ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) จังหวัดอุดรธานี ได้จัดประชุม กรอ.อุดรธานี 2/2562 เมื่อเร็ว ๆ นี้ และรายงานภาวะเศรษฐกิจจังหวัดอุดรธานี ประจำเดือนมกราคม 2562 ว่ามีสัญญาณขยายตัวจากธันวาคม 2561 ซึ่งมาจากปัจจัยด้านอุปสงค์หรือการใช้จ่ายที่มีสัญญาณขยายตัวจากเดือนก่อนที่หดตัว 4.1% จากจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขยายตัว 0.2% เพราะความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงสะท้อนจากดัชนีการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวกว่า 6.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ช่วยสนับสนุนกำลังซื้อของครัวเรือนฐานราก
อีกทั้งภาคเกษตรกรรมมีการขยายตัว โดยดัชนีผลผลิตภาคเกษตรกรรมขยายตัว 7.5% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวจากเดือนก่อนที่หดตัว 0.01% ตามปริมาณผลผลิตอ้อยโรงงานขยายตัว 24.1% เนื่องจากเกษตรกรดูแลผลผลิตดีขึ้น รัฐบาลส่งเสริมการปลูกอ้อยพันธุ์ดี และปริมาณผลผลิตมันสำปะหลังขยายตัว 3.8% เป็นผลจากราคามันสำปะหลังในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรเพิ่มพื้นที่ปลูก ส่งผลให้ผลผลิตขยายตัว ขณะที่รายได้เกษตรกรมีการขยายตัว 9.3% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 6%
ด้านการคลังพบว่าผลการจัดเก็บรายได้เดือนมกราคม 2562 มีทั้งสิ้น 331.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.3% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แยกเป็นสรรพากรพื้นที่ 227.6 ล้านบาท สรรพสามิตพื้นที่ 3.2 ล้านบาท ธนารักษ์พื้นที่ 5.3 ล้านบาท และส่วนราชการอื่น 95.4 ล้านบาท ทั้งนี้ เนื่องจากหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะการจัดเก็บรายได้จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี และรายได้ประเภทภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของสรรพากรพื้นที่ที่มีเงินรายได้และเงินปันผลเพิ่มขึ้น
ขณะที่ปริมาณเงินฝากรวมขยายตัว 5.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องมาจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 4.3% สำหรับปริมาณสินเชื่อรวมมีการขยายตัว 2.3% แต่ยังขยายตัวในอัตราที่ลดลงจากเดือนก่อน เนื่องจากสถาบันการเงินระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อที่ด้อยคุณภาพ ทั้งนี้ สำหรับการจ้างงานมีการขยายตัว 8% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
ขณะเดียวกัน ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนยังชะลอตัวตามจำนวนสินเชื่อเพื่อการลงทุนรวมชะลอตัว 2.3% ซึ่งมาจากภาวะการลงทุนและความเชื่อมั่นของนักลงทุนในจังหวัดปรับตัวลดลง เช่นเดียวกับดัชนีภาคบริการที่หดตัว 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง โดยนักท่องเที่ยวที่ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองหนองคายหดตัว 16.7% ส่วนหนึ่งมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวดี ส่งผลให้ประชาชนยังคงระมัดระวังการใช้จ่าย
ในส่วนของการใช้จ่ายภาครัฐมีการหดตัวประมาณ 3.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาในเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากการเบิกจ่ายประจำหดตัว 5.1% เป็นผลจากการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกองทัพบกหดตัวประมาณ 0.7% สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปโดยเฉลี่ยยังคงไม่เปลี่ยนแปลงจากปีก่อน
เรียบเรียงเนื้อหาจากประชาชาติธุรกิจ