อุดรธานีเสนอตัวจัดงาน พืชสวนโลก ปี 2026 โดยมีพี่เลี้ยงสำคัญ ด้านเทคโนโลยีจาก ดีป้า, ด้านเทคนิคจากทีเซ็ป และด้านมวลชนจาก สกสว. โดยเลือกหนองแด เป็นสถานที่จัดงาน
อุดรธานีเป็น 1 ใน 15 เมืองรอง สมาร์ทซิตี้ หรือเมืองอัจฉริยะ ในกลุ่ม 8 เมือง เริ่มในปี 62 ซึ่ง สนง.ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า กำลังเข้ามาทำอุดรธานี คู่กับ อุบลราชธานี เป็น “สมาร์ททัวร์ลิซึ่ม” ด้วยงบ 76 ล้านบาท มีเป้าหมายแรกคือ การรวบรวมและบูรณาการข้อมูลสอดรับกับก่อนหน้านี้ สนง.ส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้ให้ทุนเข้ามาทำงานวิจัย การพัฒนาเมืองอย่างชาญฉลาด ในจังหวัดที่มีนักธุรกิจรวมตัวตั้ง “บริษัท…….พัฒนาเมือง จำกัด” ด้วยเอารูปแบบ “กฎบัตรเมือง….” ขึ้นมาใช้ และที่อุดรธานีได้นำเอาเกณฑ์ของ ไมซ์ซิตี้กับเศรษฐกิจสีเขียว มาใช้ในการขับเคลื่อน
ล่าสุด สนง.ส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) หรือ “ทีเซ็ป” กำลังผลักดันให้อีก 16 เมืองเป็น “ไมซ์ซิตี้” โดยเริ่มพุ่งเป้ามาที่อุดรธานี เสนอเป้าหมายใหญ่ “งานพืชสวนโลก” ให้อุดรธานี ว่ามีความพร้อมจัดหรือไม่ (เคยจัดที่เชียงใหม่ 2 ครั้ง ครั้งแรก พ.ย.49-ก.พ.50 ครั้งที่สอง ธ.ค.54-เม.ย.55) ถ้าเปรียบ “อุดรธานี” เป็นวงหมอลำ ก็เป็นวงหมอลำดาวรุ่ง เป็นเพชรเม็ดงามในวงการ พยายามเจียระไนตัวเอง ให้เป็นวงหมอลำระดับดาวเด่น โดยมีวงหมอลำเทคนิคสูง มาช่วยเป็นเทรนเนอร์ ในด้านเมคโนโลยีจาก ดีป้า , ด้านเทคนิคจากทีเซ็ป และด้านมวลชนจาก สกสว.
โดยในครั้งแรก (ปลายเดือนมิถุนายน 2562) ทีเซ็ป ได้นำตัวแทนของสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (AIPH) เจ้าของลิขสิทธิ์งานพืชสวนโลก มาพูดคุยกับนายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.อุดรธานี ที่ รร.เซ็นทารา อุดรธานี โดยมีภาครัฐ เอกชน ถูกเชิญเข้ารับฟังก่อนตัดสินใจ ซึ่งในวันนั้นอยู่ในชั้นความลับ ผู้สื่อข่าวอุดรธานี 5-6 คน ถูกตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์งาน เชิญออกจากห้องประชุม
จนเมื่อบ่ายวันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม 2562 หลังจากนายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการประมูลสิทธิ์เป็นเจ้าภาพจัดงานพืชสวนโลก ปี 2569 (ค.ศ.2026) จังหวัดอุดรธานี เตรียมความพร้อมเสนอตัวจัดงาน ที่ห้องประชุมสบายดี ชั้น 4 อาคาร 2 ศาลากลาง จ.อุดรธานี นายสิธิชัย จินดาหลวง รอง ผวจ.อุดรธานี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการครั้งแรก ร่วมกับ สนง.ส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) มีนางหริสุดา บุญยะวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญส่วนงานพัฒนา , นางปิยะนุช นาคะ ผู้เชี่ยวชาญด้านพืชสวน , นายพงศ์พรหม ยามะรัต ผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมและ Bio Diversity
อุดรธานีเจ้าบ้าน…ได้เล่าถึงยุทธศาสตร์แผนพัฒนาจังหวัด เสริมศักยภาพอุดรธานีที่โดดเด่น ให้เป็นศูนย์กลางอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มีการพัฒนาด้านคมนาคมต่อเนื่อง และยังมีแผนการพัฒนาในอนาคต และน่าจะมีความพร้อมจัดงานครั้งนี้ และรับนักท่องเที่ยวเดินทางมาในพื้นที่ และเชื่อมโยงไปพื้นที่ใกล้เคียง โดยเสนอสถานที่จัดงาน 3 แห่ง คือ สวนสาธารณะหนองแด มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี (ศูนย์สามพร้าว) และสวนสาธารณะหนองประจักษ์ศิลปาคม + ทุ่งศรีเมือง (สุดท้ายสรุปที่หนองแด)
ขณะที่ทีเซ็ป กล่าวภาพรวมว่า ประเทศไทยจะได้โควตาจัดงานพืชสวนโลก 2 งาน คือ งานระดับ เอ. พื้นที่(ดิน)ต้องมากกว่า 300 ไร่ ใช้เงินลงทุนราว 2,000-2,500 ล้านบาท จ.นครราชสีมา เสนอตัวขอเป็นเจ้าภาพรายแรก , งานระดับ บี. พื้นที่(ดิน)ต้องมากกว่า 100 ไร่ ใช้เงินลงทุนราว 1,000-1,500 ล้านบาท มี จ.อุดรธานี เสนอตัวเป็นเจ้าภาพรายแรก โดยจังหวัดที่เสนอตัวจะต้องไป “พรีเซนต์” ต่อคณะกรรมการในวันพุธที่ 24 กรกฎาคมนี้ ที่ กทม.
“ทีเซ็ป” ระบุด้วยว่า คอนเซ็ปงานถือเป็นเรื่องสำคัญ งานเกิดประโยชน์ในพื้นที่ มีทั้งลักษณะใน-นอกอาคาร , มีจังหวัดใกล้เคียง , การเกิดแลนด์มาร์คใหม่ และต่อเนื่องในเรื่องของงานวิจัย และอื่นๆ โดยยกตุ๊กตาขึ้นมาไว้ 7 ประการ คือ เป็นศูนย์กลางการศึกษาในอาเซียน และจีนตอนใต้ , ประโยชน์การพัฒนาด้านอสังหาริมทรัพย์ , ศูนย์กลางการลงทุน (สตาร์อัพ-วิทยาศาสตร์ชีวะภาพ-ออแกนนิก , ศูนย์กลางไมซ์ , ศูนย์กลางวิทยาศาสตร์ชีวะภาพ เทียบเท่าสิงคโปร์ , ส่งเสริมการลงทุนด้านโลจินติก-ทรานสปอร์ตสเตชั่น และศูนย์กลางภูมิภาคแห่งใหม่ในไทย
ทั้งนี้มี 8 ขั้นตอนในการเสนอตัว เริ่มจาก 1. เข้าพบเสนอตัวจัดงาน ต่อคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกเบื้องต้น (24 ก.ค.62) 2. เมื่อผ่าน ทีเซ็ป จะส่ง จนท.มาช่วยปรับแก้ให้สมบูรณ์ 3. ทีเซ็ป เสนอเรื่องให้ ครม.เห็นชอบ เพื่อสังการให้หน่วยงานต่างๆมาสนับสนุน 4. อุดรธานียื่นเรื่องต่อ สมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (AIPH) ประเทศอังกฤษ 5.ทีมอุดรธานีเดินทางไปร่วมงานพืชสวนโลก ที่นครปักกิ่ง เสนอแผนการจัดงานต่อคณะกรรมการ (ก.ย.62)6. สมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (AIPH)ส่งตัวแทนมาดูพื้นที่จริง ตามแผนงานที่เสนอขึ้นไป (ธ.ค.62) 7.ทีมอุดรธานีเดินทางไปประมูลงาน ไมอามี สหรัฐอเมริกา (มี.ค.63) 8.ถ้าได้ลุยงาน 6 ปี
“หนองแดวันนี้” ไม่ได้มีสภาพเป็น “พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญ” แต่เป็นได้เพียง “สระแด” ไปเมื่อหลายปีก่อนแล้ว ซึ่งกำลังถูกเสนอเป็น “หนอง(สระ)แด…พืชสวนโลก” ความสำคัญกำลังจะถูกเปลี่ยนไป….