“หิมะดำ”ทำพิษนักวิชาการเสนอแนวคิดแก้ปัญหา “เผาอ้อย” อย่างถาวร ด้วยรถตัด แต่รัฐบาลสมาคมโรงงาน ชาวไร่รายใหญ่-รายย่อยต้องร่วมมือ
ปัญหามลพิษจากการเผาอ้อยของชาวไร่อ้อยในภาคอีสาน ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ยังไม่มีทางออกของการแก้ปัญหาที่ชัดเจน โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 ในจังหวัดขอนแก่นที่กำลังตื่นกลัวกันอยู่ในเวลานี้ ส่วนว่าแท้จริงแล้วปัญหารุนแรงแค่ไหน มีทางออกหรือไม่ อย่างไร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จักรพันธ์ สุขสวัสดิ์ นำเสนอเอาไว้อย่างน่าสนใจ
โดยเริ่มจาก สารพิษทางอากาศคืออะไร สาเหตุหลักๆ ที่มันเกิดขึ้นเรารู้กันอยู่แล้ว หนึ่ง รถยนต์ สอง โรงงานอุตสาหกรรม สาม เผาในที่โล่งแจ้ง สามแหล่งมันก่อให้เกิดมลพิษอะไรบ้าง แน่นอนPM 10 เก่าหน่อย PM 2.5 เพิ่งมา เพราะว่ากรุงเทพฯโดนหนักปีนี้ เราก็เลยตื่นตัวกันมาก ตระหนักกันมาก ตัวที่สาม คือ โอโซน
ทั้งนี้ PM 2.5 คือ ตัวร้าย เพราะว่า PM 10 เรารู้ได้ เพราะแสบจมูกเราก็เดินหนี แต่ PM 2.5 มันเล็กมากเรามองไม่เห็น แล้วเมื่อเข้าไปสะสมในร่างกาย ก็จะทำให้เกิดโรคหลายโรค โรคหลักๆ ก็คือ มะเร็ง โรคหัวใจ และหลอดเลือด
ส่วนว่าทำไมบ้านเราจึงเกิดขึ้น ก็เพราะมีการเผาอ้อย เผาฟาง จากข้อมูลยังพบว่า มีอ้อยเผาถึง 60% ของอ้อยทั้งหมดที่นำเข้าโรงงาน ถึงแม้อีสานจะต่ำกว่าที่อื่น แต่ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และพื้นที่อ้อยในอีสานก็ค่อนข้างมากอย่างที่เราทราบกันดี
ทำไมต้องเผา ถ้าไม่เผาจะมีคนตัดไหม? จากข้อมูลเห็นได้ชัดว่า เป็นปัญหาเรื่องแรงงาน ส่วนทางออกถ้าไม่เผาทำอย่างไร
จากข้อมูลเช่นกันพบว่า “รถตัด” เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง
แน่นอน ข้อจำกัดของรถตัด ก็จะเป็นเงื่อนไขตามมา เช่น เงินที่ใช้จ่ายในการซื้อรถตัด ปัญหาการจัดการแปลงอ้อย เป็นต้น
ดังนั้นการส่งเสริมที่ต้องทำ คือเรื่องของเงินทุน เงินดาว และดอกเบี้ยที่ต่ำ คนจะซื้อรถตัดก็อยากให้ส่งเสริมในเรื่องเหล่านี้ค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้น รัฐ สมาคม ควรสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำได้หรือไม่ โรงงานเอาเงินเหล่านี้ไปบริหารจัดการกับชาวไร่ รายใหญ่ รายย่อย ถือเป็นสามประสาน
รายใหญ่ รายย่อย คือ การประสานกันให้เกิดการเชื่อมั่นกันว่าจะมีรถตัด จะใช้เครื่องมือนี้อย่างมีประสิทธิภาพ ถามว่ารัฐลงเงินสนับสนุนไปแล้ว ได้อะไร คำตอบคือ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ตามมาเลย เศรษฐกิจ ได้การสร้างงาน ประสิทธิภาพการผลิตดีขึ้น สังคม ได้เรื่องสุขภาพ แน่นอนอีก 10 ปี ไม่ต้องมารักษาคนเป็นมะเร็งปอดจำนวนมากอีก ซึ่งเป็นภาระผูกพันของรัฐ สิ่งแวดล้อม เราสามารถอ้างกับต่างประเทศได้ว่า เราได้แก้ปัญหามลพิษทางอากาศแล้ว
ดังนั้น โรงงานมี 65 โรงขณะนี้ และกำลังจะมาอีก 30 โรง ถ้าสิ่งเหล่านี้ขับเคลื่อนไปได้ จะสร้างผลกระทบมหาศาล อย่าง มิตรผล กาฬสินธุ์ ที่เราไปเก็บข้อมูล พบว่า กำลังผลิต 25,000 ตันต่อวัน คนงานที่ต้องการประมาณหมื่นคนต่อวันในการตัดอ้อย เขามีรถตัด 22 คัน ถ้าอยากให้ไม่เผาอ้อยเลย ต้องการรถตัด 120 คัน ดังนั้นถ้าส่งเสริมเขาได้ 100 คัน ก็จะไม่เผาแน่นอน
ข้อเสนอก็คือ หนึ่ง ในระยะยาว ต้องส่งเสริมโดยหารถตัดให้ชาวไร่รวมตัวกันจัดซื้อ สอง หาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำผ่าน “ธ.ก.ส.”(ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์) และสาม ส่งเสริมการทำไร่อ้อยแปลงใหญ่ ซึ่งถ้าทำแปลงเล็กๆ มันใช้รถตัดไม่ได้ ต้องมีการรวมแปลงกันอย่างไร เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด สุดท้าย คือ จัดคิวพิเศษให้อ้อยสด
“หนทางมีครับ จากสิ่งที่เราพบ ไม่ขายฝัน ถ้าร่วมกันผลักดัน”