เปิดแผนใช้น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์รับภัยแล้ง

กรมชลประทาน จับมือ กฟผ. วางมาตรการใช้น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ รับมือภัยแล้งต่อเนื่องถึงปี 63 หลังมีปริมาณน้ำต้นทุนน้อยที่สุดในรอบ 53 ปี

ที่ ห้องประชุมสำนักงานชลประทานที่ 6 ขอนแก่น นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 กรมชลประทาน หรือ ชป. ประชุมด่วนผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับแผนการบริหารจัดการน้ำในเขตจังหวัดขอนแก่น เพื่อกำหนดมาตรการในการใช้น้ำรับมือกับสถานกรณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น ตั้งแต่เดือน ต.ค.ไปจนถึงเดือน ก.ค.2563 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานต่างๆเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

นายศักดิ์ศิริ อยู่สูข ผอ.ชป.ที่ 6 กล่าวว่า จนถึงขณะนี้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์สะสมเพียง 371 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งถือว่าน้อยมาก และถือได้ว่าปีนี้มีน้ำไหลเข้าอ่างฯ น้อยที่สุดในรอบ 53 ปี ตั้งแต่เริ่มสร้างเขื่อนอุบลรัตน์ ขณะที่ข้อมูลล่าสุดพบว่า เขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้ำเก็บกักเพียง 631 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 25 ของความจุอ่างฯ ในจำนวนนี้มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 50 ล้าน ลบ.ม. ทำให้การระบายน้ำในขณะนี้เน้นหนักในเรื่องของการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ ด้วยอัตราการระบายน้ำที่วันละ 300,000 ลบ.ม.

” เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างฯอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยมาก ทางสำนักงานชลประทานที่ 6 จึงได้เชิญ กฟผ.เขื่อนอุบลรัตน์, สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 3 ,สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 10 ,ประมงจังหวัด,เกษตรจังหวัด, ภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึงกลุ่มผู้ใช้น้ำฯ มาหารือและรับทราบสถานการณ์น้ำ พร้อมวางมาตรการในการบริหารจัดการน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ร่วมกัน ซึ่งจากการประเมินแผนความต้องการใช้น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ ปลายฤดูฝนปี 62 และฤดูแล้งปี 62/63 พบว่ามีความต้องการใช้น้ำทั้งการอุปโภค บริโภค รักษาระบบนิเวศ การประปา และอุตสาหกรรม ประมาณ 189 ล้าน ลบ.ม. แต่เขื่อนอุบลรัตน์มีน้ำต้นทุนที่ใช้การได้อยู่เพียง 50 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น

ซึ่งคาดว่าจะเพียงพอเฉพาะการอุปโภคบริโภค และการรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ขณะเดียวกันสำนักงานชลประทานที่ 6 โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย ได้ประกาศแจ้งกำหนดการหยุดส่งน้ำเพื่อการปลูกพืชฤดูฝนปี 2562 และสถานการณ์น้ำต้นทุนสำหรับฤดูแล้งปี 2562/63 เพื่อแจ้งให้ประชาชนและเกษตรกรได้รับทราบถึงสถานการณ์น้ำเขื่อนอุบลรัตน์ โดยจะส่งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศน์ตลอดลำน้ำพอง และแม่น้ำชีถึงเขื่อนระบายน้ำวังยาง จ.มหาสารคาม ให้เพียงพอตลอดฤดูแล้งปี 62/63″

นายศักดิ์ศิริ กล่าวต่ออีกว่า ได้แจ้งให้ทุกภาคส่วนสำรวจความต้องการใช้น้ำดิบเพื่อผลิตประปาหมู่บ้าน และแหล่งน้ำดิบของการประปาส่วนภูมิภาค เพื่อการบริหารจัดการแหล่งน้ำต้นทุนที่มีอยู่ ภาคการเกษตรได้ขอความร่วมมือให้เกษตรกรสำรองน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติและปลูกพืชใช้น้ำน้อยตลอดสองฝั่งลำน้ำพองและแม่น้ำชี ด้านการประมงได้ประสานประมงจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม และสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 10 เฝ้าระวังและติดตามคุณภาพน้ำในลำน้ำพองและแม่น้ำชีอย่างใกล้ชิดเนื่องจากไม่มีปริมาณน้ำเพียงพอที่จะระบายไปเจือจาง อาจจะทำให้คุณภาพน้ำในลำน้ำพองต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชัง

สำหรับภาคอุตสาหกรรมได้ขอความร่วมมือให้วางแผนการใช้น้ำอย่างประหยัดและจัดหาแหล่งน้ำสำรองเพื่อลดปริมาณการใช้น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ รวมถึงขอความร่วมมือจากท้องถิ่นให้เก็บน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติและแหล่งน้ำขนาดเล็กให้มากที่สุด

แสดงความคิดเห็น