การรถไฟฯ จ่อผุด “โรงแรม-สวนสนุก” รอบสถานีขอนแก่น

ขอนแก่นเนื้อหอมไม่หยุดการรถไฟแห่งประเทศไทย ทุ่ม 5-8 พันล้านบาท พลิกที่ดินรอบสถานีรถไฟขอนแก่น ผุด โรงแรม สวนสนุก ระบุ 2-3 เดือนแบบก่อสร้างเสร็จ เตรียมศึกษารายละเอียด ด้านภาคประชาชนชี้ผล EHIA EIA HIA ต้องมองเห็นคนตัวเล็กตัวน้อย

การรถไฟฯเตรียมพลิกที่ดิน 108 ไร่ ย่าน “สถานีขอนแก่น” บริเวณอาคารบ้านพักพนักงาน อาคารที่ทำการและสนามกอล์ฟ เปิดให้เอกชนที่สนใจเข้ามาลงทุนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รับรถไฟทางคู่ “ช่วงจิระ-ขอนแก่น” ที่กำลังเปิดใช้ในเดือน ก.พ. 62นี้ คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการวันละ 2-3 หมื่นคน

แหล่งข่าวรายงานว่า นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการแทนผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศ ได้ว่าจ้างสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เป็นผู้ศึกษารูปแบบการพัฒนาโครงการและรูปแบบการลงทุนตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 ซึ่งจัดการรับฟังความคิดเห็นทดสอบความสนใจของนักลงทุน (market sounding) ไปเมื่อวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา และได้รับความสนใจจากยักษ์ใหญ่ด้านรับเหมาก่อสร้าง อสังหาฯ ค้าปลีก พลังงาน อาทิ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท บมจ.ซี.พี.แลนด์ บมจ.สัมมากร บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น บมจ.อิตาเลียนไทยดีเวล๊อปเมนต์ บมจ.ปตท. บมจ.ดิ เอราวัณ กรุ๊ป เป็นต้น เข้ามาพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟ

ซึ่งจะนำข้อคิดเห็นของภาคเอกชนมาจัดทำรายละเอียดของโครงการให้ตอบโจทย์การพัฒนาให้มากที่สุด คาดว่าจะสรุปรูปแบบการพัฒนาอีก 3-4 เดือนนี้ จากนั้นได้แนวคิดจะต้องศึกษารายละเอียด และทำรายงาน PPP คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี

ทั้งนี้ การที่นำที่ดินย่านดังกล่าวมาพัฒนา เนื่องจากตั้งอยู่ในทำเลที่มีศักยภาพใจกลางเมือง ทางที่ปรึกษาประเมินว่าที่ดินเหมาะจะพัฒนาโครงการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและการพาณิชย์ เบื้องต้นแบ่งการพัฒนาพื้นที่ 108.4 ไร่ เป็น 5 แปลง ไม่รวมโซน A ที่ประมูลไปแล้วจะพัฒนาเป็นตลาดและที่อยู่อาศัย มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 5,000-8,000 ล้านบาท ระยะเวลาสัมปทาน 30-50 ปี

โดย “โซน B” เนื้อที่ 16.2 ไร่ ติดกับถนนรื่นรมย์ พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณย่านสถานีรถไฟ (TOD) เพื่อใช้ประโยชน์ที่ดินแบบผสมผสาน มีที่พักอาศัย อาคารพาณิชย์ สำนักงาน และการใช้ประโยชน์ประเภทอื่น ๆ เช่น ค้าปลีก

“โซน C และโซน D” เนื้อที่รวม 16.5 ไร่ พัฒนาเป็นโรงแรม ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้า เพื่อบริการผู้เดินทาง ขณะที่ “โซน E” เนื้อที่ 58.6 ไร่ พัฒนาเป็นพื้นที่สวนสนุกและพื้นที่สันทนาการ เช่น รถไฟเหาะตีลังกา เรือไวกิ้ง สวนน้ำ คอนเซ็ปต์คล้ายยูนิเวอร์แซล และ “โซน F” เนื้อที่ 8 ไร่ พัฒนาพื้นที่ประเภทกลุ่มอาคารสำนักงานและที่พักอาศัยของพนักงานการรถไฟฯ

ด้านภาคประชาชน นายจิตติ เชิดชู ประธานชุมชนเทพารักษ์ 5 เทศบาลนครขอนแก่น วอนผู้เกี่ยวข้องศึกษาผลกระทบอย่างละเอียดให้เหมาะสมกับคนทุกกลุ่มโดยเฉพาะคนตัวเล็กตัวน้อย ว่าการดำเนินการศึกาาโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นต้องดำเนินการโดยมิใช่ใช้ผลการศึกษา EHIA EIA HIA เป็นกำแพงป้องกันกลุ่มทุนว่า “ได้ทำตามกระบวนการทุกขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดแล้ว”

แต่ในข้อเท็จประชาชนในพื้นที่กลับได้รับผลกระทบ แทนที่จะเกิดการพัฒนาที่สมดุลให้คนอยู่กับเมืองอย่างมีความสุข ผู้ประกอบการได้กำไรจากการดำเนินกิจการ จังหวัดขอนแก่นมีการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ ประชาชนอยู่กับเมืองและร่วมพัฒนาเมืองให้เติบโตอย่างยั่งยืน

 

แสดงความคิดเห็น