ขอนแก่นปั้น น้ำพอง, บ้านไผ่, ชนบท, ชุมแพ, ภูเวียง, เวียงเก่า เป็นสมาร์ทซิตี้ ผู้ว่าฯเผยมีความโดดเด่นในแต่ละด้าน ที่พร้อมแล้ว
ภาพจาก https://www.aftermarketnews.com
จากข้อมูลของ depa จังหวัดขอนแก่น ได้รับการประกาศให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (smart city) นำร่อง 1 ใน 7 ของประเทศไทยของรัฐบาล ร่วมกับจังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และกรุงเทพมหานคร โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะระดับจังหวัดของจังหวัดขอนแก่น จัดทำแผนนำร่องกรอบการขับเคลื่อนสมาร์ทซิตี้ในระดับสากล อันประกอบด้วย smart mobility, smart living, smart citizen, smart economy, smart environment, smart governance มาพิจารณากลั่นกรอง จนกระทั่งได้ความต้องการในพื้นที่ (area-based needs) เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดเป็นผลและรูปธรรม
นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กว่าจังหวัดขอนแก่นจะกลายเป็นเมืองสมาร์ทซิตี้ได้ ต้องพิจารณาหลายอย่างเป็นองค์ประกอบ ทั้งความเจริญ ความพร้อมของผู้คน ศักยภาพหลายด้านที่เข้ามาเติมเต็ม ซึ่งการใช้ big data คือสิ่งสำคัญ โดยระบบข้อมูลของจังหวัดจะถูกนำมาพัฒนาด้วยการแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.ภาพรวมทั้งหมด ซึ่งต้องนำมาออกแบบแผนงานและการทำงาน เช่น ข้อมูลด้านสุขภาพของประชากร ข้อมูลด้านอาชีพ เป็นข้อมูลที่ใช้ในการฉายภาพรวมทั้งหมด 2.การวิเคราะห์ข้อมูลแบบย้อนหลัง 10 ปีที่ผ่านมา และคาดการณ์อนาคตในอีก 20 ปี โดยแยกแยะกิจกรรมทางเศรษฐกิจออกเป็นภาคการเกษตร และนอกภาคการเกษตร ที่ประกอบไปด้วย พาณิชยกรรม การบริการ การศึกษา และอุตสาหกรรม 3.ข้อมูลพิเศษที่ต้องพิจารณาข้อเท็จจริง
ดร.สมศักดิ์ จังตะกุล ผวจ.ขอนแก่น
“สิ่งที่เห็นจากข้อมูลมีตัวเลขบ่งบอกว่า จังหวัดขอนแก่นมีรายได้จากภาคการเกษตร คิดเป็นผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) ไม่เกิน 11% และจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพในภาคการเกษตรให้เพิ่มขึ้น ทั้งด้านทุติยภูมิ และตติยภูมิ ให้สอดรับกับแนวคิดในการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม โดยใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์และการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน เพื่อขับเคลื่อนจังหวัดร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ”
ทั้งนี้ จุดแข็งของจังหวัดขอนแก่นที่จะสามารถดึง big data เข้ามาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพคือ รัฐบาลได้วางโครงสร้างระบบโลจิสติกส์ไว้รอบทิศ ไม่ว่าจะเป็นระบบราง มอเตอร์เวย์ สนามบินที่กำลังขยายตัวพร้อมรองรับผู้คน รวมถึงการมีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญในการมีบุคลากรร่วมกว่า 8 หมื่นคนที่มีกำลังซื้อ แต่ระบบทุกอย่างต้องได้รับการดูแล เพื่อกระจายความเจริญให้ออกไปนอกเขตเมือง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยในปี 2562 จังหวัดขอนแก่นได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา พร้อมงบประมาณ 25 ล้านบาท จากงบประมาณยุทธศาสตร์จังหวัด 360 กว่าล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 7-8% เพื่อมาพัฒนาเรื่องสมาร์ทซิตี้ของจังหวัดโดยเฉพาะ
นายสมศักดิ์บอกว่า การพัฒนาจังหวัดในปีงบประมาณ 2563 จะแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ เมืองใหม่ กับเมืองเดิม เพื่อจะประกาศให้เป็นสมาร์ทซิตี้เพิ่มเติม หากสํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ให้การสนับสนุน ซึ่งมีการวางแผนพิจารณา 6 อำเภอ ได้แก่ 1.อำเภอน้ำพอง 2.อำเภอบ้านไผ่ 3.อำเภอชนบท 4.อำเภอชุมแพ 5.อำเภอภูเวียง 6.อำเภอเวียงเก่า
“3 อำเภอแรก คือ อำเภอบ้านไผ่ อำเภอชุมแพ อำเภอน้ำพอง จะเป็นหัวเมืองใหญ่บริวารของจังหวัดขอนแก่น รองรับและเป็นหน่วยที่ให้บริการด้านต่าง ๆ เช่น อำเภอบ้านไผ่ จะมีทั้งโครงการขนส่งระบบรางหลายสายมาตัดกัน โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการเร่งรัดการพัฒนารถไฟทางคู่ เพื่อเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก เพื่อรองรับนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาล และการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางและตอนบน
ขณะที่อำเภอน้ำพอง ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัด มีแผนจะพัฒนาท่าเรือบก (dry port) ภายในปี 2565-2568 เพื่อนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค เราต้องเตรียมการพัฒนาผังเมืองว่าต้องตีกรอบอย่างไร ทั้งถนน โรงพยาบาล เป็นต้น และอำเภอชุมแพที่อยู่ทางทิศตะวันตกที่จะเป็นศูนย์กลางการพัฒนาระบบการแพทย์ทางไกล หรือเทเลเมดิซีน (telemedicine) ส่วนอีก 3 เมืองจะโดดเด่นทางด้านหัตถกรรมผ้าไหม และฟอสซิลไดโนเสาร์ พิพิธภัณฑ์ที่เราพยายามยกให้เป็นอุทยานธรณีวิทยาในระดับประเทศในปี 2562 นี้ให้ได้”
ที่มา https://www.facebook.com/prkhonkaen/?epa=SEARCH_BOX