วันจันทร์ ที่ 5 สิงหาคม 2562 ณ ห้องประชุมทองใบ ทองเปาด์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สมัชชาสิ่งแวดล้อมจังหวัดขอนแก่น “ตุ้มโฮม ฮักแพง แบ่งปัน เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีของคนขอนแก่น ” มีผู้เข้าร่วม จำนวน 700 คน จากภาครัฐ ภาคประชาสังคม เครือข่ายภาคประชาชน และนักเรียนนักศึกษา มีวัตถุประสงค์ 1. เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้สถานการณ์นโยบาย รูปธรรมการจัดการในพื้นที่ 2.เพื่อให้เครือข่ายภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและข้อเสนอต่อแนวทางการจัดการอย่างยั่งยืน
มีองค์กรร่วมจัดประกอบด้วย คณะทำงานประเด็นสิ่งแวดล้อม สมัชชาสุขภาพจังหวัดขอนแก่น องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ภาคีเครือข่ายด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจังหวัดขอนแก่น มูลนิธิชุมชนขอนแก่นทศวรรษหน้า ศูนย์ประชาสังคมและการจัดการองค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ กลุ่มวิจัยความอยู่ดีมีสุขและการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.) Spark U เทศบาลนครขอนแก่น สภาผู้ชมผู้ฟังไทยพีบีเอส สำนักงานยุติธรรมจังหวัดขอนแก่น สำนักงานคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
สำหรับสถานการณ์ในขอนแก่นที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมมีเรื่องการขยายตัวของอุตสาหกรรมและมลพิษ อุตสาหกรรมชีวภาพและโรงงานน้ำตาล เขตเศรษฐกิจชีวภาพ Bio-Economy เน้นผลิตเอทานอลใช้อ้อย มันสำปะหลัง ขยะและโรงไฟฟ้ากำจัดขยะ พืชเศรษฐกิจ สารเคมีทางการเกษตร การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ การผลิตอาหาร
“Bio Hub” ขอนแก่น ไร้ทางออก
ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ให้ความเห็นว่า Bio Hub คืออุตสาหกรรมที่ต่อยอดจากอุตสาหกรรมเกษตรแบบเดิม ซึ่งมีการการผลิตอาหาร คน-สัตว์ เครื่องดื่ม อาหารเสริม ยา เวชภัณฑ์ เครื่องสำอาง พลังงานไฟฟ้า สารตั้งต้นผลิตอาหาร สถาบันปิโตรเลี่ยมแห่งประเทศไทย เสนอให้ไทยเป็นผู้นำ
อุตสาหกรรมชีวภาพภายใน 20 ปี จัดตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งชาติ จัดตั้งศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพใกล้แหล่งผลิตวัตถุดิบ สร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภครองรับระยะที่ 1 ปี 2561-2568 ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบผลิตเชื้อเพลิง เคมี และพลาสติกชีวภาพ ระยะที่ 2 ปี 2569-2578 ใช้มันสำปะหลังและอื่นๆ เป็นวัตถุดิบ กรดชีวภาพ อุตสาหกรรมชีวภาพเป็นการเพิ่มมูลค่าเพิ่มจากพืชหลักคือ อ้อย มันสำปะหลัง ข้าว ยางพารา ในอีสานจะผุดโรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวมวล 29 แห่ง แต่ละแห่งต้องการพื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 3-4 แสนไร่ มีการแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายปี 2557
ดร.อุษา กลิ่นหอม นักวิชาการอิสระกล่าวว่าข้อมูลจำนวนประชากร การเติบโตของเมือง และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น โดยเฉพาะพื้นที่ป่าไม้ซึ่งมีเพียงแค่ประมาณ 2 ล้านไร่ ขณะที่จังหวัดขอนแก่นมีประชากรเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันจังหวัดขอนแก่นมีประชากรมากเป็นอันสองรองจากจังหวัดนครราชสีมา ทั้งยังเป็นพื้นที่ศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งภายในประเทศ และระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียนไม่ว่าจะเป็นพม่า ลาว เวียดนาม
นอกจากนี้หากพิจารณาเชิงนโยบายของภาครัฐแล้วจังหวัดขอนแก่นยังถูกวางให้เป็นพื้นที่สำคัญในการพัฒนาเรื่องศูนย์กลางการแพทย์ ศูนย์ประชุม และศูนย์กลางเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ ดังที่มีโครงการต่างๆ มากมายทั้งโครงการ Low carbon city, โครงการด้าน ICT, โครงการรถไฟความเร็วสูง(กทม.โคราช-หนองคาย) โครงการก่อสร้างคลังน้ำมัน (อยู่ใกล้แม่น้ำ 2 สาย) เป็นต้น ซึ่งนอกจากการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรฯ ของคนในประเทศแล้วก็มีแนวโน้มของการเข้ามาของคนต่างถิ่นด้วย เช่นปัจจุบันเราพบแล้วว่ามีคนจีนเข้ามาซื้อคอนโดอาศัยอยู่ในจังหวัดขอนแก่นเยอะมาก
ผลจากการพัฒนาดังกล่าว ไม่เพียงแค่ส่งผลต่อทรัพยากรฯ โดยตรงแล้ว ยังส่งผลต่อปัญหาสุขภาพกายรวมถึงสุขภาพจิตด้วย มีการกว้านซื้อที่ดินเกิดขึ้น เกิดการแย่งชิงทรัพยากรฯ เกิดปัญหาทางสังคมและสุขภาพตามมาแน่นอน คำถามคือเราพร้อมหรือยังจากการพัฒนาภาคอุสาหกรรมเหล่านี้??
ดร.อุษา ให้ความเห็นว่าประการสำคัญของการขับเคลื่อนประเด็นนี้คือ เรามักจะมองเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแบบแยกส่วน อีกประการหนึ่งคือเรายังมีข้อจำกัดด้านการรับรู้ข้อมูล เช่นที่ผ่านมารัฐบาลได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งศึกษาถึงผลกระทบจากรถไฟความเร็วสูง แต่เราก็ยังไม่เห็นผลการศึกษานี้ นอกจากนี้จังหวัดขอนแก่นยังถูกกำหนดในนโยบาย 20 ปี (ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี) ว่ามีแนวทางการพัฒนาบนฐานเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio economy) คือจะใช้เทคโนโลยี อุตสาหกรรม ในการพัฒนาโดยใช้ผลผลิตภาคเกษตรในพื้นที่เป็นวัตถุดิบ (เช่น ข้าว อ้อย) รวมถึงแผนผลิตพลังงานไฟฟ้าชีวมวล แผนต่างๆ ดังกล่าวแม้จะเกิดผลทางเศรษฐกิจและการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม แต่ก็เกี่ยวโยงถึงเรื่องป่าชุมชน การผลิตอาหารของคน อาหารสัตว์ และยารักษาโรค ที่สำคัญคือ การที่จังหวัดขอนแก่นจะเป็น hub ทั้งเรื่องการคมนาคมขนส่ง การผลิตภาคอุตสหกรรม เป็นเมือง carbon ต่ำ จะมีการพัฒนาปรับปรุงเรื่องขยะ มีการแปรขยะเป็นพลังงาน ต่างๆ เหล่านี้ คำถามคือ เขาได้บอกประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับเรื่องพวกนี้หรือยัง? ข้อมูลจากดัชนีความก้าวหน้าของคน (HAI) ขอนแก่นเคยก้าวหน้าโดดเด่นเป็นอันดับ 3 เรื่องชีวิตครอบครัวและชุมชน สิ่งที่น่าคิดคือการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากโครงการต่างๆที่กล่าวมา เราจะทำอย่างไร เราคิดว่าดัชนีเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงอย่างไรจากการมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเป็นหลัก (น่าจะเอาเป็นมาตรฐานไว้เปรียบเทียบ)
ปัจจุบันด้านสิ่งแวดล้อมเราพบว่า จังหวัดขอนแก่นมีฝุ่นละอองเป็นอันดับหนึ่งของภาค อันดับ 9 ของประเทศ เรามีขยะสะสมอยู่เกือบ 7 แสนตัน/ปี หมายความว่าปัจจุบันเราไม่สามารถกำจัดได้แล้วอนาคตถ้าอุตสาหกรรมพัฒนาเราจะจัดการอย่างไร เราจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกเท่าไหร่ ขณะที่ปัจจุบันพื้นที่ป่าที่สามารถช่วยดูดซับก๊าซมีน้อย เรื่องปัญหาสุขภาพเราพบประชากรเป็นโรคติดเชื้อ และโรคอื่นๆ รวมทั้งโรคเกี่ยวกับประสาท ที่กล่าวมานี้เชื่อมโยงถึงกันหมด ดังนั้นการดำเนินการภาคอุตสาหกรรมต้องมีการศึกษาเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมด้วย และควรมีระบบเฝ้าระวังที่ดี
ข้อเสนอแนะคือ
- ควรมีการศึกษาถึงผลกระทบจากโครงการพัฒนาอย่างถี่ถ้วน และพิจารณาเรื่องภาษีคาร์บอนร่วมด้วย
- ควรมีการจัดตั้งกองทุน เพื่อเป็นหลักประกันผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการพัฒนาทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยมีการบริหารกองทุนแบบมีส่วนร่วม
- จัดตั้งกลุ่มเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงโดยใช้ความรู้ภูมิปัญญาและวิทยาศาสตร์ร่วมกัน
ข้อคิดเห็น
เรื่องสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขง ที่สำคัญคือการสร้างเขื่อนของประเทศจีน ประกอบกับการดูดทราย ขุดลอกตะกอน และปัญหาเรื่องเกลือสินเธาว์ ปัญหาของเรานอกจากเรื่องน้ำแล้ว ถ้าเราจัดการเรื่องน้ำได้ ก็เป็นปัญหาเรื่องผลผลิตภาคเกษตร ผลิตได้แล้วเราเอาไปขายไหน ที่กล่าวมาคือทุกเรื่องเชื่อมโยงกันหมด เราควรร่วมพลังกับขับเคลื่อนและเชื่อมโยงต่อไปถึงระดับนโยบาย
เสนอว่าประเด็นที่เราพูดมาทั้งหมดเป็นข้อมูลสำคัญ น่าจะมีการนำข้อมูลนำเสนอผ่านเพจ(สื่อสังคมออนไลน์) เพื่อรณรงค์ให้คนขอนแก่นที่ไม่ได้เข้าร่วมรับฟังวันนี้รับทราบ และตระหนักว่าทั้งหมดเกี่ยวข้องกับพวกเขาโดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งคาดว่าเขาไม่รู้ข้อมูลเหล่านี้เลย
ช่วงบ่ายมีประเด็นห้องย่อย ห้องที่ 1 ประเด็น การจัดการน้ำ และ ปัญหาสารเคมีในการเกษตร ห้องที่ 2 ประเด็นมลพิษทางอากาศ และ ประเด็นการจัดการขยะ ห้องที่ 3 ประเด็นการจัดการป่า โดยสรุปประเด็นร่วมได้คือ การพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐ ประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การจัดทำข้อมูลสารสนเทศ ดิน น้ำ ป่า ขยะ ฝุ่น ให้มีการรวมกลุ่ม แลกเปลี่ยนอันนำไปสู่การแก้ไข สื่อสารรับรู้ ข้อดี ข้อเสีย วางแผนร่วมกัน การรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายเดียวกัน มาตรการทางกฎหมายอยากเห็นคนขอนแก่นมีสิ่งแวดล้อมที่ดี
ด้านนายทรงศักดิ์ ทองไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า หน้าที่ของสภาอุตสาหกรรมคือ ดูแลเพื่อนสมาชิกผู้ประกอบการให้ดำเนินกิจการได้อย่างคล่องตัว และ ปรึกษาหารือหาทางออก พร้อมกับช่วยสอดส่องดูแลให้การประกอบกิจการเป็นที่พึ่งของสังคม ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
“ในกรณีกระทิงแดงที่เข้ามาดำเนินกิจการเมื่อครั้งที่ก่อนที่เป็นข่าวใหญ่โตและต้องยกเลิกการดำเนินการเป็นเพราะ ผู้ประกอบการไม่เข้ามาปรึกษาเราก่อน แต่เข้ามาดำเนินการก่อนและเข้ามาดำเนินการซื้อที่ดิน พอเกิดปัญหา แล้วค่อยมาหาเรา เราก็ช่วยประสานให้ดำเนินการให้ถูกต้อง แต่กระดุมเม็ดแรกติดผิดจึงแก้ไขไม่ทันและจำเป็นต้องถอย สำหรับในเรื่องโรงงานน้ำตาลที่จะสร้างที่บ้านไผ่ก็เช่นกัน เราไม่ทราบข้อมูลมาก่อน เกรงว่าดำเนินการไปแล้วอาจจะสร้างติดขัดปัญหาเหมือนดังกรณีของกระทิงก็เป็นได้” นายทรงศักดิ์ ย้ำถึงบทบาทการทำงานของสภาอุตสาหกรรม
หากมีโครงการพัฒนาเศรฐกิจที่จะเข้ามาดำเนินการในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ตนก็ขอย้ำให้ผู้ประกอบการดำเนินการบนพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันของชุมชน ผู้ประกอบการอยู่ได้ ชุมชนอยู่ ทุกฝ่ายได้ประโยชน์เพราะขอนแก่นเป็นจุดศูนย์กลางของการพัฒนาภูมิภาค
ผู้ว่าฯขอนแก่น ลั่นไม่คิดร้ายขอนแก่น
โดยมี ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น รับฟังข้อสรุปทั้ง 3 กลุ่มและได้ให้ข้อมูลว่าจังหวัดขอนแก่นมีรายได้ประชากรปี 2560 เป็นเงิน 117,560 บาท/คน/ปี อันดับที่ 1 ของภาคอีสานและ 31 ของประเทศ ทำเลที่ตั้งขอนแก่น เป็นอุตสาหกรรมสีเขียว ศูนย์กลางการแพทย์-สาธารณสุข ศูนย์กลางคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ ศูนย์กลางการค้าและบริการ ศูนย์การประชุม-การท่องเที่ยว ศูนย์กลางการศึกษา
“และผมในฐานะที่เป็นลูกหลานชาวขอนแก่นเกิดที่ชุมแพ แต่ไปเรียนหนังสืออยู่กรุงเทพ แต่ภายหลังได้มีโอกาสรับราชการและกลับมาเป็นผู้ที่ที่นี่ ผมไม่เคยมีเจตนาจะคิดร้ายกับขอนแก่น วอนทุกคนร่วมกันดูข้อมูล อันไหนดีบอกกัน อันไหนไม่ดี ช่วยกันพิจารณา ผมมาเป็นผู้ว่าปีแรก เจอน้ำท่วมผนังกั้นน้ำขาด 35 เมตร ต้องตัดสินใจรักษาผลประโยชน์คนหมู่มาก ปัจจุบันผมโดนฟ้องศาลปกครอง แต่ไม่เป็นไรหากไม่ทำจะเสียมากกว่าได้ โครงการฯไหนดีผมก็ยากทำเพื่อให้คนขอนแก่นมีรายได้ แต่ต้องคิดกันหลายตลบเพื่อไม่ให้กระทบกับพี่น้องประชาชน” ผู้ว่าฯขอนแก่น เปิดใจกับเวทีสมัชชาสิ่งแวดล้อมจังหวัดขอนแก่น
ช่วงท้ายของงาน นายวิรัช มั่นในบุญธรรม ประธานคณะกรรมการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมจังหวัดขอนแก่นได้มอบปฏิญญาสิ่งแวดล้อม แก่ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ถ่ายรูปร่วมกันและปิดการประชุม
ปฏิญญาสมัชชาสิ่งแวดล้อม จังหวัดขอนแก่น
เราชาวขอนแก่น อันประกอบด้วย องค์กรภาคประชาชน หน่วยงานการศึกษา หน่วยงานราชการ หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานเอกชน องค์กรสาธารณะประโยชน์ต่าง ๆ และภาคประชาสังคม จังหวัดขอนแก่น ได้มองเห็น กระแสการพัฒนา ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีทั้งเหตุปัจจัยที่ส่งผลดี และผลเสีย ต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสุขภาวะของประชาชน ทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว นโยบายรัฐบาล มุ่งพัฒนา เพื่อแก้ปัญหา ในภาพรวม ซึ่งอาจจะเป็นข้อจำกัด ในการทำงานในระดับพื้นที่
ภาคประชาชน และหน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัดขอนแก่น ขอเป็นส่วนผลักดัน ให้เกิดกลไก การดูแลทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม รวมถึง การบูรณาการความร่วมมือ เพื่อแก้ไขปัญหา ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เราจะดำเนินการร่วมกัน ด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ คำนึงถึงผู้คนทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ คำนึงถึงผลกระทบในระยะสั้น และระยะยาว เพื่อให้คนในจังหวัดขอนแก่น มีสุขภาวะที่ดี ทั้ง กาย ใจ และปัญญา อย่างยั่งยืน