กว่าบทความนี้จะถูกตีพิมพ์เผยแพร่ ประเทศไทยคงได้ครม.ชุดใหม่มาทำหน้าที่เรียบร้อยแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่จะมาเป็นรมว.กระทรวงศึกษาธิการซึ่งเปลี่ยนโผโยกกันไปมาระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลเสมือนเป็นกระทรวงแถวล่างราคาถูกก็ไม่ปาน จึงต้องขอฝากไว้ในฉบับเพื่อเป็นพื้นฐานข้อมูลเบื้องต้นได้รับรู้ว่าปัญหาหลากหลายที่ถูกทิ้งไว้ในกระทรวงก่อนที่ท่าน รมว.ศธ.คนเก่าจะลุกจากเก้าอี้ ไปนั่งในตำแหน่งสว.ชุดใหม่อย่างสบายใจ ซึ่งหนึ่งในจำนวนปัญหาเหล่านั้นคือ การปฎิรูปการศึกษาที่มีคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฎิรูปการศึกษา(กอปศ.)ซึ่งเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 258 ที่กำหนดให้คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการปฎิรูปประเทศด้านการศึกษาให้เสร็จภายในเวลา2ปี เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2562 ที่ผ่านมาปรากฏว่าผลงานที่สำคัญทิ้งเอาไว้ให้ท่าน รมว.ศธ.คนใหม่ต้องดำเนินการต่อก็คือต้องปฎิรูปตามแผนปฎิรูปประเทศด้านการศึกษาพร้อมเข็นกฏหมายการศึกษาอีก4-5 ฉบับที่ทาง กอปศ.ได้ร่างทิ้งเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พศ……ร่างพ.ร.บ. อุดมศึกษา พ.ศ……..ร่างพ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัยและร่างพ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเป็นต้น
โจทย์ใหญ่ที่ท่าน รมว.ศธ.คนใหม่ต้องตัดสินใจเลือกว่าจะนำกฎหมายฉบับสำคัญมาปัดฝุ่นกันอย่างไรนั้นมีกฎหมายที่จะนำมาพิจารณาอยู่ 2 กลุ่ม ด้วยกันคือ
กฏหมายกลุ่มที่1. ก็คือกฎหมายใหม่ที่ทาง กอปศ.ได้ร่างทิ้งเอาไว้ดังที่กล่าวมาข้างต้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติพ.ศ…….ที่เป็นกฎหมายฉบับเจ้าปัญหาเพราะถูกครูทั้งประเทศใส่ชุดดำและยื่นหนังสือ ประท้วงถึงหน้าตึกทำเนียบรัฐบาลและหน้าตึกกระทรวงศึกษาธิการมาแล้ว ก่อนที่เจ้ากระทวงศึกษาธิการคนก่อนจะลาออกไปเป็นสว.และทางครม.ต้องยกเลิกเสนอกฏหมายเข้าสู่สภา สนช.เพื่อมอบมรดกตกทอดให้ท่านรมว.ศธ.คนใหม่ไปพิจารณาตัดสินใจเลือกทางแก้ไขกันใหม่หลังรับตำแหน่ง
กฏหมายการศึกษากลุ่มที่2. คือกฎหมายเก่าที่ยังใช้อยู่ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นพ.ร.บ.ระเบียบการบริการาชการกระทรวงศึกษา 2546 (ยังไม่เคยแก้ไขปรับปรุง) พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขปรับปรุง ฯลฯ ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับเจ้าปัญหา ในรอบ5ปีที่รัฐบาล คสช.บริหารประเทศผ่านมาเพราะได้นำเอาประกาศและคำสั่ง คสช.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา44มาบังคับใช้โดยยกเลิกกฎหมายการศึกษาฉบับเก่าๆเหล่านี้บางมาตราและให้คำสั่ง คสช.แทน หลายสิบคำสั่งยกเลิกเพิกถอนคณะกรรมการหลายคณะ
เพื่อให้คณะกรรมการชุดใหม่ตามที่คสช.ต้องการให้มีโดยทำให้เกิดความสับสนในแนวปฎิบัติของข้าราชการประจำในทุกระดับตั้งแต่ระดับกระทรวง ระดับจังหวัด ระดับภาค ระดับเขตพื้นที่ไปจนถึงระดับสถานศึกษาจึงไม่ต้องถามต่อไปว่าประชาชนจะสับสนแค่ไหนและไม่ต้องถามต่อไปว่าคุณภาพการศึกษาของประเทศจะถอยหลังเข้าคลองไปแค่ไหนอย่างไร เมื่อเทียบกับดัชนีการเปรียบเทียบระหว่างประเทศแม้เพียงระดับอาเซียน ไม่ต้องพูดถึงระดับโลก
ดังนั้นในคราวที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่มีโอกาสเข้ามานั่งในครม.ประยุทธ์ 2 คราวนี้จำเป็นจะต้อง เลือกทางที่เหมาะสมว่าจะเดินไปในทิศทางใด จึงจะเป็นทางสองแพร่งที่จะต้องเลือกคือ 1.เดินไปตามทิศทางเดิม ที่คสช.ปูทางเอาไว้โดยให้เป็นไปตามกฎหมายที่กอปศได้ร่างเอาไว้แล้วชู๊ตลูกเข้าสภาไปตายเอาดาบหน้าท่ามกลางการเดินขบวนคัดค้านจากครูทั้งประเทศ พร้อมๆกระเตงกฎหมายเก่าที่พ่วงเอาคำสั่งคสช.หลายสิบฉบับพ่วงท้ายเป็นตู้รถไฟไปอย่างนี้เรื่อยๆเกิดปัญหาอะไรค่อยปะผุกันไปดีกว่า
2.ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาปฎิรูปกฏหมายใหม่ทั้งหมดให้สอดคล้องต้องกัน ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันตลอดแนะทุกฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทิศทางกระจายอำนาจทางการศึกษาเพื่อลดอำนาจส่วนกลางไปให้ส่วนพื้นในระดับสถานศึกษาให้มากที่สุด โดยมีเป้าหมายที่คุณภาพการศึกษา ของเด็กไทยต้องเป็นไปในทิศทางที่สูงขึ้นเทียบเท่าอารยะประเทศและอันดับคุณภาพการศึกษาในกลุ่มประเทศอาเซียนหรืออันดับโลกต้องสูงกว่าอย่างที่เป็นอยู่
นับเป็นทางสองแพร่งที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ต้องเลือกแล้วครับ
บทความโดย: ดร.เพิ่ม หลวงแก้ว เลขาธิการมูลนิธิครูประชาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ