การออม คือ การแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งเก็บสะสมไว้เพื่อใช้จ่ายในอนาคต เช่น ออมเงินไว้เพื่อเป็นทุนการศึกษา ออมเงินเพื่อซื้อสิ่งที่ตนเองอยากได้ หรือออมเงินไว้ใช้ในกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินหรือเราไม่มีรายได้เข้ามา ซึ่งเราควรมีเงินออมเผื่อไว้อย่างเพียงพอ ประมาณ 3 – 6 เท่าของรายจ่ายในแต่ละเดือนของเรา
ตอนเด็กๆ เราอาจคุ้นเคยกับการออมโดยการหยอดเงินใส่กระปุกออมสิน แต่หากเราต้องการผลตอบแทนจากการออมด้วยก็อาจนำเงินไปฝากในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ หรือบัญชีเงินฝากประจำของสถาบันการเงินปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเราเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการใช้บริการ Mobile Banking Application ซึ่งทำให้เรามีความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงิน เช่น
- เมื่อมีรายได้เข้ามาในบัญชี เราสามารถแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งเป็นเงินออมได้ทันที ทำให้เราทราบว่ารายได้ที่เหลือมีเท่าไหร่และจะนำไปใช้จ่ายอะไรได้บ้าง
- สามารถกำหนดวัตถุประสงค์การออมที่ชัดเจน และแยกบัญชีในการออมเงิน เพื่อให้สามารถออมเงินได้ตามเป้าหมายและตามระยะเวลาที่กำหนด เช่น ออมเงินเป็นค่าเทอมบุตร ออมเงินเป็นค่าวางเงินดาวน์บ้าน เมื่อมีรายได้เข้ามาก็สามารถโอนเงินไปยังบัญชีดังกล่าวได้ทันที
- ปัจจุบันมีร้านค้าจำนวนมากที่รับการชำระเงินผ่านการโอนเงินทาง Mobile Banking Application ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการติดตามธุรกรรมทางการเงินของเรา และเป็นประโยชน์ในการตรวจสอบค่าใช้จ่าย ช่วยให้เห็นรายรับ-รายจ่ายของตนเอง และทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลงได้ ส่งผลให้มีเงินออมเพิ่มขึ้นอีกด้วย
จะเห็นได้ว่าหากเรารู้จักนำเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันมาใช้จะทำให้เกิดประโยชน์และช่วยให้เราสะดวกสบายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออมเงินผ่าน Mobile Banking Application ที่ช่วยลดระยะเวลาและต้นทุนในการเดินทางไปติดต่อกับสถาบันการเงิน นอกจากนั้นยังมี Website ต่างๆ ที่สามารถใช้เป็นแหล่งข้อมูลประกอบการวิเคราะห์ในการออมหรือฝากเงินเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนตามที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างรวดเร็ว หากเราไม่ติดตามและเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ เราก็จะเสียโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จากสิ่งใหม่ ๆ เหมือนกับคำกล่าวที่ว่า “ถ้าเราหยุดในขณะที่คนอื่นกำลังก้าว ในที่สุดเราก็จะล้าหลัง” เริ่มต้นการออมกันตั้งแต่วันนี้ และอย่าหยุดออม รวมทั้งรู้จักนำเทคโนโลยีต่างๆมาใช้ อย่าลืมนะคะ“ออมก่อน รวยก่อน” ค่ะ
————————————————————————————————
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
บทความโดย:นางสาวศศุภร ปลั่งพงษ์พันธ์ผู้วิเคราะห์อาวุโส ส่วนคุ้มครองและให้ความรู้ผู้ใช้บริการทางการเงินธปท. สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ