หมอยาแจงติดหล่มข้อมมูลฝรั่งออกกฎหมายผลักกัญชาเข้าพืชเสพติดให้โทษ เงื่อนไขสำคัญแช่แข็ง การพัฒนากัญชาทางการแพทย์ เร่งปลดล็อคพัฒนาข้อมูลสื่อสารสังคมยอมรับ จับมือภาครัฐดันอีสาน แหล่งผลิตกัญชาส่งขายตลาดยาโลก
ในห่วงเวลาที่กระแสโลกตีกลับชุดข้อมูลเกี่ยวกับ “กัญชา” ว่าแท้ที่จริงแล้วเป็นพืชสมุนไพรทางเลือก หรือยาเสพติด ได้สร้างความสับสนในสังคมไม่มากก็น้อย ว่าเราได้ทอดทิ้งภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ และหันไปพึ่งยาตะวันตกเพียงอย่างเดียวหรือไม่
ทั้งที่ภาคอีสานที่เป็นแหล่งปลูกกัญชาที่ทั่วโลกให้การยอมรับว่า มีคุณภาพสูงและหลังจากการออก พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษในปี พ.ศ. 2522 ระบุถึงข้อจำกัดในการปลูก ผลิต ครอบครอง และใช้กัญชา ของรัฐบาลในขณะนั้น ส่งผลถึงการพัฒนากัญชาทางการแพทย์ ที่มีผลผูกผันต่อการพัฒนา กัญชาทางการแพทย์ในปัจจุบันด้วย
ทว่าวิทยาการทางการแพทย์ของไทยและนานาชาติที่มีเพิ่มมากขึ้น ได้พิสูจณ์ในเชิงประจักษ์ว่า “กัญชา” มีสรรพคุณเป็นยา หลายหน่วยงานจึงได้กลับมาทบทวนถึงการใช้ประโยชน์จากการสกัดกัญชา
เช่นเดียวกันคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านเภสัชศาสตร์ จัดงานเสวนาเรื่อง “การเตรียมพร้อม ในการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างถูกกฎหมาย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วย” โดยมี รศ.ดร.ภก.ไพบูลย์ ดาวสดใส คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานเปิดงาน
มีผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมเวทีเสวนา ประกอบด้วย นายแพทย์ อิสระ เจียวิริยบุญญา ผู้อํานวยการโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ ผู้อํานวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย ศ.ดร.ภญ.บังอร ศรีพานิชกุลชัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ภญ.วีรยา ถาอุปซิต สํานักงานสาธารณสุขขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมผู้เข้าร่วมกว่า 100 คน ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 อาคาร 1 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
โดยการจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความคิดเห็นเรื่องสถานการณ์ปัญหาในการนํากัญชามา ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ การศึกษาวิจัยในมนุษย์เพื่อความมั่นคงด้านยาและฟื้นฟูภูมิปัญญา การแพทย์แผนไทย ตลอดจนเป็นการเตรียมรับมือของผู้เกี่ยวข้อง เมื่อผู้ออกกฎหมายเปิดให้ใช้ประโยชน์กัญชา ทางการแพทย์ จึงเตรียมจัดทําข้อเสนอแก้ไขเพิ่มเติม ร่างพระราชบัญญัติยาเสพติด
ติดหล่มข้อมูลฝรั่ง
รศ.ดร.ภก.ไพบูลย์ ดาวสดใส คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึง ประวัติศาสตร์ประเทศไทยในอดีตมีการใช้กัญชาที่ถูกต้องทางการแพทย์แต่ด้วยกระแสของต่างประเทศฝั่ง ตะวันตกที่มีความน่าเชื่อถือมากกว่า กัญชาจึงถูกเข้าใจว่ามีฤทธิ์เป็นสารเสพติด กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ประกอบกับการที่ประเทศไทยมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ไม่เพียงพอทำให้ความรู้และการวิจัยเกี่ยวกับกัญชา ของไทย ขาดหายไปในช่วงนั้น
แต่ปัจจุบันมีหลักฐานทางการแพทย์ว่า กัญชาสามารถรักษาโรคได้ เช่น โรคมะเร็ง ทั้งนี้พระราชบัญญัติสมุนไพรเริ่มมีการพัฒนาเห็นความสำคัญของสมุนไพรอันเป็นวัตถุดิบของประเทศชาติ จึงเป็นโอกาสดีที่จะนำทรัพย์สินทางปัญญามาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยการเป็นผู้ผลิตมือหนึ่ง อย่างไรก็ตามยาทุกตำรับ ไม่ว่าจะเป็นสมุนไพรหรืออื่นๆ มีทั้งประโยชน์และโทษ ขึ้นอยู่กับว่ามนุษย์จะนำประโยชน์มาใช้และควบคุมโทษได้อย่างไร
“หากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีโอกาสร่วมสนับสนุนในด้านไหนก็ตาม เรายินดีสนับสนุนอย่างเต็มที่ และขอเป็นกำลังใจให้กับทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง นายแพทย์ อิสระ เจียวิริยบุญญา ผู้อํานวยการโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี กล่าวว่า เนื่องจากรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วยกัญชามา 10 กว่าปี พบว่าได้ผลดีเป็นอย่างมาก ตลอดระยะเวลา 3 ปี ได้พยายามดำเนินการขออนุญาต สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเพื่อที่จะให้กัญชาสามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์ได้ โดยดำเนินการขออนุญาต ตั้งแต่กระบวนการผลิต จนถึงกระบวนการนำมาสกัดใช้” คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ กล่าวและว่า
แต่ก็พบกับอุปสรรคหลายด้าน เนื่องจากยังขัดกับวัฒนธรรมการดำเนินชีวิตในสังคม รวมทั้งด้านกฎหมาย อย่างไรก็ตามหากกัญชาได้กำหนดให้ถูกกฎหมาย ประเทศไทยควรเก็บข้อมูลการใช้กัญชาอย่างจริงจังในประเทศ เพื่อการทำผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำมาใช้กับคนไข้ และในทางการแพทย์ได้อย่างกว้างขวาง
“กัญชา” สมุนไพรในตำรับยาไทย
นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ ผู้อํานวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย เผยว่า จากการศึกษาตำรายาแผนไทยแห่งชาติพบยาที่เข้ากัญชากว่า 96 ตำรับ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่มีการใช้มาตั้งแต่สมัยโบราณ และพบว่ากัญชาครอบคลุมการรักษาแทบทุกด้าน ต่อมาประเทศไทยกำหนดให้กัญชาเป็นสารเสพติดมาเป็นเวลานานกว่า 40 ปี ถ้าจะให้มีการนำมาใช้ในครัวเรือน ต้องใช้เวลาการยอมรับ
ในอนาคตถ้ากัญชากำหนดให้เป็นสิ่งถูกกฎหมาย อยากเชิญชวนองค์การเภสัชกรรม จัดให้มีโรงเรือนแบบปิดเพื่อควบคุมสายพันธุ์ ทั้งนี้ต้องไม่ละเลยการปลูกกัญชาแบบพื้นบ้าน ซึ่งเป็นกรรมวิธีที่ได้กัญชาที่มีคุณภาพ
ซึ่งในการจะนำมาเข้าตำรับยาไทยต้องใช้กัญชาของไทย ในอนาคตพอจะมีแนวทางการใช้กัญชาด้านการแพทย์ที่เป็นไปได้ 3 แนวทาง คือ นำมาใช้ตามรูปแบบการแพทย์ตะวันตก นำมาใช้ในรูปแบบตำรายาแพทย์แผนไทย และนำมาใช้ในรูปแบบการแพทย์พื้นบ้าน
“คาดว่าจะนำตำรับยาไทยมาใช้และเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้ว่ากัญชาจะยังเป็นยาเสพติดหรือไม่ แล้วเราจะได้ตำรับยาที่มีคุณภาพมากขึ้น และมีการพัฒนาควบคู่กันไปให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น”
ถึงแม้ว่าในอนาคตใกล้นี้เราจะยังไม่ทราบได้อย่างแน่ชัดว่า ในการนำกัญชามาใช้รักษาผู้ป่วย ในทางการแพทย์ จะมีกฎหมายรองรับหรือไม่นั้น อย่างไรก็ตามทางด้านเภสัชศาสตร์ และเครือข่ายที่เกี่ยวข้องหวังว่าการเสวนานี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย และบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อผลักดันให้เกิดการรักษาอันเป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วยในอนาคต
ปลดล็อคกัญชา
สำหรับเวทีเสวนาในช่วงบ่ายเป็นการอภิปรายถึงมุมมองเกี่ยวกับการแก้กฎหมายเพื่อปลดล็อค “กัญชา” เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ มีผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย ผศ.ภญ.ดร.สําลี ใจดี ประธานมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา (มสพ.) ดร.ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล องค์การเภสัชกรรม
ผศ.กิตติบดี ใยพูล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อ.ไพศาล ลิ้มสถิตย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายเจริญลักษณ์ เพ็ชรประดับ มูลนิธิขอนแก่นทศวรรษหน้า เป็นผู้ดําเนิน รายการ
ผศ.ภญ.ดร.สําลี ใจดี ประธานมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา (มสพ.) อธิบายว่า กัญชาและกระท่อมควรถูกยกเลิกให้เป็นยาเสพติดให้โทษ ความหวังของวงการแพทย์จะพลิกฟื้นกับมาอีกครั้ง ผู้ป่วยหลายคนที่มีความจำเป็นในการใช้กัญชารักษาโรคจะสามารถเข้าถึงได้
“กัญชาและกระท่อม จัดได้ว่าเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษในการใช้รักษาโรค มีสรรพคุณเป็นยา อยู่ๆ พวกผู้มีอำนาจก็ประกาศก็ประกาศว่าเป็นยาเสพติดให้โทษ คุณเคยเห็นคนใช้กัญชาแล้วฆ่าคนตายไหม ตั้งแต่ฉันจำความได้ยังไมเคยเห็นนะ”
ดังนั้นการแก้กฎหมายของ สนช. ที่จะเร่งยกเลิกให้กัญชาไม่ถูกจัดให้เป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 แต่จะมีความก้าวหน้ามากน้อยเพียงใด กัญชาจะเป็นความหวังทางการแพทย์ในการใช้รักษาโรคนั้นสถานะ การณ์ปัจจุบันนับว่ามีความหวังอีกครั้งว่ากัญชาจะถูกปลดล็อค
อ.ไพศาล ลิ้มสถิตย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ตั้งคำถามนำถึง กรณีการบรรจุกัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติปี 2522 ว่า เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถ ทำการทดลองใช้กัญชารักษาในมนุษย์ได้ ผนวกกับกฎกระทรวงมาตรา 26 ก็ไม่ได้มีหลักเกณฑ์ พิจารณาถึงการนำยาเสพติดมาใช้บำบัดรักษาโรคอีกด้วย
“สรุปง่ายๆก็คือกฎหมายได้กำหนดโทษให้ผู้เสพและผู้ใช้ทุกกรณีต้องรับโทษ รวมถึงการใช้รักษาโรค จึงปิดโอกาสให้เกิดการทดลองกัญชาเพื่อการแพทย์ ดังนั้นพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษปี พ.ศ.2522 จึงเป็นกฎหมายที่ล้าหลังควรได้รับการ ปรับปรุงแก้ไข”
สำหรับแนวทางในการแก้กฎหมายคือการเสนอร่างพระราชบัญญัติพืชเสพติด (กระท่อม กัญชา) เพื่อจัดหมวดหมู่ให้เห็นว่าพืชเสพติดมีความแตกต่างจากยาเสพติดกลุ่มอื่น หรือ ปรับปรุงกฎหมายให้มีเนื้อหาระบุถึงการจำแนกพืชเสพติตที่สามารถนำมาใช้เป็นประโยชน์ทางการแพทย์ได้ กับยาเสพติดหรือพืชเสพติดอื่นๆ และสร้างมาตรการควบคุมการใช้อย่างเข้มงวด
กำหนดกฎเกณฑ์ใบอนุญาติและเงื่อนไขในการปลูก เก็บเกี่ยว การวิจัยในมนุษย์ โดยกำหนดประเภทใบอนุญาติให้มีความเข้มงวดแตกต่างกัน จัดตั้งคณะกรรมการพืชเสพติดเพื่อควบคุมกำกับ หรืออนุมัติให้เกิดการวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ
ควรมีบัญญัติให้ชุมชน ภาคประชาสังคม เข้าร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งเสพติด โดยนำเอาบทเรียนของประเทศโปรตุเกสที่ใช้ประชาชนช่วยภาครัฐแก้ไขปัญหาสิ่งเสพติดได้อย่างมี ประสิทธิภาพ ตลอดจนควรลดทอนโทษสำหรับผู้ที่ครอบครองพืชเสพติดในปริมาณที่ไม่มากหรือผู้ที่ มีพฤติกรรมไม่เป็นอันตรายต่อผู้อื่น
กฎหมายตอบโจทย์ประชาชน
ผศ.กิตติบดี ใยพูล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ในความคิดของผู้ออกกฎหมาย จะออกกฎหมายมาเพื่อบรรเทาความสุ่มเสี่ยงที่สังคมหรือประชาชน จะได้รับความเสียหาย
เพื่อให้กฎหมายเป็นครรลองในการดำเนินชีวิตร่วมกันของประชาชนในสังคมให้เป็นไปอย่างปกติสุข สำหรับกรณีการออกกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดจะเห็นได้ว่าในช่วงก่อน พ.ศ. 2522 รัฐไม่ได้ควบคุมอะไรเกี่ยวกับพืชเสพติดมากนัก เพราะสังคมในช่วงก่อนหน้านั้นไม่ได้มีความซับซ้อน
ทว่าภายหลังกลับมีการออกกฎหมายมาควบคุมจึงจำเป็นต้องพิจารณาถึงบริบททางสังคมในขณะนั้น ว่าพืชเสพติดเหล่านั้นอาจทำลายสังคมและประชาชนจึงได้ออกกฎหมายเพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้น ตามมา
วิทยาการทางการแพทย์ในขณะนั้นก็ยังไม่สามารถยืนยันได้อย่างแน่ชัดว่าพืชเสพติดสามารถนำมาใช้ ประโยชน์ได้จริง จึงเป็นสาเหตุสำคัญให้ผู้ออกกฎหมายในขณะนั้นบรรจุกัญชา กระท่อม เป็นพืชเสพติดประเภทที่ 5
“อย่างไรก็ตามเมื่อวิทยาการทางการแพทย์ก้าวหน้าและสามารถพิสูจน์ได้ว่ากัญชามีสรรพคุณใน การรักษาโรคได้อย่างแน่ชัดนั้น จึงเป็นหน้าที่ของคนรุ่นเราที่จะต้องปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยและ เป็นประโยชน์ต่อสังคมให้มากที่สุด” คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าว
โอกาสกัญชา
ดร.ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล องค์การเภสัชกรรม กล่าวถึงโอกาสการปลูกกัญชา เชิงพาณิชย์เพื่อผลิตกัญชาใช้ประโยชน์ในการวิจัยว่า การวิจัยเพื่อสกัดสารจาก กัญชาขององค์การเภสัชกรรมจำเป็นต้องนำเข้ากัญชาจากต่างประเทศ เพราะประเทศไทยไม่สามารถปลูกกัญชาได้ผิดกฎหมาย
“นอกจากนี้แหล่งกัญชาที่นำมาใช้ประโยชน์ในงานวิจัยยารักษาโรคได้มาจากของกลางที่เจ้าหน้าที่ตำรวจยึดมาได้ แต่คุณภาพที่จะสามารถนำมาผลิตยานั้นน้อย” ดร.ภญ.นันทกาญจน์ กล่าวและว่า
การปลดล็อคกฎหมายเพื่อให้นำมาใช้ประโยชน์ในการวิจัยยารักษาโรคในเมืองไทยจึงมีความจำเป็นอย่างมาก ที่จะได้กัญชาคุณภาพสูงมาใช้ผลิตยา ดังนั้นการปลูกกัญชาเพื่อผลิตยาจึงเป็นเรื่องเกี่ยวโยงกับ กระบวนการผลิตตั้งแต่ผู้ปลูก
ดังนั้นการที่ผู้ปลูกรายย่อยสนใจที่จะปลูกกัญชาภายหลังที่กฎหมายปลดล็อคจึงต้องทำการศึกษาอย่างรอบคอบว่า ตลาดต้องการกัญชาคุณภาพ ได้มาตรฐานเพื่อการผลิตยา หากไม่มีการควบคุม “กัญชา” อาจจะเป็นอย่างข้าวโพด มันสำปะหลัง หรือพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ปลูกมาแล้วไม่ได้คุณภาพเป็นปัญหา ของรัฐบาลที่จะต้องแก้ปัญหาผลผลิตตกต่ำเหมือนอย่างที่ผ่านมา.