“แทรมน้อย” เป็นมากกว่าขยะจากญี่ปุ่น  

“แทรมน้อย” ถูกคาดหวังสูง ไม่เพียงห้องเรียนเสมือนจริง หากแต่ยังเล็งเป้าใหญ่อุตสาหกรรมระบบราง สู่การพัฒนาเมืองขอนแก่นในอนาคตด้วย

          จากงานเสวนา “รางสร้างเมือง รางสร้างไทย” เพื่อการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ด้านระบบขนส่งทางราง (ห้องเรียนเสมือนจริง) “แทรมน้อย” และแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่รอบสถานี (Transit Oriented Development; TOD) จัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2562 เวลา 18.00 น. ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ศาลหลักเมืองขอนแก่น ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

        ทั้งนี้ได้รับเกียรติจาก สุเทพ มณีโชติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น มาเป็นประธาน โดยมี ธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น ธวัชชัย วนาพิทักษ์กุล ผอ.ส่วนการโยธา สำนักการช่างฯ สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) และบริษัท พัฒนาเมืองขอนแก่น จำกัด, ดิสพล พดุงกุล นายกสมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางไทย (วศรท.),ดร.เยี่ยมชาย ฉัตรแก้ว ที่ปรึกษาสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.), วัฒนา สมานจิตร วิศวกร บริษัท PSD Principal Engineer กิจกรรมร่วมค้า IRTV, โครงการพัฒนาระบบขนส่งผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 ,  ปริญ นาชัยสิทธิ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น(มทร.ขอนแก่น) ร่วมเสวนาและมีตัวแทนบริษัท Exedy Friction Material จำกัด, บริษัท Hiroshima Electric Railway จำกัด รวมถึงตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน สถานบันการศึกษา เป็นต้น เข้าร่วม

       ในการเสวนาครั้งนี้ ทำให้ทราบว่า จังหวัดขอนแก่น ได้รับมอบรถราง หรือรถแทรมน้อย จำนวน 1 ตู้ จากบริษัท Hiroshima Dentetsu ที่เดินทางมาจากเมืองฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น และต่อไปจะเคลื่อนย้ายแทรมน้อย ไปไว้ที่ มทร.ขอนแก่น บริเวณคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่มีโครงการจะสร้างเป็น Tram research center หลังจากนั้นภายใน 6 เดือน ทาง มทร.ขอนแก่น จะสร้างรางขึ้นภายในบริเวณวิทยาเขต มทร. จากประตูทางเข้าจนถึง research center ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร เพื่อทดลองการสร้างรางชนิดต่างๆ สถานีรถ และ ระบบอาณัติสัญญาณ ก่อนจะนำรถ แทรมมาทดลองวิ่งภายในวิทยาเขต มทร.ขอนแก่น ระหว่างนั้นทางเทศบาลนครขอนแก่นจะเริ่มการก่อสร้างรางสำหรับรถแทรมรอบบึงแก่นนคร ตั้งแต่ขบวนการประชาพิจารณ์ การทำ EIA การนำเสนอเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับทราบการดำเนินการ

สำหรับรายละเอียดรถแทรมที่ได้รับมา มีอายุกว่า 40 ปี เพราะใช้งานมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่มีการซ่อมบำรุงอย่างดีมาก สำหรับตู้ขบวนที่มอบให้ จ.ขอนแก่น ได้ปลดระวางมาแล้วประมาณ 2 ปี แต่ยังสามารถใช้งานได้ ใช้พลังงานไฟฟ้า จึงไม่น่าเป็นห่วงเรื่องมลพิษที่จะเกิดขึ้น ส่วนเรื่องเสียง ก็มีเสียงดังในระดับเดียวกับรถไฟฟ้าหรือบีทีเอสที่ใช้งานอยู่ในกรุงเทพฯ รถรางสามารถวิ่งด้วยความเร็วไม่เกิน 60 กม./ชม. แต่ในการใช้งานจริงคาดว่า จะวิ่งอยู่ที่ประมาณ 30-40 กม./ชม. เท่านั้น ส่วนรางที่ใช้จะมีขนาดมาตรฐาน (standard guage) กว้าง 1.435 ม. ในหนึ่งตู้ขบวนจะสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ประมาณ 50-60 คนทั้งนั่งและยืน

อย่างไรก็ตาม จากวันนี้ไปคาดว่า จะใช้เวลาประมาณ 2 ปี ชาวขอนแก่นจึงจะได้ทดลองนั่งรถแทรมน้อยที่วิ่งรอบบึงแก่นนคร ทั้งรถที่ได้รับมอบมาและรถที่ มทร.ขอนแก่น ทดลองสร้างขึ้นใหม่ โดยจะเป็นการให้บริการฟรี เพื่อประชาสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยวรอบบึงแก่นนคร สร้างการรับรู้ก่อนการสร้างระบบรถไฟรางเบา หรือ LRT นำร่องสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมระบบรางในอนาคต และช่วยให้ จ.ขอนแก่น เป็นจังหวัดแรกในส่วนภูมิภาคที่จะมีรถไฟฟ้ารางเบาใช้บริการ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัด รวมถึงจังหวัดใกล้เคียงได้เป็นอย่างดี

ถามว่า ขอนแก่นจะได้อะไรกับ “แทรมน้อย” หลายทัศนะจากผู้ร่วมเสวนาครั้งนี้น่าจะเป็นคำตอบได้ดี

เริ่มจาก สุเทพ มณีโชติ เห็นว่า “ถ้าเราไม่เริ่มนับหนึ่ง เราก็ไปไม่ได้สักที”

ขณะที่ ธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ กล่าวว่า “เราไม่ได้ต้องการระบบขนส่งสาธารณะมาแก้เพียงปัญหาจราจร แต่มันจะเป็นการส้รางเมือง สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และประกาศศักยภาพเมืองขอนแก่น”

ที่น่าสนใจไปกว่านั้น “ไม่ใช่ขยะจากญี่ปุ่น แต่เป็นการเริ่มนับหนึ่ง แทรมน้อยเพื่อการศึกษา ถ้าศึกษาเสร็จ เด็กที่จบมามีงานทำ พอ LRT มา เราจะเป็นเมืองเดียวในประเทศไทย ที่ผลิตเอง…”

เหนืออื่นใด “เราจะสามารถสร้างงานที่เป็นทางเลือกที่หลากหลาย รายได้ที่ดีขึ้น เด็กอีสานไม่ต้องพลัดพรากจากอ้อมอกพ่อแม่…”

ด้าน สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย กล่าวว่า แทรมน้อยวิ่งรอบบึง 4 กิโลเมตร เราจะให้มีรางทุกชนิดที่มีอยู่ในโลกนี้ เช่น รางแบบมีหญ้าคลุม (Green Slab on Ground) รางแบบมีหินโรยทางธรรมดา (Ballast Type) รางแบบที่ราดบนยางมะตอย (On Asphalt Type)

“…แทรมน้อยเกิดจากความสามัคคีของคนขอนแก่น นอกจากฮิโรชิมาแล้ว ฮอกไกโดก็อยากบริจาคให้ขอนแก่น…”

ดิสพล ผดุงกุล “…ขอนแก่นต้องกลายเป็นเมืองรถไฟ เราเป็นชุมทาง และศูนย์กลางของรถไฟ…”

ดร.เยี่ยมชาย ฉัตรแก้ว “…นอกเหนือจากการสร้าง เราจะรู้เรื่องการบำรุงรักษา รถไฟทั่วประเทศจะมาฝึกอบรมที่ขอนแก่น…”

และนอกจากนั้น

“…เมืองที่ดีต้องทำให้คนไปทำกิจกรรมได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัย ประหยัด…”

วัฒนา สมานจิตร “…ถ้าเราสร้างรถไฟได้ ทำให้ต้นทุนต่ำกว่า ตรงนี้คือ การสร้างงาน…”

สำหรับ ปริญ นาชัยสิทธิ์ “…เราจะให้รถแทรมนี้ เป็นห้องทดลองในการเรียนการสอนเกี่ยวกับเรื่องของระบบราง จะทำให้เกิดการเรียนรู้ของประชาชน และเป็นโครงการนำร่องก่อนมี LRT…”

แน่นอน แม้วันนี้หลายอย่างดูเหมือนเป็นความคิดฝัน หรือ อย่างน้อยก็คาดหวังเอาไว้สูง แต่ก็ไม่แน่เหมือนกัน ถึงวันนั้นเราอาจได้เห็นว่า “แทรมน้อย” เป็นมากกว่ารถรางที่ปลดระวางมาจากญี่ปุ่น ขึ้นมาจริงๆก็เป็นได้ ใครจะรู้?


แสดงความคิดเห็น