ปรับรื้อกฏหมายการศึกษา:ทิศทางที่ท้าทายของรมว.ศธ.คนใหม่

หลังจากเข้ามานั่งตำแหน่ง รมว.ศธ.คนใหม่ไม่กี่วันก็มีการเริ่มขับเคลื่อนทิศทางการศึกษาใหม่ของคนชื่อณัฎฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศธ.ผู้อาสาเข้ามาปรับและขับเคลื่อนการศึกษาโดยไม่รอช้าอย่างน้อยๆพื้นฐานของครอบครัวที่เคยคลุกคลีอยู่กับการจัดการศึกษาในระดับพื้นฐานมาก่อน ก็น่าจะนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการทิศทางการศึกษาไทยให้เดินไปได้ทันอารยะประเทศเข้ามาปฎิบัติกันมาได้ไม่มากก็น้อย

จะเห็นได้จากการเปิดเผยต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 19 ที่ผ่านมา “ว่ากระทรวงศึกษาธิการต้องมีการขับเคลื่อนตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้กระทรวงต่างๆได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฏหมายซึ่งที่ผ่านมานานกว่า 5 ปี ไม่เคยได้รับการปรับปรุงแก้ไข ซึ่งในแต่ละส่วนกระทรวงศึกษาธิการนั้นตนได้หารือกับฝ่ายกฏหมายของกระทรวงศึกษาธิการแล้วว่าจะมีกฏหมายใดบ้างที่ต้องการปรับปรุงโดยพาะอย่างยิ่งที่ถูกใจบรรดาครูทั้งประเทศมากที่สุดคือการแก้ไขหรือยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ฉบับที่19/2560 เรื่องปฎิรูปการศึกษาในส่วนภูมิภาค ทางรมว.ศธ. เองได้รับทราบปัญหาและเสียงสะท้อนจากครูทั่วประเทศว่าระหว่างการมีศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.)ศึกษาธิการภาค (ศธภ.)และสำงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.)ว่าเป็นการทำงานที่เกิดปัญหาระหว่างสองหน่วยงานในพื้นที่โดยการทำงานจะเป็นในประเด็นของงานซ้ำซ้อนกันหรือไม่นั้นตนคิดว่าถ้ามีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพอสรุปได้ว่าการปฎิรูปการศึกษาในภูมิภาคของศธ.เป็นปัญหาอุปสรรคและเป็นการทำงานที่ทับซ้อนกันจริงๆตนก็จะมีนโยบายชัดเจนว่าการทำงานอะไรก็ตามจะต้องไม่เกิดปัญหาซ้ำซ้อนไม่เช่นั้นจะสิ้นเปลืองงบประมาณและส่งผลให้ประสิทธิภาพของงานไม่เกิดขึ้น ซึ่งกฏหมายใดซ้ำซ้อนก็ต้องปรับปรุงแน่นอน

ดังนั้นเรื่องกฏหมายการปฎิรูปการศึกษาในภูมิภาคของศธ.9ตนได้เรียกข้อมูลมาดูแล้วและก็มีแนวทางในใจแล้วว่าจะแก้ไขเรื่องนี้อย่างไรบ้าง โดยข้อหารือฝ่ายกฎหมายให้รอบคอบก่อนจะปรับโครงสร้างในระดับบพื้นที่และปรับเกลี่ยบุคลากรให้เหมาะสมต้องไม่เกิดผลกระทบกับการเจริญเติบโตของข้าราการด้วย แต่หากจะยุติการทำงานที่ซ้ำซ้อนระหว่าง ศธจ. ศธภ.และเขตพื้นที่จริงก็ต้องทำโดยการแก้ไขกฏหมายการบริหารงานบุคคลระดับพื้นที่ของกระทรวงศึกษาธิการเพื่อยุติหน่วยงานที่ซ้ำซ้อนนั้น และหลังจากนั้นท่านรมว.ศธ.คนใหม่ ก็ได้มาให้นโยบายและมอบการบ้านให้ ก.ค.ศ. ทบทวนการบริหารงานที่ซ้ำซ้อนในระดับพื้นที่(21 สิงหาคม 2562 )เพื่อให้การบริหารงานที่ของ ศธ.ลดความซ้ำซ้อนในระดับโรงเรียนบางส่วนเพื่อเพิ่มโรงเรียนที่มีคุณภาพโดยไม่ริดรอนสิทธิครูหรือผู้บริหารการปรับรื้อโครงสร้างหน่วยงานระดับภูมิภาคและในระดับโรงเรียนข้างต้นโดยการปรับรื้อกฏหมายการศึกษาหลายฉบับไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการพศ.2546 และฉบับที่แก้ไข เป็นกฏหมายที่จัดโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการในภาพรวมตั้งแต่ระดับกระทรวง ทบวง กรม ลงไปจนถึงระดับโรงเรียนทุกพื้นที่

พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลกรทางการศึกษาพศ.2547 และฉบับนี่แก้ไขปรับปรุง ซึ่งเป็นกฏหมายการบริหารงานบุคคลกลางของกระทรวงศึกษาธิการฉบับที่มีปัญหาอันทำให้เกิกคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 19/60 ที่ท่านรมว.ศธ. กล่าวมาแล้ว

ซึ่งผู้เขียนก็เห็นด้วยอย่างยิ่งว่าหน่วยงานที่เกิดจากจากม.44 ของรัฐธรรมนูญจนเกิดความสั่งดังกล่าวก่อให้เกิดหน่วยงานที่ซ้ำซ้อนสิ้นเปลืองงบประมาณและทำให้เกิดการขับเคลื่อนทิศทางการศึกษาขาดคุณภาพ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะยกเลิกคำสั่งดังกล่าวแล้วบูรณาการกฎหมายและการบริหารงานบุคคลที่ซ้ำซ้อนใหม่ โดยส่วนใดก่อให้เกิดปัญหาก็ต้องรีบปรับปรุงแก้ไขในคราวเดียวกันนี้ไม่ว่าจะเป็นปัญหาของ อ.ก.ค.ศ. (สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา)เขตพื้นที่ที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดคำสั่ง คสช.19/60 และยุบเลิก ศธจ., ศธภ.และเขตพื้นที่การศึกษาแล้วปรับโครงสร้างใหม่เพื่อรองรับแผน ปฎิรูปให้สอดคล้องนโยบายรัฐบาลและเป็นไปตามแผนการปฎิรูปประเทศด้านการศึกษามาตรา258 จ.แห่งรัฐธรรมนูญ2560

แต่อย่างไรก็ตามยังมีกฏหมายการศึกษาที่สำคัญอีก2ฉบับที่ท่าน รมว.ศธ.จะต้องนำมาปรับปรุงแก้ไข ไปในคราวเดียวกันอันได้แก่ พ.ร.บ. สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา 2546 ซึ่งยังไม่มีการแก้ไขเกินกว่า 10 ปีแล้ว จนเกิดปัญหาการร้องเรียนใน2องค์กร หลักที่เกิดขึ้นตามพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวได้แก่คุรุสภาและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) อันเป็นที่มาของการเกิดคำสั่ง คสช.ที่ 7/ 2558 ให้ยุบเลิกผู้บริหารและคณะกรรมการทั้งสองคณะอันได้แก่ เลขาธิการคุรุสภา เลขาธิการ สกสค. รวมไปถึงผู้อำนวยการและคณะกรรมการองค์การค้า สกสค.ด้วย แล้วแต่งตั้งเลขาธิการผู้อำนวยการและคณะกรรมการชุดใหม่โดยให้ รมว.ศธ.เป็นประธานคณะกรรมการคุรุสภาและสกสค.มาจนถึงปัจจุบัน

อันก่อให้เกิดการเรียกร้องการปฎิบัติงานของคณะกรรมการในกระบวนการสรรหาเลขาธิการและกระบวนการทำงานของคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ มาเป็นระยะ ซึ่งสาเหตุเกิดจากบุคคลที่ถูกแต่งตั้งมาเป็นเลขาธิการ ,ผู้อำนวยการ และคณะกรรมการชุดต่างๆไม่เป็นไปตามพ.ร.บ.สภาครูที่เขียนอำนาจหน้าที่ การเข้าสู่ตำแหน่งและที่มาของคณะกรรมการชุดต่างๆเอาไว้อย่างละเอียดมากกว่าคำสั่ง คสช.ที่7/2558 ซึ่งออกมาบังคับใช้ชั่วคราวได้แต่ผ่านระยะเวลากว่า 5 ปี ก็ย่อมมีปัญหาในเชิงอำนาจที่ซ้ำซ้อนไม่ต่างจากคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 ดังที่ท่าน รมว.ศธ.เห็นเป็นปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น

และกฎหมายการศึกษาฉบับสุดท้ายที่หนีไม่พ้นจากการต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างแน่นอนคือ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งขาติ พ.ศ. 2542 และฉบับปรับปรุงการศึกษาปรับรื้อตามอำนาจหน้าที่จนเกิดการวิพากษ์ จากองค์กรวิชาชีพครูทั่วประเทศ เป็นเหตุให้ยกเลิกออกจากสภา สนช.(สภานิติบัญญัติแห่งชาติ)อย่างเร่งด่วน จนเป็นข่างโด่งดังมาแล้วก่อนการเลือกตั้งในครั้งที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้อำนาจการการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงของกฎหมายทั้ง 4 ฉบับ รวมถึงคำสั่ง ที่เกี่ยวข้องกับหลายฉบับมาอยู่ในมือของท่าน รมว.ศธ.คนใหม่ที่ชื่อ ณัฎฐพล ทีปสุวรรณ ที่จะแสดงฝีมือว่าจะปรับทิศทางกฎหมายการศึกษาให้เป็นไปตามทิศทางการปฎิรูปการศึกษาตามนโยบายของรัฐบาลและเป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติไว้อย่างไร เชื่อว่าครูและประชาชนทั้งประเทศกำลังติดตามไม่กระพริบตาขอเอาใจช่วยให้ประสบความสำเร็จนะครับ

บทความโดย: ดร.เพิ่ม  หลวงแก้ว เลขาธิการมูลนิธิครูประชาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 

แสดงความคิดเห็น