สนข. เปิดเวทีประเมินความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding) ในพื้นที่เมืองต้นแบบการพัฒนา TOD ครั้งที่ 1 เชื่อมั่น ยกระดับและเสริมสร้างศักยภาพขอนแก่นแบบครบวงจร ทั้งการเป็นศูนย์กลางการค้า การบริการ พาณิชยกรรม และการลงทุนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉลียงเหนือ ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีสู่การเป็น Smart City และ MICE City
นายเริงศักดิ์ ทองสม ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบการขนส่งและจราจร สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่าภายในงานสัมมนาเพื่อประเมินความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding) ในพื้นที่เมืองต้นแบบจังหวัดขอนแก่น ครั้งที่ 1 ตามโครงการศึกษาพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง “TOD คมนาคม สร้างเมือง เมืองสร้างสุข สุขสร้างได้” ว่า จังหวัดขอนแก่น เป็นหนึ่งในจังหวัดที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเมืองต้นแบบการพัฒนา TODเนื่องจากมีศักยภาพหลายด้าน เช่น การเป็นศูนย์กลางหลักของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามแผนการพัฒนาต่างๆ ทั้งในระดับชาติจนถึงระดับนานาชาติ ตำแหน่งที่ตั้งมีความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์สามารถพัฒนาเป็นศูนย์กลางการคมนาคมของภาคอีสาน อยู่ในแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก (EWEC) และระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ – ใต้ (NSEC) การใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่มีความหลากหลาย มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคและการสื่อสาร
ประกอบกับสถานีรถไฟขอนแก่น ตั้งอยู่ย่านใจกลางเมืองซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกต่อการคมนาคมขนส่ง นอกจากนั้น ยังมีโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายขอนแก่น (บ้านไผ่) – มหาสารคาม – ร้อยเอ็ด – มุกดาหาร – นครพนม โครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-โคราช-หนองคาย และโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ – ขอนแก่น และภาคประชาสังคมมีการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง
ทั้งนี้จากผลการศึกษาเบื้องต้นได้กำหนดแนวทางการพัฒนาพื้นที่บริเวณโดยรอบสถานีรถไฟจังหวัดขอนแก่นตามแนวคิดของ TOD แบ่งออกเป็น 7 โซน ซึ่งจะช่วยยกระดับและเสริมสร้างศักยภาพขอนแก่นแบบครบวงจร ทั้งการเป็นศูนย์กลางการค้า การบริการ พาณิชยกรรม และการลงทุนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉลียงเหนือ ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีสู่การเป็น Smart City และ MICE City
โดยโซนที่ 1 ย่านสำนักงานกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมเบา เพื่อให้สอดรับกับการเป็นเมืองเป้าหมาย 1 ใน 3 จังหวัด ตามโครงการ Smart City ของสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) รวมทั้งพัฒนาเป็นสำนักงาน ร้านค้าปลีกสนับสนุนหรือร้านไฮสตรีท รวมทั้งจุดจอดแล้วจรเพื่อส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะและลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว และที่พักอาศัยให้เช่า เช่น อพาร์ตเมนต์
โซนที่ 2 ศูนย์กลางอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) ครบวงจร รองรับนโยบายของรัฐบาลในการคัดเลือกให้เป็นศูนย์กลางด้านการประชุม จัดแสดง และสัมมนาของภูมิภาค หรือ MICE CITY แห่งที่ 5 ของไทย และรองกับการเพิ่มขึ้นของปริมาณนักท่องเที่ยวจากศักยภาพด้านการเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติ
โซนที่ 3 ศูนย์กลางธุรกิจและพาณิชยกรรมแห่งใหม่ ด้วยตำแหน่งที่ตั้งใกล้กับสถานี ทำให้เหมาะสมที่จะพัฒนาเชิงพาณิชย์ทั้งศูนย์การค้าขนาดใหญ่ระดับภูมิภาคเพื่อก้าวไปสู่เมืองศูนย์กลางการค้าการลงทุนระดับภูมิภาค ศูนย์กลางการค้าปลีก โรงแรมระดับบน (Hi-End) อาคารสำนักงาน เป็นต้น
โซนที่ 4 จุดเปลี่ยนถ่ายและศูนย์กลางเชื่อมต่อเดินทาง พื้นที่ตั้งติดกับสถานี จึงเหมาะสำหรับการเปลี่ยนถ่ายการเดินทางเชื่อมระหว่างขนส่งมวลชนหลักและขนส่งมวลชนรองเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ นักท่องเที่ยวหรือผู้เดินทางโดยรถไฟ และเหมาะสมเป็นที่ตั้งอาคารสำนักงานแนวราบเพื่อสนับสนุนกิจกรรมเศรษฐกิจในพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันมีการแข่งขันอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับราคาที่ดินเหมาะสมกับการพัฒนาสินทรัพย์อย่างมาก
โซนที่ 5 ย่านชุมชนเมืองเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นย่านที่พักอาศัยที่มีคุณภาพมาตรฐาน สะดวกสบาย ปลอดภัย เช่น เป็นที่พักอาศัยราคาประหยัด อาคารชุดที่พักอาศัยทั้งประเภทแนวราบและ แนวสูง วิทยาเขตการศึกษา สถานพยาบาล สนับสนุนการขายปลีก
โซนที่ 6 ชุมชนเมืองใหม่ภายใต้การพัฒนาแบบผสมผสาน เหมาะสำหรับการพัฒนาเป็นย่านที่อยู่อาศัย เช่น ที่พักอาศัยราคาประหยัด คอนโดมิเนียมประเภทแนวราบ อพาร์ตเมนต์ และทาวน์เฮาส์ รวมทั้งที่พักผู้สูงอายุ พื้นที่สาธารณะ และสวนสาธารณะใจกลางชุมชน เนื่องจากพื้นที่ใกล้กับสถานีรถไฟ
และโซนที่ 7 ชุมชนที่อยู่อาศัยคุณภาพดีผสมผสานศูนย์กลางเมืองเก่า ด้วยมีข้อจำกัดจากความหนาแน่นของพื้นที่ บริเวณนี้จึงเหมาะสมที่จะพัฒนาเป็นที่พักอาศัยราคาประหยัด โดยพัฒนาผสมผสานไปกับพื้นที่เมือง เพื่อเพิ่มทางเลือกให้คนเมืองมีโอกาสเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยคุณภาพในราคาที่สามารถเป็นเจ้าของได้
สำหรับปัจจัยสนับสนุนความสำเร็จในการพัฒนาพื้นที่ TOD ขอนแก่น คือ ภาครัฐต้องกำหนดกรอบนโยบายการลงทุน รูปแบบการพัฒนา และข้อกฎหมายที่สนับสนุนให้มีความชัดเจน การมีหน่วยงานกลางทำหน้าที่กำกับดูแลและรับผิดชอบ มีช่องทางในการสร้างรายได้จากการพัฒนาพื้นที่ตลอดจนทุกภาคส่วนมีเครื่องมือทางการเงินเพื่อสนับสนุนการพัฒนาด้านต่างๆ ของโครงการ และมีรูปแบบการลงทุนที่มีความเป็นธรรม สอดคล้องกับลักษณะการพัฒนา TOD ในพื้นที่ และที่สำคัญคือต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง