ชาวนาบ้านโต้นมีความหวัง หลัง ม.ขอนแก่น จัดโครงการ “แปลงสาธิตการทำนาแบบโยนกล้า” บนพื้นที่แปลงนาเกษตรกร 2 ราย เพื่อเป็นทางเลือกของการทำนาแบบลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ตลอดจนควบคุมวัชพืชได้ดี แทนการปลักดำแบบเดิม
ต้องยอมรับว่า พัฒนาการของการทำนา มาถึงวันนี้มีหลากหลายรูปแบบที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ไม่แต่เฉพาะนาดำกับนาหว่านอีกต่อไป และที่น่าสนใจไปกว่านั้น ยังช่วยแก้ปัญหาลดต้นทุนการผลิต และการลดใช้สารเคมีในการปราบวัชพืชได้เป็นอย่างดีด้วย อย่างกรณีการทำนาแบบโยนกล้าก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ของพัฒนาการที่เกิดขึ้น
รองศาสตราจารย์ ดร.เกรียงไกร กิจเจริญ ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ มข.กล่าวว่า “เทคนิควิธีการทำนาในปัจจุบันได้มีการพัฒนาไปมากมาย เช่น การตกกล้า ปักดำด้วยแรงงานคน การหว่านแห้ง การหยอดแถวด้วยเครื่องมือเครื่องจักรแบบต่างๆ การหว่านน้ำตม การโรยเมล็ด หรือแม้แต่การโยนกล้า ซึ่งมีความหลากหลายตามสภาพพื้นที่ ความต้องการและความชอบของเกษตรกร การปลูกข้าวด้วยวิธีการโยนกล้า เพื่อให้เป็นทางเลือกในพื้นที่ และการจัดโครงการในวันนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นแปลงต้นแบบการทำนาโยนกล้า ให้เกษตรกร นักเรียน ประชาชนทั่วไป ได้มีความรู้เกี่ยวกับการปลูกข้าวแบบโยนกล้า นำไปปฏิบัติในแปลงของตนเองและถ่ายทอดความรู้ต่อให้กับเกษตรกรที่สนใจได้ ส่งเสริมให้ชุมชนมีกิจกรรมร่วมกัน ตลอดจนการปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกข้าวเพื่อลดต้นทุน”
นายสัมภาษณ์ ศรีหงส์ นายอำเภอพระยืน กล่าวว่า “นาโยน หรือ การปลูกข้าวแบบโยนกล้า เป็นการทำนาแบบใหม่ที่เป็นการผสมผสานกันระหว่างนาดำ กับนาหว่านน้ำตม เป็นวิธีการโยนตุ้มต้นกล้าที่เพาะไว้แล้วลงในแปลง ซึ่งสามารถนำมาใช้แทนการถอนกล้าปักดำด้วยแรงงานคน และการปักดำด้วยเครื่องได้ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่า แต่ได้ผลผลิตไม่แตกต่างจากการปักดำด้วยเครื่อง หรือด้วยคน หรือการหว่านน้ำตม ที่สำคัญ คือสามารถควบคุมวัชพืชโดยเฉพาะข้าววัชพืชที่กำลังระบาดอย่างรุนแรงได้ผลเป็นอย่างดี นอกจากนั้นยังเป็นการช่วยลดปริมาณการใช้เมล็ดพันธุ์ และสารเคมีกำจัดวัชพืชเป็นการทำนาแบบประณีต เพื่อพึ่งพาตนเองได้และการทำนาโยน ซึ่งเป็นการทำนาแบบลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต ท้ายนี้ ขอขอบคุณ สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เทศบาลตำบลบ้านโต้น และสำนักกิจกรรมเพื่อสังคมเครือเบทาโกร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โรงเรียน นักเรียน และชุมชน ที่ให้ความร่วมมือจัดโครงการแบบบูรณาการในครั้งนี้เป็นอย่างดี วันนี้เป็นการเริ่มต้นในการทำนาโยน ที่จะทำให้ได้ผลผลิตที่ดีมีข้าวที่ดีได้ราคาต่อไป”
ทั้งนี้ อาจารย์เชาว์วัช หนูทอง วิทยากรผู้ที่มีความรู้ เป็นต้นแบบเทคโนโลยีการปลูกข้าว “นาโยน” จากจังหวัดลพบุรี ได้ถวายงานเบื้องพระยุคลบาทสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2562 ที่โรงเรียนวินิตศึกษาจังหวัดลพบุรีที่ผ่านมา และกล่าวว่าพระองค์ทรงชื่นชอบการปลูกข้าวนาโยน โครงการแปลงสาธิตการทำนาแบบโยนกล้าที่บ้านโต้น เกษตรกรต้นแบบของตำบลบ้านโต้นที่ได้รับคัดเลือกในการร่วมโครงการแปลงสาธิตการทำนาแบบโยนกล้ามี จำนวน 2 ราย คือ นางสมภาร ผาเป้า และนายบุญส่ง ราชวงศ์ นับถือว่าเป็นการนำนวัตกรรมใหม่ในการทำนาที่จะช่วยประหยัดต้นทุนมาปรับใช้ในพื้นที่ตำบลบ้านโต้นต่อไป