การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นำทีมผู้ประกอบการในภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือจับคู่การขายกับผู้ประกอบการภูมิภาคภาคตะวันออก และพบปะเสนอขายสินค้าและเส้นทางการท่องเที่ยวกับภูมิภาคต่าง ๆ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2564 ภายใต้ชื่อตอน “หมอลำ & คาบาเร่ต์” @ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยรักษาแนวทางรูปแบบเที่ยววิถีใหม่สไตล์ New normal เพื่อสร้างมาตรฐานการท่องเที่ยวยุคใหม่และกระตุ้นการขายภายในประเทศให้กลับมาคึกคัก
วันที่ 26 ก.พ. 64 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ขอนแก่น ททท. โดยภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้จัดงานส่งเสริมการขายภายในภูมิภาคและข้ามภูมิภาค (Business Networking) ในรูปแบบ On Ground และ Online ในวันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 ณ จังหวัดขอนแก่น โดยนำผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคต่าง ๆ จำนวนกว่า 100 ราย พบปะนำเสนอขายและแลกเปลี่ยนสินค้าทางการท่องเที่ยวและเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ๆกันในลักษณะการเจรจาธุรกิจรูปแบบ B to B (Business to Business) และ B to C (Business to Consumer) ซึ่งได้เสนอขายผ่านช่องทาง Online โดยการถ่ายทอดสด (Live) ด้วยระบบ Zoom (Meeting id: 686 723 6737 passcode 1234) ผ่านทางเฟสบุ๊ค เที่ยวอีสาน.com และ Facebook เครือข่าย อาทิ เพจ Facebook ททท.สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้ง 8 สำนักงาน และเพจของสื่อมวลชนที่เข้าร่วมงาน ซึ่งนับเป็นการเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการที่สนใจจากทั่วประเทศได้เข้าร่วมรับฟังและซื้อขายได้อย่างทั่วถึงจากช่องทางออนไลน์
ทั้งนี้ ภายในงานจะมีการแถลงเปิดตัวแคมเปญโครงการของ ททท. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในปี 2564 ที่มีความสดใหม่และน่าสนใจด้วยการนำแพลตฟอร์มดิจิทัลมาใช้เพื่อรองรับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวยุคใหม่ ทั้งนี้ ททท.ได้ร่วมมือกับเพจ Sneak Out จัดโครงการ “เที่ยวตัวปลิว ชิลอีสาน” เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของนักท่องเที่ยวแบบเฉพาะกลุ่ม โดยการนำเสนอข้อมูลท่องเที่ยว รูปภาพ และวิดีโอผ่านสื่อออนไลน์ การจัดกิจกรรมพิเศษเพื่อสร้างการรับรู้มุมมองท่องเที่ยวใหม่ๆของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และการสตรีมมิ่งเสนอขายที่พักราคาพิเศษเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของนักท่องเที่ยวที่แตกต่าง นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับแอปพลิเคชั่น UTU จัดกิจกรรม “เที่ยวอีสานวันธรรมดา #COOLคักมักอีหลี” เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วง
วันธรรมดาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจะเจาะกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวยุคใหม่ โดยเฉพาะกลุ่ม Bleisure ที่สามารถทำงานในขณะที่เดินทางท่องเที่ยวไปด้วย โดยแอปพลิเคชัน UTU จะมอบสิทธิประโยชน์เมื่อใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและเดบิตเมื่อซื้อสินค้าและบริการในช่วงวันธรรมดาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งได้รวบรวมร้านค้าหลากหลายรูปแบบ รวมทั้งบริการและโปรโมชั่นต่าง ๆเป็นช่องทางอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวในการซื้อสินค้าและบริการที่พักเพิ่มมากขึ้น ก่อให้เกิดการใช้จ่าย กระจายรายได้สู่ชุมชน และท้องถิ่น และสามารถตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี
นายสมชาย ชมภูน้อย ผู้อำนวยการภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ททท. ได้ให้ข่าวว่า กิจกรรมส่งเสริมการขายการท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทย จัดขึ้นภายใต้ชื่อ งานส่งเสริมการขายการท่องเที่ยว Amazing อีสาน ไตรมาส 2 ใช้ชื่อตอน “หมอลำ & คาบาเร่ต์” @ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่ง ททท.ภาคอีสาน กำหนดจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายลักษณะนี้ขึ้นจำนวน 4 ครั้ง ในทั้ง 4 ไตรมาสของปีงบประมาณ 2564 ในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆทั่วภาคอีสาน และเชื่อมโยงการขายกับภูมิภาคอื่นๆ โดยการจัดงานส่งเสริมการขายในไตรมาสที่ 1 ณ จังหวัดอุดรในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วม สำหรับการจัดกิจกรรมครั้งนี้จะเน้นการเชื่อมโยงการส่งเสริมขายระหว่าง “ภาคอีสานกับภาคตะวันออก” ซึ่งมีสินค้าทางการท่องเที่ยวที่ได้รับความสนใจและตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายของทั้งสองภูมิภาค ถือเป็นการต่อยอดการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของแต่ละภูมิภาคให้คึกคักมากยิ่งขึ้น ตามแคมเปญการท่องเที่ยวใหม่ของ ททท. “ออกไปช่วยเมืองไทย ออกไปเที่ยวเมืองไทย”
ซึ่งในครั้งนี้จะมีผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ร่วมเจรจาซื้อขายจากภาคอีสานและภาคต่าง ๆ รวมทั้งสมาพันธ์,สมาคมด้านการท่องเที่ยวต่าง ๆ กว่า 100 ราย และคาดว่าจะมีผู้ร่วมกิจกรรม Online ไม่ต่ำกว่า 300,000 คน โดย ททท. มีความมุ่งหมายที่จะกระตุ้นตลาดในประเทศให้กลับมาคึกคัก ส่งเสริมบรรยากาศทางการท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวมีความมั่นใจและอยากเดินทาง ควบคู่กับการสร้างความเชื่อมั่นแก่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมมาตรฐาน SHA และการท่องเที่ยววิถีใหม่สไตล์ New Normal ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ กระจายรายได้ และสร้างความเชื่อมั่นแก่การนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่มุ่งฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้กลับมาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ