จิตแพทย์โคราช เผย คนไทยชีวิตสมรสหย่าร้างกว่า 1 แสนคู่ เฉลี่ยวันละ 333 คู่ แนะพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวคงบทบาทครอบครัวให้ลูกต่อเนื่อง
แพทย์หญิงกรองกาญจน์ แก้วชัง รองผู้อำนายการด้านการแพทย์และประธานทีมนำทางคลินิก โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา เปิดเผยเกี่ยวกับปัญหาการหย่าร้างของครอบครัวไทย ว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สถิติของกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย ล่าสุดในปี 2560อัตราการหย่าร้างเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 41 มีผู้จดทะเบียนสมรส 297,501 คู่ หย่า 121,617 คู่ เฉลี่ยหย่าวันละ 333 คู่ จังหวัดที่มีจำนวนหย่าร้างสูงที่สุดในปี 2560 อันดับ 1 คือ กทม. 16,187 คู่ รองลงมา คือ ชลบุรี 6,476 คู่ และนครราชสีมา 4,572 คู่ สาเหตุของการหย่าร้างในปัจจุบันนี้ อาจเนื่องมาจากลักษณะของครอบครัวยุคใหม่ เป็นครอบครัวเดี่ยว คือ อยู่กันเฉพาะพ่อแม่ลูก ทำให้มีความเปราะบางและจากแรงกดดันภายนอก สามีภรรยาใช้เวลาส่วนใหญ่กับการทำงานนอกบ้าน อาจเกิดความเครียดทั้งจากหน้าที่การงาน สภาวะสังคมและเศรษฐกิจ เช่น ภาระหนี้สินต่างๆ ทำให้ต้องทำงานหนักมากขึ้น ขณะเดียวกันความอดทนต่อปัญหาในครอบครัวอาจน้อยลงเนื่องจากทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีงานทำมีรายได้
การหย่าร้าง เป็นการสิ้นสุดอย่างหนึ่งของชีวิตสมรส เกิดขึ้นได้ทั่วไป ไม่ใช่เรื่องผิดปกติหรือเป็นความผิดของใคร ซึ่งจะมีผลกระทบต่ออารมณ์จิตใจทำนองการสูญเสีย ประเด็นสำคัญที่สุดแม้ว่าชีวิตสมรสจะสิ้นสุด แต่ความเป็นครอบครัวของลูกต้องไม่สิ้นสุดหรือสลายตามไปด้วย ทั้ง 2 คน ยังคงต้องทำบทบาทพ่อและแม่ของลูกตลอดไปไม่ว่าลูกจะอยู่กับฝ่ายใดก็ตาม เพื่อลดปัญหาและผลกระทบต่อจิตใจลูกที่อาจตามมาในภายหลังให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะปฏิกิริยาสูญเสีย เช่น เด็กอาจว้าวุ่นใจ ก้าวร้าว หงุดหงิด ซึมเศร้า ผลการเรียนตกต่ำ เป็นต้น
แพทย์หญิงกรองกาญจน์ แก้วชัง กล่าวต่อว่า สิ่งที่พ่อแม่ควรทำหลังหย่าร้างมี 4 ประการไม่ว่าเด็กจะอยู่กับใครก็ตาม ได้แก่ 1.ต้องให้ความมั่นใจกับเด็กว่า การที่พ่อแม่แยกทางกันไม่ใช่มีสาเหตุมาจากลูกและยังคงรักลูกเหมือนเดิม ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เนื่องจากเด็กมีระบบความคิดที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ มักจะเข้าใจว่าตนเองเป็นสาเหตุทำให้พ่อแม่แยกทางกัน เช่นดื้อ เรียนไม่ดี 2. บอกความจริงแก่เด็ก เป้าหมายสำคัญคือการให้ความมั่นใจอนาคต จะทำให้การปรับตัวของเด็กในระยะยาวดีกว่า การปิดบังเด็กเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง จะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้ง หรือคิดว่าตนเองเป็นคนผิด ทำให้มีปัญหาการปรับตัว 3.พยายามรักษาสภาพความเป็นอยู่ให้ใกล้เคียงกับชีวิตเดิมของลูกที่สุดเท่าที่จะทำได้ และ4.ปฏิบัติต่อเด็กด้วยความรักความใส่ใจเหมือนเดิม ทั้งหมดนี้จะทำให้เด็กใช้ชีวิตอย่างมีความสุขตามวัย ไม่เกิดบาดแผลทางใจหรือปมในใจ ติดตัวไปตลอดชีวิต
ส่วนสิ่งที่พ่อหรือแม่ไม่ควรทำกับลูกเป็นอย่างยิ่งภายหลังหย่าร้าง มี 4 ประการคือ 1. การด่าหรือเล่าความไม่เอาไหนของอีกฝ่ายหนึ่งให้ลูกฟัง ซึ่งมักจะเกิดจากพ่อหรือแม่มีความเจ็บปวด ทนทุกข์กับการกระทำของอีกฝ่าย จะเป็นการสร้างความเกลียดชังเกิดขึ้นในใจของเด็กและทุกข์ทรมานใจไปตลอดชีวิต 2. การดึงลูกให้เข้ามาเป็นพวกกับฝ่ายของตน เช่น บางคนกีดกัน แสดงความไม่พอใจเมื่อลูกไปคุยกับอีกฝ่าย บางคนพูดให้ลูกรู้สึกผิด เช่น ถ้าลูกไปคุยกับพ่อ แปลว่าลูกไม่รักแม่ เป็นต้น 3. การใช้ลูกเป็นสื่อกลาง ส่งสารระหว่างพ่อกับแม่ที่ไม่พูดกัน 4. บังคับให้เด็กเลือกว่าจะอยู่กับใคร จะทำให้เด็กรู้สึกผิดอย่างมากกับฝ่ายที่เขาไม่ได้
ท้ายนี้ เรื่องที่พ่อแม่ควรคำนึงไว้เสมอก็คือ ในส่วนลึกของใจเด็กยังรักยังโหยหาพ่อแม่ของเขาอยู่เสมอ เพราะลูกไม่มีคำว่าอดีตพ่อหรือแม่ ดังนั้นจึงไม่ควรห้ามลูกพูดถึงพ่อหรือแม่ที่เขาขาดไป ควรให้เด็กระบายความรู้สึก ควรเห็นใจและเข้าใจในความต้องการของเขา