญหาตอนนี้ คือ สมาชิกสหกรณ์มีหนี้สูงมาก บางสหกรณ์ สมาชิกเหลือเงินใช้จ่ายหลังหักภาระหนี้แล้วเพียง 5% ของเงินดือนก็มี เหลือ 10% ก็มี เพราะกู้หลายอย่าง ทั้งกู้สามัญ กู้พิเศษ กู้ฉุกเฉิน เราจึงออกหลักเกณฑ์ว่าต่อไปนี้ถ้าสหกรณ์จะปล่อยกู้ให้สมาชิก สมาชิกรายนั้นๆจะต้องเหลือเงินเดือนหลังจากหักภาระหนี้แล้วไม่น้อยกว่า 30% และต้องส่งไม่เกิน 150 งวด เพราะถ้างวดยาว การชำระหนี้ก็จะน้อย จะทำให้ก่อหนี้ได้สูง” นายพิเชษฐ์ กล่าว
ส่วนกรณีที่สมาชิกฯมีหนี้สินที่อื่น นอกเหนือจากการกู้เงินสหกรณ์นั้น นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า ปัจจุบันสหกรณ์หลายแห่งได้ใช้วิธีให้สมาชิกต้องนำข้อมูลเครดิตบูโรมาแนบคำขอกู้ด้วย เพื่อลดความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อ แม้ว่าในปัจจุบันกฎหมายจะกำหนดให้สหกรณ์ฯมีสิทธิหักหนี้ของลูกหนี้เป็นรายแรกก็ตาม
นายพิเชษฐ์ ยังกล่าวถึงการช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้สมาชิกบางส่วนไม่สามารถชำระหนี้ได้ว่า ในช่วงเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา กรมฯได้ออกมาตรการให้สหกรณ์ฯมีอำนาจพิจารณาพักชำระหนี้ ขยายเวลาการชำระหนี้ และปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้สมาชิกฯที่ได้รับผลกระทบจากโควิดได้ โดยเฉพาะสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ที่เป็นสถานประกอบการ ซึ่งมีทั้งสิ้น 579 แห่ง
“สหกรณ์ส่วนใหญ่แทบไม่ได้รับผลกระทบจากโควิดเลย ยกเว้นสหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบการและบริษัทต่างๆ เพราะบางบริษัทมีการเลิกจ้างหรือชะลอการจ้างงาน ทำให้รายได้สมาชิกหายไป ซึ่งเราได้ผ่อนคลายกฎหมายให้สหกรณ์พิจารณาพักชำระหนี้ให้กับสมาชิกได้ ให้เขาปรับโครงสร้างหนี้ได้ รวมทั้งให้สมาชิกลดหรืองดส่งค่าหุ้นได้ เพื่อให้สมาชิกมีเงินเหลือในช่วงที่ถูกเลิกจ้าง หรือในช่วงที่สถานประกอบการไม่จ่ายค่าจ้าง” นายพิเชษฐ์กล่าว
นายพิเชษฐ์ ยังระบุว่า เมื่อเร็วๆนี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สคล.) มีหนังสือให้กรมฯติดตามรายงานและสถานะของสหกรณ์ต่างๆทั่วประเทศ และรายงานให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม รับทราบทุกเดือน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนพ.ค.นี้ เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ณ เดือน ก.ย.2562 สหกรณ์ออมทรัพย์ทั่วประเทศมีสินทรัพย์รวมกันสูงถึง 3 ล้านล้านบาท หรือเติบโต 4.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีการปล่อยสินเชื่อให้กับสมาชิก 1.9-2 ล้านล้านบาท