ข้อเสนอ ในเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ ของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่พัฒนามาจากแนวคิดจังหวัดจัดการตนเอง ท้องถิ่นจัดการตนเองและชุมชนจัดการตนเอง และมีรูปธรรมของการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในหลายพื้นที่
น่าสนใจที่กระแสการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ ด้วยกระจายอำนาจนั้นไม่ได้มีปัญหาความขัดแย้งของกลุ่มที่เคลื่อนไหวในทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเสื้อสีใด ในระหว่างการเคลื่อนไหวนั้น ในอีกด้านหนึ่งคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายหรือ ครป. ก็ได้มีการจัดทำร่างกฎหมายขึ้นมาหนึ่งฉบับ
โดยมีเป้าหมายที่จะให้เป็นกฎหมายกลางสำหรับใช้เป็นเครื่องมือ ในการขับเคลื่อนของจังหวัดที่มีความพร้อมในการจัดการตนเองหรือปกครองตนเอง ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 78 (3) ที่กำหนดให้รัฐต้องมีการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพึ่งตนเอง และตัดสินในกิจการท้องถิ่นได้เอง ส่งเสริมให้องค์กรส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ
พัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่นและระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการตลอดทั้งโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศใน ท้องถิ่นให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั้งประเทศ รวมทั้งพัฒนาท้องถิ่นให้มีความพร้อมให้เป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นขนาดใหญ่โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้น
ทว่า…ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายรองรับ
อีกทั้งการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปัจจุบันยังไม่ส่งเสริมให้เกิดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง
นอกจากนี้เจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 281 ที่ต้องการให้ความเป็นอิสระแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น ภายใต้หลักการความเป็นรัฐเดี่ยว
กระบวนการจัดทำร่างกฎหมายฉบับนี้ อาจจะถือได้ว่าเป็นฉบับแรกที่เริ่มจากการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วทั้งประเทศ ในกลุ่มต่างๆ ก่อนที่จะได้มียกร่างกฎหมายขึ้นมา และปัจจุบันร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวดำเนินการจัดทำแล้วเสร็จและเตรียมการที่จะรณรงค์ให้ประชาชนได้ร่วมกันพิจารณาและขับเคลื่อนร่วมกันต่อไป
ภายใต้ชื่อ ร่างพ.ร.บ.บริหารจังหวัดปกครองตนเอง พ.ศ…..มีทั้งหมด 10 หมวด 124 มาตรา และเมื่อรวมบทเฉพาะกาลทั้งหมด 135 มาตรา มีสาระสำคัญบางส่วนที่น่าสนใจดังนี้
มาตรา 3 ระบุว่า “จังหวัดปกครองตนเอง” หมายถึงจังหวัดใดที่มีความพร้อมโดยประชาชนในจังหวัดได้แสดงเจตนารมณ์เพื่อจัดตั้งเป็นองค์กรท้องถิ่นขนาดใหญ่ทั้งจังหวัด ตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยให้การรับรอง
มาตรา 6 โดยสรุป เมื่อประชาชนจังหวัดใดมีความพร้อมตามเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้น มีสิทธิ์จัดตั้งจังหวัดปกครองตนเอง โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งตามพระราชบัญญัติฉบับนี้
การแสดงเจตนารมณ์เพื่อจัดตั้งกระทำโดยการออกเสียงประชามติ จากประชาชนมีสิทธิ์เลือกตั้งไม่น้อยกว่าห้าพันคนเข้าชื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อให้มีการจัดทำประชามติ โดยการออกเสียงจะต้องมีผู้ออกเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั้งจังหวัดและจะต้องมีผลกคะแนนสามในห้าของผู้ออกเสียงเห็นชอบให้จัดตั้งจังหวัดปกครองตนเอง จากนั้นให้ออกเป็นพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศผลออกเสียงประชามติ
เมื่อพระราชกฤษฎีกา มีผลบังคับใช้ก็ให้ยกเลิก พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งจังหวัดเดิม โดยให้จังหวัดปกครองท้องถิ่นมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีขอบเขตพื้นที่จังหวัดเดิม มีความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบาย การบริหาร การจัดบริการสาธารณะ การบริหารบุคคล การเงินการคลังและงบประมาณ
มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการบำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพที่อยู่ในเขตพื้นที่อย่างสมดุลและยั่งยืน
การปกครองท้องถิ่นภายในจังหวัดจะแบ่งเป็นสองระดับคือ เขตพื้นที่ระดับจังหวัด เขตพื้นที่ท้องถิ่นระดับล่างคือ เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล โดยให้มีการจัดตั้งสภาพลเมืองขึ้นในจังหวัด เทศบาลและองค์กรบริหารส่วนตำบล
มาตรา13 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งขึ้นมาในจังหวัดปกครองตนเอง เรียกว่า “คณะกรรมการประสานแผนและทิศทางการพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ผู้ว่าการจังหวัดปกครองท้องถิ่น ผู้แทนสภาพลเมืองปกครองตนเอง ผู้แทนเทศบาลและผู้แทนองค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อทำหน้าที่ประสานอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนการจัดสรรงบประมาณระหว่างจังหวัดปกครองตนเอง เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล และสภาพลเมือง
มาตรา 16/19 ให้จังหวัดปกครองตนเอง ประกอบด้วย สภาจังหวัดปกครองตนเองมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน จังหวัดใดประชากรไม่เกินห้าแสน มีสมาชิกสภาฯได้สามสิบคน เกินห้าแสนแต่ไม่เกินหนึ่งล้าน มีสมาชิกสภาฯได้สามสิบหกคน จังหวัดใดเกินหนึ่งล้านแต่ไม่เกินล้านห้ามีสมาชิกสภาฯได้สี่สิบสองคน จังหวัดใดเกินล้านห้าแต่ไม่เกินสองล้านมีสมาชิกได้สี่สิบแปดคน และจังหวัดใดเกินสองล้านขึ้นไป มีสมาชิกได้ ห้าสิบสี่คน
มาตรา 29 อำนาจหน้าที่ของสภาจังหวัดปกครองตนเอง ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาจังหวัด พิจารณาเห็นชอบร่างข้อบัญญัติว่าด้วยงบประมาณ ควบคุมการปฏิบัติงานของผู้ว่าราชการจังหวัด ให้เป็นไปตามกฎหมาย นโยบายและแผนพัฒนาจังหวัด ส่งเสริมสนับสนุน ร่วมมือ และชี้แจงทำความเข้าใจสภาพลเมือง อนุมัติงบประมาณการดำเนินงานของสภาพลเมือง ตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเสนอ พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบตามที่สภาพลเมืองจังหวัดเสนอ
มาตรา 32 – 43 ผู้ว่าราชการจังหวัดปกครองตนเองมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีวาระ 4 ปี ดำรงตำแหน่งได้ไม่เกินสองวาระ มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายการบริหารจังหวัดปกครองตนเอง พิจารณาและออกประกาศจังหวัด ประกาศใช้แผนพัฒนาจังหวัดปกครองตนเอง ที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาจังหวัดปกครองตนเอง สั่งอนุมัติ อนุญาตกิจการของจังหวัด สนับสนุนให้คำปรึกษาและแนะนำการบริหารงานของเทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบลในเขตจังหวัดปกครองตนเอง
แต่งตั้งถอดถอนรองผู้ว่าฯ เลขานุการผู้ว่าฯ เลขานุการรองผู้ว่าฯ ที่ปรึกษาผู้ว่าฯและรองผู้ว่าฯ บริหารงานตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย วางระเบียบเพื่อกิจการจังหวัด การเงิน การคลัง การงบประมาณ การทรัพย์สิน การจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สิน การจ้างบริหารบุคคล การพัสดุของจังหวัด พิจารณาอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของสภาพลเมือง
มาตรา 44 – 47 สภาพลเมืองจังหวัดปกครองตนเอง มีวัตถุประสงค์ในการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระดับท้องถิ่น การมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจทางการเมือง การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการจัดทำบริการสาธารณะตลอดจนสนับสนุน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบ
การใช้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ประกอบด้วยบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ จากองค์กรชุมชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาชีพ ภาควิชาการ และภาคอื่น และภาคอื่นที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินงานของสภาพลเมืองมีสมาชิกที่ที่พึงกำหนดไว้ โดยคำนึงถึงสัดส่วน ระหว่างเพศ ชาติพันธุ์ ผู้ด้อยโอกาส ทางเศรษฐกิจและสังคม โดยได้รับเบี้ยประชุม มีวาระคราวละ 4 ปี
อำนาจหน้าที่กำหนดทิศทางและการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นด้านต่างๆ ตรวจสอบการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เสนอชื่อบุคคลในคณะกรรมการตรวจสอบ ติดตามประเมินผลการทำงานตามแนวนโยบายและแผน สนับสนุนประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยจัดประชุมสมัชชาพลเมืองจังหวัดอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
อำนาจหน้าที่ของจังหวัดปกครองตนเอง มีอำนาจในการดูแลจัดทำบริการสาธารณะประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น การพาณิชย์ หาประโยชน์จากทรัพย์สิน ทรัพยากร ออกข้อบัญญัติส่งเสริม สนับสนุนการบริการสาธารณะในเขตจังหวัดปกครองตนเอง ยกเว้น ป้องกันประเทศ การคลังและระบบเงินตรา ศาล การต่างประเทศ ที่จะยังคงให้เป็นอำนาจของรัฐบาลกลาง
ดำเนินการ
ข้างต้นนี้เป็นเพียงบางประเด็นที่น่าสนใจ และนำเสนอเพื่อที่ประชาชนจะได้ร่วมกันศึกษา ปัญหาวิกฤติการณ์ทุกด้านล้วนมาจากสาเหตุของการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง หากท้องถิ่นใดมีความพร้อม ก็จะสามารถใช้ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาวิกฤติดังที่กำลังเกิดในปัจจุบัน