ผลสำรวจชาวอีสานส่วนใหญ่ยังไม่เคยได้ยินหรือไม่เข้าใจคำว่า”สมาร์ทซิตี้” มองปัญหาจราจรและอุบัติเหตุบนถนนรุนแรงที่สุด เสนอให้แก้ด้วยการกวดขันวินัยจราจร และส่งเสริมการใช้จักรยานอย่างเป็นระบบ กว่าครึ่งหนุนให้สร้างเลนจักรยาน
ผศ.ดร.สุทินเวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพลเปิดเผยว่าการสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของคนอีสานในเขตเมืองใหญ่ต่อการพัฒนาเมืองด้วยการสร้างเลนจักรยานและส่งเสริมการใช้อย่างเป็นระบบ ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 15 กรกฎคม -15 สิงหาคม 2562 จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 500 ราย ในเขตพื้นที่เทศบาลนครหรือเทศบาลเมืองในภาคอีสาน 5 จังหวัด คือ นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี และบุรีรัมย์
เมื่อสอบถามว่า ท่านเคยได้ยินคำว่า สมาร์ทซิตี้ หรือเมืองอัจฉริยะหรือไม่ พบว่า ร้อยละ 47.2 บอกว่าเคยได้ยินแต่ยังไม่เข้าใจความหมาย รองลงมา ร้อยละ 30.0 ไม่เคยได้ยิน และ ร้อยละ 22.8 เคยได้ยินและเข้าใจความหมาย ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างที่เคยได้ยินและเข้าใจความหมาย เรียงตามลำดับ ดังนี้ อุบลราชธานี ขอนแก่น นคราชสีมา อุดรธานี และบุรีรัมย์
จากนั้นสอบถามความเห็นว่าโครงการใดที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเมืองของท่านมากที่สุด พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เห็นว่า การมีศูนย์กลางทางการแพทย์เป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาเมืองมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 24.0 รองลงมาการเป็นสมาร์ทซิตี้ (เมืองอัจฉริยะ) ร้อยละ 21.0 ถัดมาเป็นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและธุรกิจท่องเที่ยว ร้อยละ 20.0 การมีระบบรถราง ร้อยละ 17.2 การเป็นนิคมอุตสาหกรรม ร้อยละ 11.8 ศูนย์กลางแห่งการประชุมและสัมมนา ร้อยละ 3.4 และอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยาน 1.2 ท่าเรือบก ร้อยละ 0.8 และอื่นๆ ร้อยละ 0.4
ทั้งนี้ นคราชสีมา และบุรีรัมย์ เห็นว่า ศูนย์กลางทางการแพทย์ เป็นประโยชน์มากที่สุด ขอนแก่น และอุดรธานี เห็นว่าการเป็นสมาร์ทซิตี้ เป็นประโยชน์มากที่สุด และอุบลราชธานี เห็นว่า นิคมอุตสาหกรรม เป็นประโยชน์มากที่สุด
ต่อมาสอบถามว่า สิ่งใดเป็นปัญหารุนแรงที่สุดในเมืองของท่าน พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 33.2 คือปัญหาการจราจรติดขัดและอุบัติเหตุบนถนน รองลงมา ร้อยละ 16.4 ปัญหายาเสพติด ถัดมาเป็นปัญหารายได้ต่อหัวและความเหลื่อมล้ำ ร้อยละ 14.8 ปัญหามลภาวะทางอากาศ ร้อยละ 14.6 ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ร้อยละ 12.2 ปัญหาสวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียวน้อยเกินไปร้อยละ 4.0 กับ ปัญหาสุขภาพจิตสังคม ร้อยละ 4.0 และปัญหาอื่นๆ ร้อยละ 0.8
จากนั้นสอบถามว่า เมืองของท่านควรแก้ปัญหาการจราติดขัดด้วยวิธีการใดมากที่สุด พบว่า อันดับหนึ่ง ร้อยละ 35.0 เห็นว่าควรกวดขันวินัยจราจรและการจอดรถ รองลงมา ร้อยละ 23.2 อยากให้ส่งเสริมการใช้จักรยานอย่างเป็นระบบ ถัดมา สร้างรถไฟฟ้าระบบราง ร้อยละ 15.6 พัฒนารถเมล์ให้ทันสมัยขึ้น ร้อยละ 14.0 และสร้างทางลอดและขยายถนนเพิ่ม ร้อยละ 12.2
ทั้งนี้ นครราชสีมา เห็นว่าควรแก้ปัญหาจราจร ด้วยการส่งเสริมการใช้จักรยานอย่างเป็นระบบและสร้างทางลอดและขยายถนนเพิ่ม มากที่สุด ขอนแก่นและอุบลราชธานี หนุนการกวดขันวินัยจราจรและการจอดรถ และส่งเสริมการใช้จักรยานอย่างเป็นระบบ อุดรธานี หนุนการกวดขันวินัยจราจรและการจอดรถ และสร้างรถไฟฟ้าระบบราง และบุรีรัมย์ หนุนการกวดขันวินัยจราจรและการจอดรถ และพัฒนารถเมล์ให้ทันสมัยขึ้น
เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างว่า ชื่นชอบการปั่นจักรยานหรือไม่ พบว่า เกินครึ่งหรือร้อยละ 53.2 ชื่นชอบการปั่นจักยานเล็กน้อย รองลงมาชื่นชอบการปั่นจักยานมาก ร้อยละ 25.6 และไม่ชื่นชอบการปั่น ร้อยละ 21.2 ตามลำดับ ทั้งนี้ ขอนแก่นมีสัดส่วนผู้ชื่นชอบการปั่นมากที่สุด ตามมาด้วย อุบลราชธานี บุรีรัมย์ นครราชสีมา และอุดรธานี
จากนั้นสอบถามความคิดเห็นว่า ในการสร้างเลนจักรยานและส่งเสริมการใช้จักรยานอย่างเป็นระบบในเขตเมืองจะเกิดประโยชน์ด้านใดมากที่สุด พบว่า อันดับหนึ่ง ร้อยละ 44.4 เห็นว่าจะสามารถบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดได้ รองลงมา จะช่วยลดปัญหาเรื่องค่าฝุ่นละอองในอากาศ ร้อยละ 32.4 ถัดมา จะช่วยลดรายจ่ายในการเดินทางได้ ร้อยละ 10.6 สุขภาพประชาชนจะดีขึ้น ร้อยละ 7.0 เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ร้อยละ 5.0 และด้านอื่นๆ ร้อยละ 0.6
จากนั้นสอบถามถึงการสร้างเลนจักรยานและส่งเสริมการใช้จักรยานอย่างเป็นระบบในเขตเมืองว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ เมื่อพิจารณาถึงพื้นที่การจราจร ความปลอดภัยบนถนน และอุณหภูมิที่ค่อนข้างร้อน พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามกว่าครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 49.6 เห็นว่า เหมาะสมมาก รองลงมา ร้อยละ 44.0 เห็นว่าเหมาะสมเล็กน้อย และมีเพียงส่วนน้อย ร้อยละ 6.4 ที่เห็นว่าไม่เหมาะสม
ทั้งนี้ จังหวัดที่เห็นว่าเหมาะสมมากที่สุด คือ ขอนแก่น ตามมาด้วย นคราชสีมา อุดรธานี อุบลราชธานี และบุรีรัมย์ ตามลำดับ
และสุดท้ายสอบถามว่า หน่วยงานใดหรือใครควรเป็นผู้ผลักดันในการสร้างเลนจักรยาน และส่งเสริมการใช้จักรยานอย่างเป็นระบบ พบว่า ร้อยละ 35.4 เห็นว่าเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด รองลงมา ร้อยละ 27.8 เทศบาลนครและเทศบาลรอบๆ ร้อยละ 21.0 องค์การบริหารส่วนจังหวัด ร้อยละ 12.0 หอการค้าและภาคเอกชน ร้อยละ 3.8 อื่นๆ เช่น ดารานักแสดง บุคคลต้นแบบ หรือเน็ตไอดอล เป็นต้น