ChatGPT แชตบอท AI ที่เหมือนมนุษย์มาก!! อาจทำให้คนตกงาน! หรือมีผลกระทบเชิงโครงสร้าง Google บริษัทยักษ์ใหญ่ยังตื่นตัว
หากย้อนกลับไป 12 ปีที่แล้ว คงจะไม่มีใครไม่รู้จัก SimSimi แชตบอตสุดฮิตที่เป็นกระแสอยู่พักหนึ่ง ก่อนที่จะมีแชตบอตปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) สุดอัจฉริยะถามอะไรตอบได้อย่าง ‘ChatGPT’ ที่ถูกปล่อยออกมาในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา จนเป็นที่พูดถึงกันอยู่ในขณะนี้ ที่จะมาดึงความสนใจคนจำนวนมากเข้าสู่อุตสาหกรรม ‘Generative AI’ ซึ่งเป็นการให้ระบบคอมพิวเตอร์สร้างข้อความ ภาพ วิดีโอ และมีเดียรูปแบบอื่นๆ อัตโนมัติ โดยใช้จุดเด่นของปัญญาประดิษฐ์ ไปจนถึงการเรียนรู้ด้วยตัวเองของโปรแกรม (Machine Learning)
โดยแชตบอตดังกล่าวจะสามารถหาคำตอบให้กับเราได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะมีข้อสงสัยเรื่องอะไร มันจะใช้ระบบ ‘AI’ ไปรวบรวมข้อมูลจากทุกที่ในโลกมาประมวลผลเป็นคำตอบให้กับเรา หรือแม้กระทั่งการเขียนสคริปต์การเรียนการสอน ที่อาจใช้เวลาเตรียมข้อมูลเป็นชั่วโมง แต่ ‘ChatGPT’ ก็จะไปรวบรวมข้อมูลมาเป็นคำอธิบายแสนง่ายให้คุณได้ภายในเวลาเพียงไม่นาน
‘ChatGPT’ เป็นรูปแบบหนึ่งของ GPT-3.5 Language Generation Software ซึ่งเป็นโปรเจกต์ภายใต้องค์กรปัญญาประดิษฐ์อย่าง ‘OpenAI’ องค์กรที่พัฒนางานวิจัยเกี่ยวกับด้านปัญญาประดิษฐ์ โดยถูกออกแบบมาเพื่อสร้างบทสนทนากับผู้คน ใน ChatGPT นั้นมีฟีเจอร์ต่างๆ เช่น การตอบคำถามที่ถูกถาม การตรวจสอบหลักฐานที่ผิด หรือแม้แต่การยอมรับของตัวระบบเองว่าผิดพลาด เป็นต้น
ย้อนดูจุดกำเนิด ‘ChatGPT’
ก่อน ‘ChatGPT’ จะถูกปล่อยออกมานั้น ระบบบอตได้ถูกนำไปฝึกด้วยข้อมูลในรูปแบบ ‘ข้อความ’ จำนวนมหาศาล ระบบได้ถูกฝึกจนสามารถตรวจจับรูปแบบการเขียน เพื่อพัฒนาออกมาในรูปแบบของตัวเอง อย่างไรก็ตาม ทาง OpenAI ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลว่าใช้ข้อมูลใดบ้าง หากแต่บอกเพียงแค่ว่าใช้ข้อมูลจากหนังสือที่เก็บมา และ Wikipedia
ซึ่งในปี 2015 ‘OpenAI’ เกิดขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายที่จะนำระบบ AI มาใช้ให้เป็นประโยชน์กับมนุษย์ในรูปแบบที่ง่ายต่อการใช้งานมากที่สุด โดย แซม อัลท์แมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร OpenAI และอดีตประธานกรรมการ VC ชื่อดังอย่าง Y Combinator นอกจากนี้ ‘OpenAI’ ยังมีผู้ร่วมก่อตั้งเป็นบิ๊กเนมอย่าง อีลอน มัสก์ แห่ง Tesla และ SpaceX (ก่อนที่จะลาออกจากการเป็นกรรมการในปี 2018 แต่ยังคงสถานะการบริจาคสนับสนุนองค์กรอยู่) และคนอื่นๆ รวมเงินก่อตั้งสูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 3.5 หมื่นล้านบาทในช่วงแรก และในภายหลังก็มีผู้สนับสนุนอย่าง รีด ฮอฟฟ์แมน ผู้ร่วมก่อตั้ง LinkedIn หรือแม่แต่ ปีเตอร์ ธีล ผู้ร่วมก่อตั้ง Paypal และอีกหลายคน เข้ามาเพิ่มเติม
การตอบรับของวงการเทคโนโลยี
ในช่วงไม่กี่วันหลัง ‘ChatGPT’ ถูกปล่อยออกไป ผู้ประกอบการในวงการเทคโนโลยีต่างก็ตื่นเต้นกับแชตบอตสุดอัจฉริยะดังกล่าวเป็นอย่างมาก จนมีการพูดถึงในทวิตเตอร์อย่างแพร่หลาย ในบางรายก็ได้กล่าวว่า การเปิดตัวของ ‘ChatGPT’ นั้นเทียบเท่ากับการเปิดตัว iPhone ของ Apple ในช่วงปี 2007 เลยทีเดียว ซึ่งทางแซมก็ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว ภายหลังการเปิดตัวของแชตบอตดังกล่าว 5 วัน ว่า “ChatGPT มีผู้ใช้งานทะลุ 1 ล้านรายแล้ว”
หากมองในอุตสาหกรรมแชตบอต จะเห็นได้ว่า ‘ChatGPT’ ไม่ใช่เจ้าแรกเจ้าเดียวที่ทำแชตบอตออกมา โดยบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Apple ก็ยังมี ‘Siri’ ขณะที่ฝั่ง Google ก็มี ‘Google Assistant’ และทาง Amazon ก็มี ‘Alexa’ อยู่ในขณะนี้ และจะเห็นได้ว่ามนุษย์เราต่างตื่นเต้นกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่จะสามารถมีความฉลาดเพียงพอที่จะคุยกับเราได้ ซึ่งก็เคยมีกระแสในช่วงปี 2010 อย่าง SimSimi ที่เป็นแอปพลิเคชันการแชตกับหุ่นยนต์ แต่ท้ายที่สุดแล้วแชตบอตเหล่านี้แม้จะพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ตอบได้เพียงคำถามพื้นฐานเท่านั้น
แต่การเกิดขึ้นของ ‘ChatGPT’ นั้นต่างออกไป เพราะระบบของแชตดังกล่าวสามารถตอบคำถามได้ในรูปแบบที่แตกต่าง ลักษณะเดียวกับภาษาธรรมชาติที่มนุษย์คุยกัน ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีด้านแชตบอตกำลังเข้าสู่การพัฒนาอีกระยะหนึ่งเป็นที่เรียบร้อย
ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา นักลงทุนและผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีพากันใส่เม็ดเงินลงทุนรวมกันแล้วหลายพันล้านดอลลาร์ในอุตสาหกรรม ‘Generative AI’ ซึ่งเป็นการให้ระบบคอมพิวเตอร์สร้างข้อความ ภาพ วิดีโอ และมีเดียรูปแบบอื่นๆ อัตโนมัติ โดยใช้จุดเด่นของปัญญาประดิษฐ์ ไปจนถึงการเรียนรู้ด้วยตัวเองของโปรแกรม (Machine Learning)
โดยนักวิเคราะห์จากบริษัทด้านข้อมูล PitchBook ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่า นักลงทุนในสตาร์ทอัพจำนวนมากได้เปลี่ยนความสนใจจากกระแสอย่าง Web 3.0 หรือคริปโตเคอร์เรนซี มายัง ‘Generative AI’ กันเป็นจำนวนมาก
คริชนา เจด ประธานบริหารของ Fiddler บริษัทด้าน AI ก็ได้กล่าวไปถึงว่า การมาของ ChatGPT นั้นอาจส่งผลกระทบไปถึงขั้นดิสรัปต์วงการ ‘เสิร์ชเอนจิน’ ที่เคยมีผู้นำรายใหญ่อย่าง Google ได้เลยทีเดียว
ทั้งนี้ เจดเคยทำงานให้กับ Microsoft ในหน่วยธุรกิจอย่าง Bing ซึ่งเป็น ‘เสิร์ชเอนจิน’ เช่นเดียวกัน มองว่าหากกระแสการใช้งานของ ChatGPT เติบโตเรื่อยๆ นั้น Google อาจจะต้องพัฒนาเครื่องมือแบบแชตบอตออกมาเพื่อตอบคำถามผู้คน
แต่ถึงอย่างนั้นเอง ด้วยความที่ระบบของ ChatGPT นั้นกำลังเรียนรู้และอยู่ในช่วงต้น ก็อาจจะมีข้อมูลที่ผิดพลาดที่อาจจะยังไม่สมบูรณ์ได้เช่นกัน จนทำให้ผู้ใช้จำนวนมากก็ยังต้องไปตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลใน Google ต่ออยู่ดี
ผลกระทบต่ออาชีพต่างๆ
แน่นอนว่าการทำงานในรูปแบบงานเขียนที่มนุษย์เคยคิดว่าเป็นงานสร้างสรรค์และมีการนำอารมณ์มาใช้ ซึ่งมีเพียงแต่มนุษย์เท่านั้นที่ทำได้ อาจไม่จริงอีกต่อไปแล้วก็เป็นได้ เนื่องจากเราสามารถให้แชตบอตอย่าง ChatGPT ไปเรียนรู้รูปแบบการเขียนที่ผู้เขียนสนใจ แล้วนำมาสร้างบทความหรืองานเขียนในสไตล์หนึ่งๆ ออกมาได้เช่นกัน
สายงานแปลภาษาที่เดิมต้องใช้ทักษะในการตีความและความเข้าใจในวัฒนธรรมของประเทศเจ้าของภาษานั้นๆ เพื่อตีความหมายให้ได้ตรงกับจุดประสงค์ของผู้พูดและผู้ฟังมากที่สุด การมาของ ChatGPT นั้นมีความเป็นไปได้ที่จะสามารถเข้ามาเป็นตัวกลางในการแปลภาษาระหว่างผู้รับสารและผู้ส่งสารได้อย่างตรงความหมาย
หรือในสายงานโปรแกรมเมอร์ งานฮอตฮิตแห่งยุคที่ใครๆ ต่างก็สนใจ ประกอบกับการเป็นกระแสในเรื่อง Low Code / No Code อยู่ในขณะนี้ ที่เป็นแพลตฟอร์มหรือเครื่องมือที่จะเข้ามาช่วยให้คนที่ไม่มีพื้นฐานด้านการโปรแกรมมิ่งสามารถเขียนโค้ดได้โดยการเขียนโค้ดน้อยที่สุด ซึ่งในระยะเริ่มต้นนี้ (เวอร์ชันเบต้า) ChatGPT ก็สามารถรับคำสั่งในการเขียนโค้ดพื้นฐานได้แล้ว และหากมีเวอร์ชันต่อไปออกมาก็มีความเป็นไปได้ที่จะเข้ามาช่วยในการพัฒนาเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันให้ทั้งผู้ที่เป็นโปรแกรมเมอร์หรือผู้ที่ไม่ใช่โปรแกรมเมอร์ได้เช่นกัน
ประเด็นนี้นำไปสู่การวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญบางรายที่มองว่า ChatGPT นั้นอาจพัฒนาไปถึงจุดที่มาแทนที่โปรแกรมเมอร์มือใหม่ได้เลยทีเดียว
วงการการเรียนการสอนถือได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงช้าที่สุด และยังคงใช้รูปแบบที่เคยเป็นมานานหลายร้อยปี การมาของ ChatGPT อาจมาเปลี่ยนวงการ โดยจะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถถามสิ่งที่ตนเองสงสัยและอยากรู้ได้ทันที หรือกระทั่งการพัฒนาที่ใช้ AI ออกแบบรูปแบบหลักสูตรการเรียนใหม่ในรูปแบบทั้งภาพ, ข้อความ และวิดีโอ เพื่อสร้างคำอธิบายที่ดีที่สุดให้แก่ตัวผู้เรียน
หรือในสายงานอย่างนักวิเคราะห์ข้อมูล ที่แต่เดิมผู้ที่ทำงานในสายงานดังกล่าวต้องมีการดึงข้อมูลที่ต้องการมาวิเคราะห์ แล้วนำไปใช้ต่อตามจุดประสงค์ต่างๆ แต่ขณะนี้ ChatGPT ก็สามารถไปดึงข้อมูลมหาศาลมาประมวลผลและตอบคำถามประเภทเจาะจงได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ จนในระยะต่อไปมีการตั้งข้อสงสัยว่า ผู้ทำงานในฐานะนักวิเคราะห์ข้อมูลอาจถูกแย่งงานไปหรือไม่
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ChatGPT หรือ AI ใดๆ ที่จะพัฒนาออกมาหลังจากนี้ อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการหายไปในบางสายงาน โดยเฉพาะงานที่ไม่ต้องใช้ทักษะในการตั้งคำถามหรือการตัดสินใจเบื้องต้น
อย่างไรก็ตาม ChatGPT จะมาแย่งงานมนุษย์ไปทั้งหมดหรือไม่นั้นก็ยังคงเร็วไปที่จะปักความคิดหรือคำตอบเช่นนั้น เนื่องจากงานในบางรูปแบบก็ยังต้องอาศัยการคิดและตัดสินใจต่อของมนุษย์อยู่เช่นเดิม ทั้งนี้ หาก ChatGPT หรือ AI อื่นๆ ไม่ได้ถูกตั้งคำถามที่ดีโดยมนุษย์อย่างเรานั้น คำตอบที่ดีก็อาจไม่ได้ถูกสร้างออกมาก็เป็นได้
แต่ถึงอย่างนั้น ในวิกฤตย่อมมีโอกาส ซึ่งเหตุการณ์นี้ก็เช่นกัน การหายไปของบางสายงานอาจเป็นการเพิ่มของบางสายงานเช่นกัน เช่น ผู้พัฒนา AI, นักพัฒนา Machine Learning, สายงานด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ หรือผู้ที่นำข้อมูลจาก AI ไปต่อยอดอีกต่อหนึ่ง
โดย ChatGPT นั้นจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับผู้ทำงานในการจุดประกายไอเดียหรือการรวบรวมข้อมูลประเภทข้อเท็จจริงให้แก่เราได้ แต่การคิดเชิงสร้างสรรค์นั้นก็อาจเป็นจุดที่ศักยภาพของ AI ยังไปไม่ถึงในตอนนี้
หากแต่ด้วยอัตราการพัฒนาของ AI ใน 5-10 ปีข้างหน้า ก็คงไม่มีใครรู้ว่าจะไปได้ไกลแค่ไหน ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งเราก็ได้เพียงแต่เตรียมการและพัฒนาไปอยู่ในจุดที่ AI (อาจจะ) ยังไม่สามารถทำได้
อ้างอิง:
- https://www.cnbc.com/2022/12/13/chatgpt-is-a-new-ai-chatbot-that-can-answer-questions-and-write-essays.html
- https://en.m.wikipedia.org/wiki/Sam_Altman
- https://en.m.wikipedia.org/wiki/OpenAI
- https://www.nytimes.com/2022/12/06/opinion/chatgpt-ai-skilled-jobs-automation.html
- https://catlintucker.com/2022/12/chatgpt-disruptive-tech/