อีสานโพลระบุ คนอีสานห่วงปัญหาสิ่งล้อมจากฝีมือมนุษย์ มากที่สุด สาเหตุสำคัญ จากการเผา โรงงานอุตสาหกรรม ให้คะแนนประสิทธิภาพการจัดการน้ำท่วม-น้ำแล้ง ต่ำ
อีสานโพล (E–Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเผยผลสำรวจเรื่อง “คนอีสานกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” ผศ.ดร.สุทินเวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพลเปิดเผยว่าการสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจมุมมองของคนอีสานต่อประเด็นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของคนอีสานและกระทบความเป็นอยู่ของคนอีสาน ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 6-8 กันยายน 2562 จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,026 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด
ผลสำรวจพบว่า ใน 15 ประเด็นที่ทำการสอบถาม คนอีสานส่วนใหญ่ (ร้อยละ 76.9 – 89.0) เห็นว่า ปัญหาสภาพภูมิอากาศที่แปรปวนมากขึ้นเกิดจากฝีมือมนุษย์ (ร้อยละ 89.0) ปัญหาฝุ่นขนาดเล็กจากการเผาของภาคเกษตรเป็นเรื่องที่น่ากังวล (ร้อยละ 84.1) เกษตรกรอีสานใช้สารเคมีมากเกินไปในการเพาะปลูก (ร้อยละ 79.6) ควรยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกภายใน 2 ปี (ร้อยละ 76.9) และรณรงค์ส่งเสริมให้ใช้พลาสติกแบบย่อยสลายได้ง่าย (ร้อยละ 81.7) นอกจากนี้คนอีสานไม่คิดว่าในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของอีสานดีขึ้น (ร้อยละ 79.7)
ขณะที่ประเด็นที่คนอีสานเกินครึ่งมาเล็กน้อย (ร้อยละ 51.4 – 56.5) เห็นตรงกันคือ อุตสาหกรรรมอ้อยและน้ำตาลทำให้คนอีสานอยู่ดีกินดีมากขึ้น (ร้อยละ 56.5) และศูนย์กลางอุตสาหกรรรมชีวภาพจากอ้อยจะทำให้คนอีสานอยู่ดีกินดีมากขึ้น (ร้อยละ 53.4) แต่ เหมืองโปแตซในอีสานไม่ทำให้คนอีสานอยู่ดีกินดี (ร้อยละ 51.4) และการอนุญาตให้ปลูกกัญชาบ้านละ 6 ต้น จะไม่ทำให้คนอีสานอยู่ดีกินดี (ร้อยละ 53.1)
ในส่วนประเด็นอื่นๆ ยังมีสัดส่วนไม่เกินครึ่ง (ร้อยละ 39.2 – 49.5) หรือยังก้ำกึ่ง ได้แก่ อีสานควรเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยอีกเพื่อรองรับอุตสาหกรรรมชีวภาพ (ร้อยละ 49.5) สนับสนุนให้มีโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มขึ้นอีกเพื่อรองรับการปลูกอ้อยที่เพิ่มขึ้นในอีสาน (ร้อยละ 39.2) แต่ไม่คิดว่าการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงจะมีผลดีมากกว่าผลเสียและช่วยรักษาธรรมชาติ (ร้อยละ 47.4)
สำหรับภัยน้ำท่วมช่วงที่ผ่านมานี้ คนอีสานกว่าร้อยละ 32.1 ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก ขณะที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างมากจากภัยแล้งอีสานที่ผ่านมาสูงถึงร้อยละ 47.9