“มุมมองคนอีสานกับการตั้งรัฐบาล” ยังหนุน “คุณหญิงหน่อย” สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และอยากให้พรรคเพื่อไทย เป็นรัฐบาล ส่วนหากไม่มีฝ่ายใดรวมเสียงข้างมาก “ส.ส.-ส.ว.” ได้ ให้จัดตั้ง “รัฐบาลแห่งชาติ” โดยมีพรรคฝ่ายค้านพรรคเดียว
เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา ผศ.ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจ (ECBER) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นทางการเมืองของประชาชนในภาคอีสานออกมาอย่างน่าสนใจ
ทั้งนี้สำรวจมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นคนอีสานต่อการจัดการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งทำการสำรวจระหว่างวันที่ 17-19 พฤษภาคม2562 จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,027 ราย กระจายตามสัดส่วนโครงสร้างประชากรในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด
โดยมีแบบสอบถามที่น่าสนใจหลายประเด็น กล่าวคือ ปัจจัยสำคัญที่สุดต่อการตัดสินใจในการเลือก ส.ส. ครั้งที่ผ่านมา พบว่า อันดับหนึ่งร้อยละ 44.5พิจารณาจากผลงานและนโยบายพรรค รองลงมา พิจารณาจากจุดยืนทางการเมือง และพิจารณาจากผลงานและประวัติผู้สมัคร ซึ่งมีสัดส่วนเท่ากันคือ ร้อยละ18.7 และร้อยละ 18.0 พิจารณาจากว่าที่นายกฯ
เมื่อสอบถามต่อว่า พอใจการทำงานของ กกต. (คณะกรรมการเลือกตั้ง) หรือไม่ อย่างไร พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 76.4 ไม่พอใจจนถึงไม่พอใจมาก ขณะที่มีเพียงร้อยละ 23.6 ที่พอใจจนถึงพอใจมาก
ถามว่า กกต. จำเป็นต้องเปิดเผยคะแนนเลือกตั้งทุกหน่วยเลือกตั้งหรือไม่ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 80.9 คิดว่าจำเป็น ขณะที่เพียงร้อยละ 19.1 คิดว่าไม่จำเป็น
ถามว่า พอใจการแต่งตั้ง สว. 250 คน เพื่อมาโหวตเลือกนายกฯ หรือไม่ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 74.4 ไม่พอใจ และพอใจเพียงร้อยละ 25.6
ถามว่า ด้วยข้อจำกัด ท่านยอมรับใครเป็นนายกฯ ได้บ้าง พบว่า จาก 5 รายชื่อที่เป็นตัวเลือก อันดับหนึ่งที่กลุ่มตัวอย่างยอมรับได้ คือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ร้อยละ 80.0 อันดับสอง คือ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ร้อยละ 71.5 อันดับ 3 นายอภิสิทธิ์ เชาชาชีวะ ร้อยละ 44.5 อันดับ 4 นายอนุทินชาญวีรกูล ร้อยละ40.6 และอันดับ 5 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 28.9
ถามว่า พรรคใดที่ควรร่วมตั้งรัฐบาลบ้าง พบว่า จาก 5 พรรคใหญ่ที่เป็นตัวเลือก อันดับหนึ่งที่กลุ่มตัวอย่างอยากให้ร่วมเป็นรัฐบาล คือ พรรคเพื่อไทย ร้อยละ81.2 อันดับ 2 พรรคอนาคตใหม่ ร้อยละ 72.4 อันดับ 3 พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 57.4 อันดับ 4 พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 53.4 และอันดับ 5 พรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 29.5
สุดท้ายถามว่า ถ้าไม่มีฝ่ายใดสามารถรวมเสียง ส.ส. และ ส.ว. เพื่อตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้ (มี ส.ส. เกิน 251 คน และรวมกับ ส.ว. แล้วต้องได้เสียงเกิน376 เสียง) ควรทำอย่างไร พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 34.8 ต้องการให้ตั้งรัฐบาลแห่งชาติโดยมี 1 พรรคเป็นฝ่ายค้าน อันดับ 2 ร้อยละ 28.5 ต้องการนายกฯ คนกลาง อันดับ 3 ร้อยละ 20.4 ต้องการให้เลือกตั้งใหม่ และอันดับ 4 ต้องการให้ตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย