สนข.ระบุ 6 จุด จอดแล้วจรรถบัสไฟฟ้าอุดรฯ ผนวกแผนพัฒนาพื้นที่จุดจอดสร้างรายได้ก่อนสรุปผลการศึกษาเสนอกระทรวงคมนาคม และ คจร. เห็นชอบต่อไป
ภาพจาก สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)
รายงานข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) แจ้งว่า สัปดาห์นี้จะประชุมพิจารณาเห็นชอบรายงานฉบับสมบูรณ์โครงการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนสางสาธารณะในเขตเมืองอุดรธานี หลังจากที่ได้สรุปผลการศึกษาจัดทำแผนแม่บทฯ ระยะเวลา 20 ปี (63-82) คือ แผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจำนวน 6 เส้นทาง ระยะทางรวม 100.5 กม. วงเงินรวมประมาณ 2,021 ล้านบาท ใช้ระบบรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า (รถเมล์ไฟฟ้า) ได้แก่ 1.สายสีแดง สถานีรถไฟอุดรธานี-สนามบินนานาชาติอุดรธานี 2.สายสีส้ม รอบเมืองอุดรธานี 3.สายสีเขียว ศาลแรงงาน ภาค 4-ถนนโพศรี-ถนนศรีสุข 4.สายสีน้ำเงิน ค่ายยุทธศิลป์ประสิทธิ์-ตลาดผ้านาข่า 5.สายสีชมพู ม.ราชภัฎอุดรธานี วิทยาเขตสามพร้าว-ทุ่งศรีเมือง-ถนนอดุลยเดช และ 6.สายสีเหลือง แยกบ้านเลื่อม-แยกบ้านจั่น โดยจะนำร่อง 2 สายก่อน คือ 1.สายสีแดง และ สายสีส้ม ค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย
นอกจากนี้ยังมีแผนพัฒนาจุดจอดแล้วจร เพื่ออำนวยความสะดวกผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะตามแนวเส้นทางที่จัดเตรียมไว้ สำหรับแนวเส้นทางได้จัดตำแหน่งจุดจอดแล้วจรไว้ 6 แห่ง ได้แก่ 1.บริเวณพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่ง สถานีรถไฟอุดรธานี พื้นที่ก่อสร้าง 15,120 ตารางเมตร แบ่งเป็นพื้นที่ราบ 4,320 ตารางเมตร สำหรับจอดรถจักรยานยนต์ (จยย.) 720 ตารางเมตร รองรับรถ จยย. 60 คัน และ พื้นที่อาคารจอดรถ 3,600 ตารางเมตร รองรับรถยนต์ 355 คัน สามารถเชื่อมต่อการเดินทางไปสู่ระบบขนส่งสาธารณะผ่านสถานีรถไฟอุดรธานี 2.บริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งที่ 2 พื้นที่ก่อสร้าง 9,975 ตารางเมตร เป็นพื้นที่ราบทั้งหมด รองรับรถยนต์ 164 คัน และรถ จยย. 62 คัน
3.สายสีเขียว บริเวณสถานีศาลแรงงานภาค 4 พื้นที่ก่อสร้าง 7,700 ตารางเมตร เป็นพื้นที่ราบทั้งหมด รองรับรถยนต์ 268 คัน และ รถ จยย. 147 คัน 4.สายสีชมพู บริเวณสถานีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี (ศูนย์สามพร้าว) พื้นที่ก่อสร้าง 4,800 ตารางเมตร เป็นพื้นที่ราบทั้งหมด รองรับรถยนต์ 150 คัน และ รถ จยย. 82 คัน 5.สายสีน้ำเงินทิศเหนือ บริเวณสถานีตลาดผ้านาข่า พื้นที่ก่อสร้าง 3,250 ตารางเมตร เป็นพื้นที่ราบทั้งหมด รองรับรถยนต์ 100 คัน และ รถ จยย. 60 คัน และ 6.สายสีน้ำเงินทิศใต้ บริเวณสถานีค่ายยุทธศิลป์ประสิทธิ์ พื้นที่ก่อสร้าง 3,500 ตารางเมตร เป็นพื้นที่ราบทั้งหมด รองรับรถยนต์ 103 คัน และ รถ จยย. 50 คัน ส่วนวงเงินในการลงทุนนั้นไม่ได้ระบุไว้เพราะจะทำให้มูลค่าโครงการเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการพัฒนาจุดจอดแล้วจรนั้นหากจังหวัดเป็นผู้พัฒนาเอง ในพื้นที่ 6 แห่งดังกล่าวจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายราคาที่ดินที่จะลงทุนได้ ขณะเดียวกันยังมีแผนพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานี (TOD) และ การจัดระบบจราจรภายในจังหวัดด้วย
อย่างไรก็ตามหากรายงานฉบับสมบูรณ์ได้รับความเห็นชอบแล้ว สนข. จะสรุปผลการศึกษาทั้งหมดนำเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาช่วงเดือน ก.ย.62 ก่อนนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) พิจารณา เพื่อมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป