มหาวิทยาลัยขอนแก่น จับมือ 6 สถาบันหลักของไทย เครือข่ายพันธมิตรพัฒนาเมือง “City Development Alliance: CDA” สนับสนุนวิชาการเพื่อพัฒนาเมืองต้นแบบอัจฉริยะนำร่อง 19 จังหวัด
เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 6 มิถุนายน 2562 ที่ห้องประชุมชั้น 4 โรงแรมริชมอนท์สไตลิส คอนเวนชั่น จ.นนทบุรีนายทวี เสริมภักดีกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พร้อมด้วย รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. เป็นประธานในการลงนามบันทึกข้อตกลงของเครือข่ายพันธมิตรพัฒนาเมือง “City Development Alliance: CDA” ซึ่งสมาคมการผังเมืองไทย ร่วมกับ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยศิลปากร และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เพื่อสนับสนุนทางวิชาการให้กับการพัฒนาเมือง ร่วมกันสร้าง ค้นหา และ ออกแบบความรู้ร่วมกัน พัฒนานโยบายทางด้านการพัฒนาเมืองของประเทศไทย ได้กำหนดแผนการดำเนินงานขึ้นในพื้นที่นำร่อง 19 เมือง โดยมี ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มผู้บริหาร และกรรมการบริหารบริษัทพัฒนาเมือง จาก 19 เมือง นักวิชาการ รวมไปถึงนักออกแบบผังเมืองจากทั่วทั้งประเทศ ร่วมเป็นสักขีพยาน จำนวนมาก
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. กล่าวว่า บันทึกข้อตกลงร่วมกัน ของ 6 หน่วยงานหลักฉบับนี้ มข.จะทำหน้าที่เป็นประธานเครือข่าย เพื่อขับเคลื่อนตามกรอบแนวทางการพัฒนาเมืองโดยมีกฎบัตรของเมืองต่างๆนั้นเป็นหัวใจหลักในการพัฒนา ซึ่ง มข.และมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมดำเนินการตามโครงการดังกล่าวนี้จะนำหลักวิชาการและองค์ความรู้ด้านวิชาการ นำมาถ่ายทอดและต่อยอดจากสิ่งที่แต่ละเมืองนั้นได้ดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งทุกเมือง และทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่เข้าร่วมตามแผนการดำเนินงานดังกล่าวนี้นั้นจะได้ร่วมแลกเปลี่ยนและนำเสนอในสิ่งที่มี สิ่งที่ขาดและสิ่งที่ต้องการบนพื้นฐานที่เกิดขึ้นจากความต้องการของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมสนับสนุนการพัฒนาเมืองตามแนวทางเมืองอัจริยะ และได้กำหนดเป็นประเด็นยุทธศาสตร์หนึ่งในการบริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น
“ขณะนี้มีเมืองต่างๆ จำนวน 19 แห่ง ที่ประกอบด้วย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และบริษัทพัฒนาเมือง ที่เข้าร่วมกับการดำเนินงานตามกรอบความร่วมมือดังกล่าว จากนี้ไปคณะทำงานร่วม 6 หน่วยงานหลักจะลงพื้นที่เพื่อเปิดเวทีสาธารณะ ในการรับฟังความคิดเห็นและความต้องการ และสิ่งที่คนในชุมชนนั้นอยากที่จะนำเสนอและอยากให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งบริบทของแต่ละพื้นที่ทั้ง 19 เมืองนั้นล้วนแตกต่างกันไปแต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือ คนในชุมชนนั้นมีความเข้มแข็ง มีการรวมกลุ่ม มีการร่วมกันวางแผน ยุทธศาสตร์ ด้วยข้อตกลงร่วมกันของสังคม ซึ่งเรียกกันว่า “กฎบัตร” ซึ่งเป็นรูปแบบการพื้นฟูพัฒนาเมือง และพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ดังนั้นวันนี้จึงเป็นมิติใหม่ในการพัฒนาเมืองที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือจากภาควิชาการที่เข้าไปสนับสนุนการทำงานในพื้นที่นำร่อง 19 เมืองที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ไป”
รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น ในฐานะประธานเครือข่ายพัธมิตรพัฒนาเมือง กล่าวว่า เครือข่ายพันธมิตรพัฒนาเมือง ที่เริ่มต้นขึ้นจาก 6 หน่วยงานหลักร่วมกันกับเมืองต้นแบบ 19 แห่ง จากนี้ไปจะเข้าสู่ขั้นตอนของการดำเนินกิจกรรมร่วมกันเริ่มจากการประชุมเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันอย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง การจัดทำตำราและเอกสารวิชาการทางด้านการพัฒนาเมือง การจัดการฝึกอบรมและจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาเมือง การทำวิจัยร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การเป็นเครือข่ายการพัฒนานโยบายทางด้านการพัฒนาเมืองของประเทศไทยที่เข้มแข็ง
“การที่ประธานพลเมืองในเมืองต่างๆ ได้ลุกขึ้นมาช่วยกันตอบโจทย์คำถามที่ว่า จะส่งมอบ “เมือง” ของเราสู่รุ่นต่อไป โดยที่รุ่นวัยต่อไป จะต้องได้รับบริการ หรือมีทุนสิ่งแวดล้อม ทุนทางเศรษฐกิจ และทุนสังคม ไม่น้อยไปกว่าคนรุ่นปัจจุบัน โดยการออกแบบอนาคตเมืองร่วมกัน ถือเป็นตัวอย่างความเข้มแข็งของชุมชนอย่างแท้จริง และสิ่งเหล่านี้จะเป็นกลไกสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืนสืบไป สิ่งเหล่านี้ถือเป็น รูปแบบการจัดการการปกครองท้องถิ่น ที่รู้จักกันโดยทั่วไป ว่า “Local Governance””