‘ราชมงคล ขอนแก่น’ลุยต่อ!!ปั้นบัณฑิตพรีเมี่ยม ‘อุตสาหกรรมระบบราง’หนุนร้อยแก่นสารสินธุ์ Railway innopolis

ราชมงคล ขอนแก่น ระดม คณาจารย์นักวิจัย จัดอบรมวิชาชีพด้านอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางราง ดันโครงการร้อยแก่นสารสินธุ์ Railway innopolis 

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น (เทคนิคไทย-เยอรมัน ขอนแก่น) สถาบันการศึกษาชั้นนำด้านวิศวกรรมศาสตร์ ครูช่างอุตสาหกรรม ที่ได้จับมือ จังหวัดขอนแก่น  และกองกับการกองบำรุงทางเขตขอนแก่น การรถไฟแห่งประเทศไทย จัดโครงการฝึกอบรมวิชาชีพ ด้านอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางราง ด้านวิชาชีพงานทางรถไฟ 31 สิงหาคม – 8 กันยายน 2564 ได้รับความสนใจ มีผู้เข้าร่วมอบรมกว่า 400 คน

อาจารย์ ดร.ศุภฤกษ์ ชามงคลประดิษฐ์ รักษาราชการแทนคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น เปิดเผยว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาเขตขอนแก่น นั้น เป็นคณะกรรมการบริหารงานกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.ก.) กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง มีการประชุมและจัดทำแผนงานอย่างต่อเนื่อง และผลักดัน โครงการร้อยแก่นสารสินธุ์ Railway Innopolis ให้เป็นส่วนสำคัญของการพัฒนากลุ่มจังหวัด ฯ

มีการดำเนินงานมาตลอดเวลาหลายด้าน โดย มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ในส่วนภาระกิจการ วิจัย การส่งคณาจารย์ฝึกอบรมในสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านระบบราง การศึกษาดูงาน และการจัดหลักสูตรการเรียนการสอน ด้านระบบราง ทำให้ ในวันนี้ แม้จะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด- 19 แต่การดำเนินงานยังคงขับเคลื่อนต่อไป ในรูปแบบการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการผ่านระบบ Online Onsite และลงหน้างานจริงภายใต้มาตรการการเฝ้าระวังเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

ผศ.ดร.อภิชิต คำภาหล้า หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ผู้ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดโครงการฯ เปิดเผยว่า โครงการฯ ได้รับความสนใจเข้าร่วมอบรมเกินจำนวนที่คาดหวัง คณะทำงานได้ประชุมและวางกรอบแนวทางหัวข้อฝึกอบรมที่เป็นวัตถุประสงค์หลัก เรื่อง Civil Work และความรู้พื้นฐานด้านโบกี้รถไฟและระบบเบรกรถไฟ ซึ่งนำมาขยายผลสู่การจัดหัวข้ออบรมและจัดกิจกรรมย่อย ดังนี้ การออกแบบวัสดุทางรถไฟเพื่อการก่อสร้างชั้นทางรถไฟ การซ่อมบำรุงทางรถไฟ เทคนิคการซ่อมบำรุงทางรถไฟ เทคนิคการเชื่อมและตรวจสอบรางรถไฟชนิด Aluminothermit Welding การออกแบบโครงสร้างชั้นทางรถไฟระดับดิน (Civil Work) และโครงสร้างทางรถไฟ (Track Work) ของรถไฟทางคู่ การควบคุมการก่อสร้างโครงสร้างชั้นทางรถไฟระดับดิน รวมไปถึงการออกแบบ การผลิต และการทดสอบหมอนรถไฟคอนกรีตอัดแรง  โดยได้รับความอนุเคราะห์ วิทยากรผู้มากประสบการณ์จาก การรถไฟแห่งประเทศไทย บริษัท ทีเอ็นจี โคออพเพอเรชั่น จำกัด  บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด และคณาจารย์จาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ เช่น ผศ.ดร.อภิชิต คำภาหล้า สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา ผู้ที่ได้ไปฝั่งตัวร่วมงานกับโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ และกลุ่มงานออกแบบรถไฟความเร็วสูง หัวข้อความรู้พื้นฐานด้านโบกี้รถไฟ และพื้นฐานการออกแบบโบกี้รถไฟ ความรู้พื้นฐานการออกแบบระบบเบรกรถไฟ และปฏิบัติการ การซ่อมบำรุง ได้แก่ วิทยากร จากคณาจารย์ สาขาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่ได้ไปฝั่งตัวที่ ประเทศจีน ได้แก่ อาจารย์ ดร.ชัชรินทร์ ศักดิ์กำปัง อาจารย์ ดร.ภาณุพิชญ์ ขืนเขียว  อาจารย์เขมวัตร อินทรวิเศษ อาจารย์ ดร.พิศาล มูลอำคา อาจารย์ ดร.ทศพล แจ้งน้อย และหัวข้ออบรมการออกแบบหมอนรถไฟคอนกรีตอัดแรง คณาจารย์ วิทยากรได้แก่ อาจารย์จารุวัฒน์ ถาวรไพศาลชีวะ ผศ.ดร.อัศนัย ทาเภา และบริษัทเทพประทานพรวัสดุภัณฑ์  ความสำคัญของการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการนั้น เป็นความท้าทายที่ เราดำเนินการผ่านการ Live สด การอัดคลิป VDO สอน การอนุญาต ให้เข้าร่วมในพื้นที่จริงหน้างานแบบจำกัดตามมาตรการ

การอบรมครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้เข้ารับการอบรมและคณาจารย์นักวิจัย มทร.อีสาน บริษัท ผู้มากประสบการณ์ ในด้านระบบราง คณะทำงานได้ตรวจสอบสถิติแล้วชื่นใจหายเหนื่อยมากเพราะจำนวนคนที่ลงทะเบียนประมาณ 400 คนนั้นแต่ละท่านสละเวลาเข้าร่วมกิจกรรมเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น หน่วยงานของรัฐบาล บริษัทเอกชน นักศึกษา บุคคลทั่วไป นั้นแสดงให้เห็นว่า มทร.อีสาน เราพร้อมสนับสนุนและผลักดันให้จังหวัดขอนแก่น เป็นผู้นำอุตสาหกรรมระบบรางตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติไทยต่อไป

แสดงความคิดเห็น