นพ.สสจ.ขอนแก่น เปิดมาตรการรักษาความปลอดภัยของสถานพยาบาล และความปลอดภัยของบุคลากร หลังมีคนร้ายเข้าไปในโรงพยาบาลหมายกระทำมิดีมิร้ายต่อพยาบาล

รายงานข่าวแจ้งว่าวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 นายแพทย์สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น ประชุมหัวหน้าพยาบาลโรงพยาบาลประจำอำเภอทั้ง 26 อำเภอ ในจังหวัดขอนแก่น กำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยของสถานพยาบาล และความปลอดภัยของบุคคลากร พร้อมเปิดแถลงการณ์มาตรการรักษาความปลอดภัยของสถานพยาบาล และความปลอดภัยของบุคลากร กรณี มีคนร้ายได้เข้าไปในโรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่งของจังหวัดขอนแก่น โดยมีเจตนาที่จะเข้ากระทำมิดีมิร้ายต่อพยาบาลขณะขึ้นปฏิบัติงานเวรกลางคืน

ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้สถานพยาบาลทุกแห่ง จัดให้มีมาตรการเข้มข้นในการรักษาความปลอดภัย แก้ไขจุดเสี่ยง โดยต้องจัดให้มีการรักษาความปลอดภัยบุคลากรและเจ้าหน้าที่เป็นสำคัญที่สุด เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นอีก ได้แจ้งให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขทุกเขตสุขภาพ และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด ทบทวนมาตรการความปลอดภัยของสถานพยาบาลต่าง ๆ โดยเฉพาะโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่อยู่ห่างไกล สำรวจ จุดเสี่ยงและเร่งแก้ไข เพิ่มความปลอดภัยสร้างขวัญกำลังใจในการทำงานให้กับบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น จึงได้กำหนดมาตรการความปลอดภัยสถานพยาบาลและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ดังนี้

1. มาตรการด้านบุคลากร
1.1 จัดอัตรากำลังบุคลากรให้มีความเหมาะสมกับภาระงานและคำนึงถึงความปลอดภัยในขณะปฏิบัติงาน
1.2 จัดให้มีเจ้าหน้าที่ผู้ชายขึ้นปฏิบัติงานในช่วงเวรกลางคืนเพื่อความปลอดภัยของบุคลากรและคนไข้
1.3 จัดอบรมให้ความรู้ด้านความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัยจากวิทยากรที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง
2. มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมทั้งในหอผู้ป่วย ภายในบริเวณโรงพยาบาล และนอกโรงพยาบาล
2.1 สำรวจสิ่งแวดล้อมทั้งในตัวอาคาร ภายในและภายนอกโรงพยาบาล และปรับภูมิทัศน์ สิ่งแวดล้อมให้มีความปลอดภัย ให้สามารถมองเห็นโดยทั่วบริเวณโรงพยาบาล และเพิ่มไฟ ส่องสว่างระหว่างทางเดินและหอพักบุคลากร
2.2 สำรวจและติดตั้งกล้องวงจรปิดให้ครอบคลุมจุดสำคัญและที่เป็นจุดเสี่ยง
2.3 มีกริ่งกดสัญญาณแจ้งเตือน เมื่อมีเหตุการณ์ฉุกเฉิน ให้ จนท.จุดอื่นๆ มาช่วย (เสียงต้อง แตกต่างจากกริ่งแผนรับอุบัติเหตุหมู่)
3. ด้านการจัดระบบบริการ
3.1 จัดระบบ แนวปฏิบัติการตรวจเวรยามของสถานพยาบาลตามจุดต่างๆให้ชัดเจน
3.2 จัดทำแนวปฏิบัติการเยี่ยม เวลาการเยี่ยม การเฝ้าผู้ป่วย ติดตั้ง Intercom สื่อสารหน้าประตูหอผู้ป่วย
3.3 กำหนดเวลาการปิด เปิดประตู กำหนดทางเข้าออกโรงพยาบาล กำหนดเวลาเยี่ยมชัดเจน ปิดประตูเมื่อหมดเวลาเยี่ยม
3.4 ประสานสายตรวจตำรวจหรือผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องให้มาตรวจสถานพยาบาลและบริเวณบ้านพักในยามวิกาล
4. ด้านการสื่อสาร
4.1ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือญาติผู้ป่วยช่วยกันดูแลสอดส่องความปลอดภัยในสถานพยาบาล
4.2 ติดเบอร์โทรศัพท์สถานีตำรวจ หรือเบอร์โทรศัพท์ที่สามารถขอความช่วยเหลือได้ตามจุดสำคัญในสถานพยาบาล
4.3 ประชาสัมพันธ์ ให้ จนท.ติดตั้ง App ในมือถือ เป็น App : I LERT U
4.4 ควรจัดตั้งกลุ่มไลน์ safety ซึ่งในกลุ่มนั้นควรประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรืออาจขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่อื่นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น เจ้าพนักงานตำรวจเข้าอยู่ในไลน์ เพื่อขอความช่วยเหลือด่วนหากมีความจำเป็น
4.5 ให้หน่วยงานมีมาตรการ เก็บอุปกรณ์/สิ่งของมีคมที่อาจทำให้เป็นอาวุธ ในการทำร้าย เจ้าหน้าที่ในที่มิดชิด หรือให้อยู่ในที่ปลอดภัย
4.6 มี Flow สายตรงกับผู้บริหาร /รักษาการแทน ในการแจ้งเหตุ เพื่อความสะดวก รวดเร็วในการ แกไขสถานการณ์และการสร้างขวัญกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่
5. ด้านการวางแผนเฝ้าระวัง ป้องกัน
5.1 จัดให้มีประชุมร่วมกับหน่วยงาน ภาคี เครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันเฝ้าระวัง และกำหนดมาตรการความปลอดภัย
5.2 มีแผนและแนวทางการเผชิญเหตุความรุนแรง ใน สถานพยาบาลและมีการทบทวนแผนให้ทันต่อสถานการณ์อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
แสดงความคิดเห็น