อนุญาตปลูกกัญชา “อิสระ ๐๑” ค่า CBD สูง

อย.อนุญาตปลูกกัญชาพันธุ์ “อิสระ ๐๑” ของ นพ.อิสระ เจียวิริยบุญญา  แล้ว ๖๐,๐๐๐ ต้น เพื่อผลิตกัญชาเนื้อเยื่อสายพันธุ์ไทยที่มีสาร CBD สูง ใช้ทางการแพทย์

วันที่ ๔ กันยายน ๒๕๖๒  สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) โดยเลขาธิการ อย. ได้ลงนามในหนังสือสำคัญผลิตซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕  ที่ ๙/๒๕๖๒(ปลูก) (ตามเอกสารแบบ ย.ส.๔/๕-๒) แก่ กรมการแพทย์ โดย  นพ.อิสระ เจียวิริยบุญญา  ผอ.โรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี  ผู้แทนกรมการแพทย์  ได้รับอนุญาตผลิต(ปลูก) ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ (กัญชา) เพื่อใช้ในโครงการผลิตต้นอ่อนกัญชาด้วยกระบวนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์  ณ ห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ อาคารกิติพงษ์ วุฒิจำนง มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ  จำนวนพื้นที่ในการเพาะปลูก ๙๖ ตารางเมตร  จำนวน ๖๐,๐๐๐ ต้นอ่อน ใบอนุญาตนี้สิ้นสุดเมื่อวันที่  ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๒  โดยต้นพันธุ์กัญชาที่นำไปเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อครั้งนี้  ได้จากการพัฒนากัญชาสายพันธุ์ไทยที่ได้รับการนิรโทษกรรม และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบค่า CBD สูง แล้วคัดเลือกต้นพันธุ์ที่มีค่า CBD สูงสุดไปใช้เป็นแม่พันธุ์ในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ  เพื่อผลิตกัญชาเนื้อเยื่อที่มีสาร CBD สูง นำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์  เพื่อการวิจัยในผู้ป่วยโรคมะเร็ง ตามขั้นตอนต่อไป  ทั้งนี้เพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่บุคคลที่ตั้งใจบุกเบิกศึกษาวิจัยกัญชาทางการแพทย์มาอย่างต่อเนื่อง จึงตั้งชื่อกัญชานี้ว่า  “สายพันธุ์ อิสระ ๐๑”  ถือเป็นความภูมิใจของชาวอุดรธานี  เป็นอย่างยิ่ง

   ดร.นิรุจน์  อุทธา  หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดอุดรธานี  (ศูนย์ประสานงานโครงการวิจัยกัญชาทางการแพทย์ จังหวัดอุดรธานี) เปิดเผยว่า  ผลสำเร็จของผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ร่วมขับเคลื่อนโมเดลกัญชาเมืองดวงตามังกรอุดรธานี ของ นพ.อิสระ เจียวิริยบุญญา ผอ.โรงพยาบาลมะเร็ง อุดรธานี  ที่สามารถพัฒนาสายพันธุ์กัญชาไทย “พันธุ์อิสระ ๐๑” ให้มีค่า CBD สูง  เพื่อให้เกิดประโยชน์ด้านการศึกษาวิจัยเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นนั้น  จนได้รับอนุญาตจาก อย. ให้สามารถเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อฯ ได้จำนวน ๖๐,๐๐๐ ต้น  ครั้งนี้  ถือเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของการพัฒนาสายพันธุ์กัญชาของไทย ที่จะเกิดประโยชน์ต่อการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต  โดยเฉพาะกระบวนการผลิตด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ(Culture)  จะทำให้ได้กัญชาที่มีคุณภาพเหมือนกับต้นแม่พันธุ์  ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของการพัฒนาสายพันธุ์กัญชาเพื่อการรักษาโรคของประเทศไทย  ที่จะทำให้ได้ต้นพันธุ์กัญชาสามารถควบคุมสาร THC และ CBD ได้อย่างคงที่  สามารถนำไปสกัดเป็นยารักษาโรคได้หลายกลุ่มโรคมากขึ้น  ถือเป็นการพัฒนา Medical Cannabis ในทิศทางที่ชัดเจน  เป็นรูปธรรมมากขึ้น

ดร.นิรุจน์กล่าวเพิ่มเติมว่า  ทั้งนี้ต้นอ่อนที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อครั้งนี้  เป็นต้นกล้าที่ถูกต้องตามกฎหมาย  สามารถนำไปปลูกในพื้นที่ๆได้รับอนุญาตจาก อย.ได้  ดังนั้น จังหวัดอุดรธานี  จะได้นำต้นกล้ากัญชาสายพันธุ์ อิสระ ๐๑ มาทดลองปลูกในพื้นที่ปลูกกัญชาของ รพ.สต. ตามโมเดลกัญชาเมืองดวงตามังกรอุดรธานี  (4 areas 4 Change)  เพื่อเปรียบเทียบสาร THC และ CBD ระหว่างสายพันธุ์หางกระรอก กับสายพันธุ์ อิสระ ๐๑ ตามลำดับต่อไป

โอกาสนี้  ชาวอุดรธานี  โดยโมเดลกัญชาเมืองดวงตามังกรอุดรธานี  ขอแสดงความยินดีกับความสำเร็จของ นพ.อิสระ เจียวิริยบุญญา  ผอ.รพ.มะเร็งอุดรธานี ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาสายพันธุ์กัญชา “อิสระ ๐๑” ในครั้งนี้  ถือเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญด้านการพัฒนากัญชาทางการแพทย์ของประเทศไทย และของจังหวัดอุดรธานี  เป็นความภูมิใจของชาวอุดรธานีเป็นอย่างยิ่ง  กับการขับเคลื่อนกัญชาทางการแพทย์เพื่อประโยชน์แก่ผู้ป่วย และกลุ่มเกษตรกรในอนาคต

แสดงความคิดเห็น