มรภ.อุดรฯ เปิดตัวผ้าทอมืออีสานสู่งานแฟชั่นโชว์สุดอลังการ

มรภ.อุดรธานี ยกระดับผ้าทอมืออีสาน สู่งานแฟชั่นโชว์สุดอลังการ! ในงาน “แฟชั่น นวัตกรรมผ้าและสิ่งทอชุมชน ครั้งที่ 1″ 19-21 ส.ค. นี้ ณ เซ็นทรัลพลาซ่า อุดรธานี

ที่ห้องประชุมชั้น 2 อาคารศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี , ผศ.จรูญ ถาวรจักร อธิการบดี มรภ.อุดรธานี , ผศ.ดร.ธีระยุทธ เพ็งชัย หน.ศูนย์ออกแบบสร้างสรรค์ผ้าและสิ่งทอ (FTCDC) มรภ.อุดรธานี ร่วมแถลงข่าวงาน “แฟชั่น นวัตกรรมผ้าและสิ่งทอชุมชน ครั้งที่ 1” (FASHION & INNOVATION IN FABRIC AND TEXTILE UDRU SHOWCASE 2019) 19-21 ส.ค.นี้ ชั้น 1 ห้างเซ็นทรัลพลาซ่าอุดรธานี โดยมี ผศ.พิมพ์สิริ ชูศรีโฉม คณะวิทยาการจัดการ พิธีกรดำเนินการ

นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี กล่าวว่า “ผ้าพื้นเมือง”สั่งสมมานานจากบรรพบุรุษ จากคำขวัญของอุดรฯว่า “ธานีผ้าหมี่ขิด” ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ว่าจะให้มีคนรู้จักอุดรฯผ่านผ้า หรือรู้จักผ้าผ่านอุดรฯ อาทิ ออกแบบผนังอุโมงค์ลายผ้า , ไบด์บล็อคลายผ้าบนถนน ให้เกิดภาพจำอุดรธานี ส่งแรงกระเพื่อมซื้อ-ขายของฝาก ช่วยลดความเลื่อมล้ำ เรามีตลาดผ้านาข่า , งานมหกรรมผ้าทอมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มรภ.อุดรธานี ถือเป็นขุมพลังสำคัญ ที่จะช่วยเดินไปข้างหน้า ทั้งงานวิจัย , วิชาการ , หลักสูตร , ศูนย์ FTCDC และการจัดงานครั้งนี้ ถือเป็นอีกงานที่พลาดไม่ได้

ผศ.จรูญ ถาวรจักร อธิการบดี มรภ.อุดรธานี กล่าวว่า เรามีบทบาทของสถานบันอุดมศึกษาเพื่อท้องถิ่น ตอบสนองแผนพัฒนาชาติ และผ่านพัฒนาจังหวัด นอกจากงานเกี่ยวกับพันธะกิจ จะผสมผสานกับการทำงานในพื้นที่ จากข้อมูลทำให้ศูนย์ FTCDC จึงเกิดขึ้น ด้วยงบประมาณของมหาวิทยาลัยฯ ในการรวบรวมภูมิปัญญาผ้าทอมือ , การพัฒนากระบวนการผลิต เส้นใย สีย้อม จากธรรมชาติ , ยกระดับสร้างมูลค่า และส่งต่อยั่งยืน โดยให้เกิดการส่งออกใหม่ๆ

ผศ.ดร.ธีระยุทธ เพ็งชัย หน.ศูนย์ออกแบบสร้างสรรค์ผ้าและสิ่งทอ (FTCDC) มรภ.อุดรธานี กล่าวว่า ศูนย์ FTCDC มีเป้าหมายใน 5 ปี (62-66) 4 ประการ คือ ศูนย์รวบรวมองค์ความรู้ ภูมิปัญญา วัฒนธรรม เป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญา นวัตกรรมเส้นใย-ย้อมสีธรรมชาติ , สร้างหลักสูตรเครื่องแต่งกาย , บริการทางวิชาการสั้น-ยาว และพิพิธภัณฑ์ผ้าพื้นเมือง เพื่อรวบรวมเผยแพร่ผลงาน

“ เราได้รวบรวมงานวิจัย เส้นใยทางธรรมชาติ ถักทอเป็นผืนผ้าด้วยมือ ฟอกย้อมสีธรรมชาติ ปี 63 จะสามารถรับรองผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติได้ และนำมาออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ (เสื้อผ้า-รองเท้า-กระเป๋า-เครื่องประดับ-อื่นๆ) จนปีนี้เปิดหลักสูตรการออกแบบผลิตภัณฑ์มี นศ.30 คน พร้อมเปิดหลักสูตรบริการชุมชนระยะสั้น ขณะความคืบหน้าพิพิธภัณฑ์ ได้รับมอบผ้าทอมือโบราณ 1,999 เมตร อายุกว่า 35 ปี ได้นำมาบันทึกลวดลาย และแกะลายพร้อมทอใหม่ 600 ลาย เตรียมจัดพิมพ์เผยแพร่ในปีหน้า ”

ผศ.ดร.ธีระยุทธ เพ็งชัย หน.ศูนย์ FTCDC มรภ.อุดรธานี กล่าวด้วยว่า งาน “แฟชั่น นวัตกรรมผ้าและสิ่งทอชุมชน ครั้งที่ 1” นำเสนอเรื่องของผ้า แฟชั่น เครื่องประดับ (รองเท้า-กระเป๋า) และอื่นๆ ที่เกิดจาก เส้นใยจากอะไร-สีย้อม-วิธีย้อม-การถักทอ เป็นผืนผ้าได้จากธรรมชาติ อาทิ ฝ้าย-ไหม-อื่นๆ เพื่อถักทอและย้อมด้วยวิธี มัดหมี่-ขิด-คราม-อื่นๆ ผ่านนิทรรศการ จากกี่ใต้ถุน …สู่นวัตกรรมแฟชั่นสิ่งทอ การแสดงผลิตภัณฑ์ , การสาธิต และจำหน่ายสินค้า

“ ศูนย์ FTCDC มรภ.อุดรธานี ได้เตรียมแฟชั่นจากเส้นใย-สีย้อมธรรมชาติ มาให้เห็นและสัมผัสมากกว่า 40 ชุด พบนางแบบกิตติมศักดิ์ “ฟ้าใส ปวีณสุดา” มีสยูนิเวิรส์ ไทยแลนด์ 2519 พร้อมนางแบบ-นายแบบสมัครเล่นจาก นศ.มรภ.อุดรธานี ซึ่งหลายชุดที่นำมาเดินแฟชั่นครั้งนี้ กำลังพิจารณาเลือก นำไปแสดงแฟชั่นในต่างประเทศ ทั้งเอเชียและยุโรป ”

 

แสดงความคิดเห็น