ณ ศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญา มหาวิทยาลัยขอนแก่น งานจัดนำเสนอผลงานในโครงการการวางแผนการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์และการดำเนินธุรกิจ (IP Demo Day 2019) โดยมี รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล ที่ปรึกษา รักษาการแทน อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานในงาน ในการนี้มี คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ กว่า 200 คน ณ ห้องประชุม Auditorium อาคารสำนักงานอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
โครงการวางแผนการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์และการวางแผนธุรกิจ IP Demo Day 2019 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาเกิดความคิดสร้างสรรค์และเสริมสร้างทักษะในการวางแผนพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์และวางแผนธุรกิจร่วมกัน รวมไปถึงการนำผลงานที่ชนะการประกวด มาใช้ในการส่งเสริมผลงานทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในเชิงพาณิชย์
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล ที่ปรึกษา รักษาการแทน อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า โครงการการวางแผนการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์และการดำเนินธุรกิจ IP Demo Day 2019 เป็นไปตาม ยุทธศาสตร์ การปรับเปลี่ยนการทำงานวิจัย หรือ Research Transformation ซึ่งมุ่งเน้นการผลักดันงานวิจัยเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่หรือนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ และยังเป็นการบูรณาการด้านการจัดการการศึกษาให้สอดคล้องตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและนโยบายของรัฐบาลในการใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม
“การจัดงานครั้งนี้ได้นำผลงานทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ประเภท สิทธิบัตรการประดิษฐ์และอนุสิทธิบัตร ที่คัดเลือกโดยศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญา มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหัวข้อในการประกวด ซึ่งนักศึกษาแต่ละกลุ่ม จะต้องนำผลงานดังกล่าว มาออกแบบผลิตภัณฑ์ วางแผนการดำเนินธุรกิจ รวมไปถึงการนำเสนอผลงาน ฉะนั้นกิจกรรมครั้งนี้นอกจากจะเป็นการเผยแพร่ผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่นแล้ว ยังเป็นการ พัฒนาศักยภาพของนักศึกษา ส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างคณะ ได้ฝึกฝนเสมือนการทำงานจริงที่ต้องร่วมงานกับหลากหลายวิชาชีพ เป็นอีกหนึ่ง ในรูปแบบการจัดการเรียนรู้การเป็นผู้ประกอบการใหม่ Entrepreneur หวังเป็นอย่างยิ่งว่า นักศึกษาที่ได้ร่วมโครงการจะนำประสบการณ์ จากโครงการนี้ไปปรับใช้ และ ก้าวไปเป็นผู้ประกอบการ startup ที่ประสบความสำเร็จในอนาคต” ที่ปรึกษา รักษาการแทน อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าว
โดยโครงการวางแผนการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์และการวางแผนธุรกิจ IP Demo Day 2019 ในครั้งนี้ มีนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการประกอบด้วย นักศึกษาในรายวิชา การโฆษณาและการส่งเสริมการขาย คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี นักศึกษาในรายวิชาการออกแบบทางอุตสาหกรรม 3 รายวิชาภาษาอังกฤษสำหรับนักออกแบบ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ นักศึกษาในรายวิชา International Sales Management วิทยาลัยนานาชาติ และ นักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยี แบ่งเป็น 36 กลุ่ม/ผลงาน ซึ่งการประกวดจะแบ่งเป็น 4 ประเภท ประกอบด้วย การออกแบบผลิตภัณฑ์และวางแผนธุรกิจ ประเภท อุตสาหกรรมอาหาร (ภาคภาษาอังกฤษ) การออกแบบผลิตภัณฑ์และวางแผนธุรกิจ ประเภท อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง (ภาคภาษาไทย) การออกแบบผลิตภัณฑ์และวางแผนธุรกิจ ประเภท อุตสาหกรรมยา/ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (ภาคภาษาไทย) การออกแบบผลิตภัณฑ์และวางแผนธุรกิจ ประเภท อุตสาหกรรมวิทยาศาสตร์และการแพทย์ (ภาคภาษาไทย)
นางสาวลลิตา โชติวรรธกวณิช นักศึกษา ชั้นปีที่ 3 คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี สาขาการตลาด มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตัวแทนกลุ่ม กล้วยส้ม ผู้คว้ารางวัลรองชนะเลิศ ประเภท วิทยาศาสตร์และการแพทย์ เผยว่า กลุ่มประกอบไปด้วยนักศึกษาจากคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี 3 คน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ 2 คน โดยผลิตภัณฑ์ที่นำมาต่อยอดด้านการออกแบบ และ การวางแผนธุรกิจ คือ ผลิตภัณฑ์แผ่นฟิล์มโพลีแลคติกแอซิด polylactic acid ที่มีส่วนผสมของเถ้าแกลบ ซึ่ง เป็นงานวิจัยของ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น
“เมื่อได้รับโจทย์ต้องไปพูดคุยกับอาจารย์ที่เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ ในด้านการออกแบบเราทำเป็นตัวซิปล็อค ที่สามารถคงคุณค่าถนอมอาหารได้ และบรรจุภัณฑ์ก็จะออกแบบลวดลายเกี่ยวกับธรรมชาติ สื่อถึงการย่อยสลายได้ ซึ่งใช้เวลาเพียง 6-12 เดือน และเชื่อว่าในอนาคตถุงชนิดนี้ จะสามารถนำไปต่อยอดได้แน่นอน เพราะพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ได้รับความนิยมสูงขึ้น นอกจากนี้การได้รับรางวัลชนะเลิศ ยังสามารถนำไปประกอบการทำพอร์ตยื่นในการสมัครงาน ซึ่งเป็นการแสดงให้องค์กรเห็นว่า เรามีประสบการณ์ ในผลิตภัณฑ์ด้านนี้มาบ้าง เป็นการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดแรงงานในอนาคต”ตัวแทนกลุ่ม คว้ารางวัลรองชนะเลิศ ประเภท วิทยาศาสตร์และการแพทย์ฯ กล่าว
ทั้งนี้ ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ การออกแบบผลิตภัณฑ์และวางแผนธุรกิจ ประเภท อุตสาหกรรมอาหาร ได้แก่ กลุ่ม Cracfie จากผลิตภัณฑ์แครกเกอร์แป้งกล้วยเสริมใยอาหาร ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศการออกแบบผลิตภัณฑ์และวางแผนธุรกิจ ประเภท อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ได้แก่ กลุ่ม Apple จากผลิตภัณฑ์ รองพื้นที่มีสารสกัดเปลือกยางนาเป็นส่วนประกอบ ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ การออกแบบผลิตภัณฑ์และวางแผนธุรกิจ ประเภท อุตสาหกรรมยา/ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ได้แก่ กลุ่ม Jason จากผลิตภัณฑ์ แคปซูลข้าวผสมโปรไบโอติก ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ การจัด Display ยอดเยี่ยม ได้แก่ กลุ่ม sesame ครีมขัดผิวผสมกากงาดำ ผู้ได้รับรางวัลไอพีสตาร์อันดับ 1 ได้แก่เจลลี่ไฟเบอร์