ปัญหาสิ่งแวดล้อม อยู่กับมนุษย์ทุกยุค โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ภาวะโลกร้อนส่งผลให้เกิดภัยธรรมชาติมากมาย อย่างที่มนุษย์คาดไม่ถึง อาทิ อุทกภัย นำแข็งขั้วโลกละลาย ภาวะร้อนจัด หนาวจัด และฝุ่นพิษ PM 2.5 ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นภัยธรรมชาติที่คุกคามชีวิตมนุษย์อย่างเหลือเชื่อ ฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องร่วมมือกัน โดยเฉพาะการก่อสร้างอาคาร ให้สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมในยุคนี้
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงจัดกิจกรรมโครงการประกวดออกแบบแนวทางการปรับปรุงภูมิทัศน์สวนรุกขชาติและบริเวณข้างเคียง สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 4 และโครงการออกแบบพัฒนาพื้นที่รอบอาคารศูนย์อาหารและบริการ สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 5 โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานในพิธี โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อปลูกจิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อมให้แก่คนรุ่นใหม่ตามแนวคิด อาคารเขียว (Green building) เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดีให้ชั่วลูกหลาน จัดแสดงผลงานักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการกว่า 50 คน ณ อาคารสิริคุณากรมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา
ผศ.ดร.ชำนาญ บุญญาพุทธิพงศ์ อาจารย์ผู้ดูแลโครงการ เผยว่า นักศึกษาชั้นปี 4 -5 ได้เรียนรู้ในห้องเรียนอย่างเต็มที่แล้ว พร้อมเผชิญโลกความจริง โดยกิจกรรมนี้เป็นความประสงค์ของสภามหาวิทยาลัยขอนแก่นที่มีนโยบายจะปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อให้นักศึกษามีพื้นที่กิจกรรมได้แก่ อาคารศูนย์อาหารและบริการ องค์การนักศึกษา และสวนรุกขชาติ เพื่อใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด งานมหาวิทยาลัยชิ้นนี้ จึงเปรียบเสมือนเวทีฝึกงานจริงของนักศึกษา พบลูกค้าจริง พบปัญหาและการทำงานจริง ซึ่งอยู่ภายใต้วิชาการ การออกแบบ โดยรวมทุกศาสตร์สาขาวิชามาประยุกต์ใช้ อาทิ วิศวกรรม สถาปัตย์ ภูมิทัศน์ โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก
“การออกแบบสถาปัตยกรรม ต้องเน้นเรื่องพื้นที่สีเขียว ประหยัดพลังงานเป็นหลัก เพื่อปลูกจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมให้นักศึกษาเมื่อเขาจบไปจะช่วยสร้างสังคมที่ดี โดยเฉพาะฝุ่น PM เป็นเรื่องระดับเมือง ระดับชาติ ตัวอาคารสามารถออกแบบตามหลักกการช่วยบรรเทาได้ประมาณหนึ่ง เช่น พืชสีเขียวช่วยซับฝุ่น พื้นที่คอนกรีตน้อยลดฝุ่นได้ การมองทิศทางลมต้องโกรกตลอดวัน ฝุ่นไม่ขัง สิ่งสำคัญคือนอกจากวงการสถาปัตยกรรมแล้ว ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันจะช่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน” ผศ.ดร.ชำนาญ กล่าว
นายอาณัช ธรรมธร นักศึกษาชั้นปีที่ 5 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การจัดกิจกรรมดังกล่าวทำให้ได้ใช้ความรู้ทุกรายวิชามาประยุกต์จริง ในพื้นที่จริงและพบความต้องการของลูกค้าจริง โดยเฉพาะสิ่งที่อาจารย์ได้ปลูกฝังการออกแบบอาคารที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมาเป็นอันดับแรก ต่อมาประหยัด ประโยชน์ใช้สอย และความสวยงาม เช่น ฝุ่น PM 2.5 สามารถแก้ไขโดยทำให้อากาศไม่ขังลมโรกภายในอาคาร รอบบริเวณอาคารควรมีไม้เลื้อยซับฝุ่นก่อน ลดพื้นที่คอนกรีตให้น้อยลงเพิ่มพื้นที่สีเขียว จะสามารถลดฝุ่นได้ประมาณหนึ่ง
“ความท้าทายใหม่ กับสถาปนิกยุคใหม่ อาจารย์พยายามสอนคือ การเป็น Green building ปัญหาโลกร้อนเป้นเรื่องของทุกคนที่อยู่บนโลก ต้องออกแบบอาคารลดใช้พลังงาน เช่นแอร์ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างอื่น เอามาบูรณาการลดใช้พลังงาน อาคารจอดรถไม่จำเป็นต้องใช้แอร์ สิ่งที่เข้ามาในอาคารคือแดด ฉะนั้นเราแทรกแนวพืชพันธุ์เลื้อยไปตามตัวอาคาร เพื่อให้มองเห็นสีเขียวแทรกในตัวอาคาร ซับพอต สร้างความเย็นให้อาคาร ให้รับแสงแต่ไม่รับความร้อนได้ มั่นใจว่าหากเมื่อลงไปปฏิบัติงานจริงจะนำความรู้ตรงนี้ไปใช้ในการรักษโลกแน่นอน” นายอาณัช กล่าว