“ราชภัฏเลย” เปิดโลก OTOP อีสาน สู่ตลาดพม่าและ “CLMV”

    ถ้าจะบอกว่า “มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย” คือ ต้นแบบหนึ่ง ของการนำองค์ความรู้สู่การพัฒนาชุมชนอย่างแท้จริง ก็คงไม่ผิดแม้ว่า บทบาทสำคัญยังคงเป็นการให้ความรู้ด้านการเรียนการสอน ทางวิชาการอยู่ก็ตามโดยยึดพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพวรางกูล ที่ว่า “มหาวิทยาลัยราชภัฏ เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีวิสัยทัศน์สำคัญ คือเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น”

     “ดังนั้นนอกเหนือจากการให้ความรู้ด้านวิชาการแล้ว มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย จึงแสดงอีกบทบาทหนึ่งอย่างขยันขันแข็ง นั่นคือ การทำงานด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้ได้นวัตกรรมที่ทรงคุณค่า ซึ่งเป็นพันธกิจสำคัญประการหนึ่งของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะการวิจัยและพัฒนาที่เข้าสู่เชิงพาณิชย์

    เรื่องนี้ ผศ.ดร.พิชิต พระพินิจ รองอธิการบดีฝ่ายนโยบายและแผน และกิจการพิเศษ กล่าวว่า เมื่อมีผลงานแล้ว จำเป็นต้องถ่ายทอดองค์ความรู้และพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกับชุมชนและท้องถิ่น โดยมหาวิทยาลัยมีทรัพยากรที่มีความพร้อมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือ OTOP สู่เชิงพาณิชย์อยู่แล้ว นั่นคือ ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจชุมชน (UBI) ศูนย์การค้าโลจิสติกส์และการค้าชายแดน ซึ่งเป็นพันธกิจที่ต้องพัฒนาผู้ประกอบการในท้องถิ่นให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น เพื่อขับเคลื่อนโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP)  รวมถึงสร้างกลไกทางการตลาด เพื่อสร้างความต้องการในการบริโภคในท้องถิ่น ขยายไปสู่จังหวัดอื่นๆ และภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น

      ขณะเดียวกัน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่เชื่อมต่อกับชายแดนหลายแห่ง เป็นประตูสู่อินโดจีน ซึ่งมีมูลค่าการค้าชายแดนเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด และคาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นยิ่งกว่านี้ในอนาคต อีกทั้งตลาดสินค้าของไทยก็เป็นสินค้าที่มีความต้องการสูง มีศักยภาพ และมีความเป็นไปได้ ที่จะพัฒนาสินค้าของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ OTOP ไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศที่มีพื้นที่ติดต่อกัน คือกลุ่มประเทศ CLMV ประกอบด้วย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม

    “ในการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว มหาวิทยาลัยได้มีการศึกษาวิจัยด้านความต้องการผลิตภัณฑ์ มีการให้ความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับการดำเนินธุรกิจทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งต่างประเทศได้มีการให้ความรู้เรื่องการนำเข้า การส่งออก โลจิสติกส์และการค้าชายแดน กับผู้ผลิตสินค้า OTOP รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของผู้ผลิตสินค้า OTOP สู่ประเทศเพื่อนบ้าน”

     นอกจากนี้ ผศ.ดร.พิชิต ยังกล่าวถึงการจัดกิจกรรมศึกษาดูงาน(22 กรกฎาคม 2562) ที่ประเทศพม่า เพื่อสร้างเครือข่ายของผู้ผลิต ผลิตภัณฑ์ OTOP ในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและประเทศเมียนมาร์ ด้วยว่า ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจโดยการไปดูงานครั้งนี้ มีผู้ประกอบการสินค้าร่วมเดินทางไปด้วยจำนวนหนึ่ง เช่น มะพร้าวอ่อนแก้วเคียง, บุญล้อมผ้าไทย, ฟาร์มผึ้ง, รองเท้าหนังแท้บ้านโพนยอ อุดรธานี, ฟ้าใส “ดาวอินคา” สารพัดประโยชน์, สบู่นครหงส์ เป็นต้น

  ทั้งนี้จุดประสงค์ของโครงการสร้างเครือข่ายของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ OTOP ในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และประเทศเมียนมาร์ ก็คือเพื่อศึกษาทดลองตลาดของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ OTOP กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ในประเทศเมียนมาร์  เพื่อเจรจาจับคู่ธุรกิจให้กับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ OTOP กับคู่ค้าประเทศเมียนมาร์ เพื่อสร้างเครือข่ายของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ และผู้อุปโภค กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และประเทศเมียนมาร์ส่วนหน่วยงานเข้าร่วม ประกอบด้วย ภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ จำนวน 34  คน

       สำหรับผลที่คาดว่าจะได้รับ 1. ผลิตภัณฑ์ชุมชนของกลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ได้ยกระดับสู่สากล คือในประเทศเมียนมาร์ 2. มีการจับคู่ธุรกิจให้กับผู้ประกอบการผลิตสินค้า OTOP กับคู่ค้าประเทศเมียรมาร์ 3. ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ OTOP ในกลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีเครือข่ายที่เข้มแข็งและยั่งยืน

      เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่สำคัญไปกว่าความสำเร็จของการจัดกิจกรรมดูงานที่ประเทศพม่า ก็คือ จุดเริ่มต้นที่ดี และโอกาสสดใสในการลุยตลาดกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน CLMV ต่อไป

แสดงความคิดเห็น