“เมกูมิ โมริโมโต้” แม่บ้านชาวญี่ปุ่นเดินทางมาเรียนปริญญตรีด้านอาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตสกลนคร เธอสร้างปรากฏการณ์ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ ด้วยภาพการไปขวางทางบนฟุตบาทไม่ยอมให้คนขี่มอเตอร์ไซค์ สื่อทุกแขนง และ Social media นำเสนอวีรกรรมของเธอ นี่ถ้าเธอเป็นคนไทยปฏิกิริยาในข่าวจะออกมาในรูปใด?
คนไทยนิ่งเฉย
เราถูกสอนมาว่า อย่าไปยุ่งเรื่องคนอื่น เพราะยุ่งแล้วอาจมีภัย รู้เห็นอะไรแม้นจะผิดก็เงียบไว้ อย่าเที่ยวไปพูดไปบอกใคร การนิ่งเฉยกับวัฒนธรรมไทยกลายเป็นของคู่กัน อยู่ข้างบ้านกันแท้ๆแต่ไม่สนใจกัน ขโมยเข้าบ้านก็บอกไม่รู้ไม่เห็นอะไร คือไม่อยากไปยุ่งด้วย
ถ้าคนไทยไม่นิ่งเฉย
สังคมไทยน่าจะเปลี่ยนแปลง คนไทยกล้าจะลุกขึ้นมารักษาผลประโยชน์ของสังคม อะไรไม่ชอบมาพากล กล้าที่แสดงตัวเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติ ถ้าเรามีคนไทยไม่นิ่งเฉยอยู่ทุกจังหวัด เชื่อว่าคนที่คิดจะทำผิดคงน้อยลง หรืออาจหมดไปก็ได้
ภูเก็ตโมเดลคนหาย
ข่าวการนำเอาที่ดินที่ศาลตัดสินว่าผิดมาพัฒนาต่อได้มีคลิปเสียงการสนทนาเรียกค่าช่วยวิ่งเต้นกับคนระดับสูงในหน่วยงานของรัฐ นี่คือการอยู่แบบตัวใครตัวมัน อดีตนักการเมืองคนหนึ่งให้สัมภาษณ์สื่อว่าที่ดินในจังหวัดภูเก็ต 35 เปอร์เซ็นต์ เป็นที่ดินที่ได้มาโดยมิชอบ แต่น่าแปลกไม่เคยมีเรื่องให้เห็นคนทำผิดถูกลงโทษ ถ้าพูดแบบตรงไปตรงมา ส.ส. กทม ที่ไปยุ่งเรื่องนี้ควรได้รับการยกย่องมากกว่าการประนาม
ขอนแก่นมีน้องแบม
ความกล้าหาญของน้องแบม ทำให้คนในภาคอีสานรู้สึกภาคภูมิใจ เพราะเธอเป็นแค่นักศึกษาฝึกงาน แต่เธอกล้าเปิดโป่งขบวนการโกงคนจนและทำให้ข้าราชการระดับสูงถูกลงโทษหลายคน สังคมไทยขาดแคลนคนกล้า กล้าที่จะดูแลสังคม ไม่ยอมให้คนทุจริตทำอะไรง่ายๆ
มะลิโมเดล
เราอยากเห็นคนกล้าอย่างคุณมะลิ ( โมริโมโต้ ) ชาวสกลนคร น่าภูมิใจที่เธอเป็นพลเมืองของจังหวัด น่าเชิญเธอมาเล่าถึงแรงบันดาลใจในการกล้าเสี่ยงภัยเพื่อส่วนรวมอย่างไร หากโมเดลนี้ได้กระจายไปทั่ว 20 จังหวัดภาคอีสาน ก็ถือว่า มะลิ มีคุณูปการต่อคนภาคอีสาน
โดย:ทวิสันต์ โลณานุรักษ์