สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด 19 ในรอบสอง ที่ได้สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก กลุ่มผู้ประกอบการที่ จ.นครราชสีมา ที่เรียกตนเองว่า กลุ่มโคราชรุ่งเรือง กว่า 50 คน ได้มีการนัดพบกันเพื่อปรึกษาหารือถึงสถานการณ์ของแต่ละคน ที่มหาวิทยาลัยวงศ์ชวลิตกุล จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 15 มกราคม ที่ผ่านมา
ทั้งนี้พวกเขามองว่า องค์กรที่เป็นทางการไม่ว่าจะเป็น หอการค้า หรือสภาอุตสาหกรรมนั้น ไม่สามารถที่จะทำหน้าที่นำเสนอแนวคิดโดยอิสระได้ เนื่องจากมีความเกรงใจราชการโดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัดฯ
ข้อเสนอของการประชุม 3 เรื่องได้แก่ ข้อแรกคือ จะไม่ขอรับการเยียวยาใดใดจากรัฐบาล เพราะรัฐบาลมีภาระมากพออยู่แล้ว โดยจะช่วยเหลือตนเองตามทรัพย์สินที่มีอยู่ แต่จะขอให้รัฐบาลออกนโยบาย ให้ธนาคารพาณิชย์หยุดเก็บเงินต้น และดอกเบี้ยเป็นเวลา 1 ปี รวมทั้งให้สถาบันการเงิน ประเภทไฟแนนซ์ หยุดเก็บเงินต้น ดอกเบี้ยเป็นเวลา 1 ปี โดยพวกเขามีสินทรัพย์อยู่กับสถาบันการเงินเป็นหลักประกันอยู่แล้ว
เงินที่จะไม่ส่งให้สถาบันการเงินจะได้เอามาใช้พยุงตัวเองในยามวิกฤต และนอกจากนี้ขอให้รัฐบาลหยุดเก็บภาษีทุกชนิดเป็นเวลา 1 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการจะได้นำเงินไปใช้ในกิจการและจ้างพนักงานต่อไปได้
ส่วนข้อเสนอต่อจังหวัดนครราชสีมา ดำเนินการนำเงินงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 334 แห่ง ที่มีปีละ 20,000 ล้านบาท ให้นำเงิน 10 เปอร์เซ็นต์มาช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในการจัดกิจกรรมต่างๆ และให้นำเงินของจังหวัดนครราชสีมาที่มีอยู่ 8,847 ล้านบาท มาพัฒนาและสร้างความเชื่อมั่นในการพัฒนาเศรษฐกิจของเมือง และขอให้รัฐบาลประกาศล็อคดาวน์ประเทศเป็นเวลา 14 วัน เมื่อครบแล้ว ให้ทำพิธีเปิดประเทศ ดีกว่า ปล่อยให้เกิดลักษณะปิดๆเปิดๆเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
“โควิด เป็นโอกาสดีของธุรกิจอาหาร ถ้าเราปรับตัวได้ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ทุกคนต้องทานอาหาร ธุรกิจร้านอาหารเอื้อกับอีกหลายๆธุรกิจ ต้องปรับตัวในรูปแบต่างๆ เช่นปรับตัวด้านการขาย การให้บริการในรูปแบบแพ็คเกจจิ้ง ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตแบบ New Nomal
สิ่งที่เราต้องการคือ การเข้าถึงข้อมูลการสื่อสารกับทางราชการ การได้รับการช่วยเหลือ สวัสดิการของพนักงาน เพราะบางร้านต้องปรับลดเงินเดือนพนักงานลงเพื่อความอยู่รอด” พันธิภา วงศ์ดี ผู้บริหารร้านบ้านย่าสเต็กเฮ้าท์ ให้ความเห็นบางช่วงที่ถูกนำเสนอ
“โคราชเรา ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างมีบิ๊กโปรเจ็ค ทั้งภาครัฐและแอกชนมูลค่าตีเป็นเงินถึงหมื่นกว่าล้านบาท ปัญหาของเราไม่ใช่ไม่มีงานทำ งานเราล้นเมือด้วยซ้ำ แต่เราขาดแคลนคน แรงงาน ผู้รับเหมาดีดีมีความรับผิดชอบมีผีมือแรงงานเป็นไปได้มั้ย
อยากให้ธุรกิจรับเหมาตั้งกลุ่มแชร์งานกัน โคราชมี 32 อำเภอ เราเลือกใช้แรงงานในท้องถิ่น เราเลือกซื้อวัสดุอุปกรณ์ท้องถิ่น ในโคราชก่อน เงินทุกบาททุกสตางค์อยู่โคราช” สุลีวัลย์ จันทร์ประทักษ์ ผู้บริหารบจก.ชาญ– สุ คอนสตรัคชั่น
“ส่วนราชการไม่ได้ช่วยอะไรจริงจัง จัดกิจกรรมอะไรก็เอาป้ายมาวาง ถ่ายรูปหมู่เสร็จแล้วก็กลับ ธงฟ้าของพาณิชย์ฯเหมือนกัน ทำแบบผักชีโรยหน้า เอาน้ำตาลทราย เอาน้ำมันพืชมาวาง เอานักดนตรีมาเล่น
พอพาณิชย์ฯกลับนักดนตรีก็กลับด้วย ทั้งที่งานยังไม่เลิกด้วยซ้ำ แต่โครงการคนละครึ่งดีอันนี้ได้ผล ต้องชมเชยรัฐบาล แต่คนได้รับสิทธิ์ก็น้อยเสียเหลือเกิน อยากให้เพิ่มโครงการนี้อีกมันได้ผล เกิดการใช้จ่ายจริง” อภิเชษฐ์ สินติเศรษฐลิน ผู้บริหารตลาด 100 ปีโคราช
“ธุรกิจอีเว้นท์ ออเกไนซ์เซชั่น อยู่ในช่วงขาขึ้นค่ะ ขึ้นมาก่ายอยู่บนหน้าผากแล้ว แต่งงานหนึ่งคนใช้เงิน สามแสนบาทที่ผ่านมาโคราชแต่งงานปีละ 10,741 คน ตีเป็นมูลค่า 3,222 ล้านบาท กระทบผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง กว่า 10 สาขาอาชีพ เจ้าของธุรกิจต้องทนแบกลูกน้องอีกเท่าไหร่” สุภาวรรณ สองเมือง ผู้ประกอบการธุรกิจอีเว้นออเกไนซ์เซชั่น
ธุรกิจบันเทิงในโคราช มีผู้ประกอบการมากที่สุดในประเทศไทย วงอิเล็คโทน มีประมาณ 300 กว่าวง ที่ถูกยกเลิกงานแต่ข้อมูลที่น่าสนใจยิ่งคือ วงดนตรีดังๆ สามารถทำเงินให้คนโคราชอย่างมาก เช่น วงมหาหิงส์ วงวาสนา วงราชสีมาดาราพันธ์ วงเหล่านี้โด่งดังระดับประเทศ สามารถกอบโกยเงินเข้าสู่โคราชได้เดือนละหลายล้านบาท แต่ก็ต้องถูกถอนงาน ยกเลิกงานทั้งหมด” กำปั่น บ้านแท่น ศิลปินแห่งชาติ
“ใครมาโคราชก็ต้องมาไหว้ย่าโม จอดรถ 10 นาทีซื้อพวงมาลัย 10 บาทก็ขับรถออกจากเมืองโคราชไป อยากให้เขาอยู่นาน ๆ มีที่จอดรถให้เขามั้ย ? ครับ รอบอนุสาวรีย์ย่าโม สามารถเดินรอบได้เป็นชั่วโมง แต่ไม่มีอะไรให้เขาดู โจทย์คือ ทำอย่างไรให้เขาอยู่โคราชนานใช้เงินมากกว่า 10 บาท”ชัยวัฒน์ วงศ์เบญจรัตน์ ผู้บริหารนครชัยทัวร์
“โคราชเป็นไปได้มั้ย เรามาสร้างพื้นที่เซฟโซน แล้วเรานำกิจกรรมต่างๆมาทำด้วยกัน ส่วนราชการต้องลดขั้นตอนการทำงานลง หนังสือเร่งด่วนต้องแจ้งเพื่อทราบ ไม่ใช่ขออนุมัติ หากเรายังรอส่วนราชการก็ไม่ต้องทำมาหากินอะไรแล้ว นโยบายขณะนี้ผมเห็นแต่ควบคุมและป้องกัน
ยังไม่ได้ยินเสียงเลยว่า จะมีการช่วยเหลือหรือส่งเสริมธุรกิจกันยังไง ก็เห็นใจอยู่ครับว่าทำได้แค่ควบคุมและป้องกัน หากทำไม่ได้แล้ว ผู้ว่าฯ สาธารณสุขต้องย้าย” ผดุง จตุรภักดิ์ ประธานมูลนิธินักข่าวโคราช
เมื่อมีนำเสนอแนวคิดและความรู้สึกผ่านสื่อโซเชียลมีเดียออกมา ได้รับการตอบรับจากชาวโคราชอย่างมาก จึงได้ทำให้ นายวิเชียร วัชรโรทัย ผวจ.นครราชสีมาได้ทำหนังสือแจ้งไปยังแกนนำกลุ่มเพื่อให้ส่งผู้แทนจำนวน 5 คนไปพบเพื่อปรึกษาหารือ
ในวันพุธที่ 20 มกราคม 2563 เวลา 10.00 น.ที่ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งคงจะต้องรอติดตามว่า การพูดคุยนั้นจะมีผลสรุปอออกมาเช่นใด ?
…………………………