“อีสานโพล”เผยผลสำรวจเศรษฐกิจครัวเรือนและระดับจังหวัด พบดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจอีสานไตรมาส 2/2562 เท่ากับ 76.4 เป็นไตรมาสที่ 8 ติดต่อกัน สะท้อนให้เห็นว่าย่ำแย่ต่อเนื่อง ส่วนด้านเศรษฐกิจรัฐบาลก็ถือว่าสอบตกต่ำสุดในรอบ 5 ปี
อีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจเรื่อง “ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจอีสานไตรมาส 2/2562” พบว่า คนอีสานส่วนใหญ่เห็นว่าช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ดี และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจอีสานไตรมาส 2/2562 เท่ากับ 76.4 ซึ่งต่ำกว่า 100 เป็นไตรมาสที่ 8 ติดต่อกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว
ในส่วนคะแนนด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลได้ 36.5 และผลงานโดยรวมได้เพียง 35.7 ซึ่งเป็นคะแนนต่ำสุดในรอบ 5 ปี ด้วยสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว สงครามการค้า ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น เศรษฐกิจฐานล่างที่ซบเซา และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูง จึงเป็นโจทย์ท้าทายสำหรับรัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะเข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจดังกล่าว
ผศ.ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพลเปิดเผยว่า การสำรวจนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของคนอีสานต่อภาวะเศรษฐกิจระดับครัวเรือนและระดับจังหวัด เพื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจและคำนวณดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจอีสานในไตรมาส 2/2562 และประเมินผลงานรัฐบาลด้านเศรษฐกิจ ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 5-7 กรกฎาคม 2562 จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป 1,095 รายในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด
เมื่อสอบถามเกี่ยวกับ เศรษฐกิจและการค้าของจังหวัด รายได้ครัวเรือน สภาพคล่องการเงินครัวเรือน และการใช้จ่ายเพื่ออุปโภคและบริโภคของครัวเรือน และทำการประมวลผลได้ดัชนีต่างๆ ซึ่งมีค่าระหว่าง 0 – 200 ถ้าค่าดัชนีต่ำกว่า 100 คือ แย่ลง/ลดลง เท่ากับ 100 คือ ทรงตัว/เท่าๆเดิม และมากกว่า 100 คือ ดีขึ้น/เพิ่มขึ้น
เมื่อให้กลุ่มตัวอย่างประเมินผลงานรัฐบาลด้านเศรษฐกิจในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พบว่า ได้คะแนน 36.5 เต็ม 100 ซึ่งน้อยลงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับการสำรวจในไตรมาสที่แล้ว ซึ่งได้คะแนน 39.8 ขณะที่ผลงานโดยรวมของรัฐบาลในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาได้คะแนน 35.7 เต็ม 100 ซึ่งการสำรวจในไตรมาสที่แล้วได้คะแนน 40.5 ทำให้ปัจจุบันคะแนนประเมินผลงานรัฐบาลโดยรวมลดลงมาต่ำสุดในรอบ 5 ปี
เมื่อให้กลุ่มตัวอย่างให้ความคิดเห็นว่า ช่วงนี้เศรษฐกิจประเทศไทย ดี หรือ ไม่ดี พบว่า มีกลุ่มตัวอย่างมากถึงร้อยละ 87.0 เห็นว่า เศรษฐกิจไม่ดี มีเพียงร้อยละ 13.0 เท่านั้น ที่เห็นว่าเศรษฐกิจดี