ไร้จรรยาบรรณนักธุรกิจสุด สุด หัวจิตหัวใจคิดได้อย่างไร ล่อซื้อเด็ก 15 สั่งทำกระทงลายการ์ตูนลิขสิทธิ์ สุดท้ายจับเด็กข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ ต่อรองรับเงินหน้าตาเฉย พอเรื่องอื้อฉาวจึงยอมคืนเงิน และให้ทำได้
” Workpoint News” รายงานข่าวว่า โลกออนไลน์มีการแชร์ข้อความพร้อมภาพ ระบุว่า “..ท่านๆ ทั้งหลายที่มีหน้าที่ตรวจจับลิขสิทธิ์ ตรงนี้รู้ว่าคือหน้าที่ แต่เกินไปมั้ยคะ คุณโทรไปสั่งให้เด็กทำสินค้าตัวนี้ #เน้นตัวนี้ แล้วโอนเงินมัดจำมา 200 บ. นัดรับของ..แล้วมาจับกุมเขา และโทรบอกผู้ปกครองว่าถ้าไม่จ่ายต้องติดคุก พร้อมเรียกเงิน 50,000 บ. ไม่งั้นติดคุก 2 ปี
…เด็กเขาอยากทำกระทงขายเพื่อมีรายได้ด้วยความภาคภูมิใจที่ไม่ขอเงินพ่อแม่ ดีกว่าไปทำอย่างอื่นที่ไม่ดีต่อสังคม แต่ผลตอบรับกลับมา เด็กอายุ 15 เจอสิ่งที่ทำให้เขาหวาดกลัวและตกใจมาก…และในอนาคตภายภาคหน้า เด็กเหล่านี้เขาจะไว้ใจอะไรในสังคมนี้บ้าง ….กลุ่มคนพวกนี้กำลังทำวิธีส่องเฟซและล่อซื้อ และจะเจอเหมือนกับเด็กคนนี้และอีกหลายคนที่โดนอยู่…. #เตือนกันนะคะ”
กลายเป็นประเด็นร้อน และวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ส่วนใหญ่พุ่งเป้าไปที่ เด็กไม่มีเจตนาทำกระทงละเมิดลิขสิทธิ์แต่อย่างใด ถ้าไม่ถูกล่อซื้อ จากเจ้าของลิขสิทธิ์เสียเอง
แน่นอนในแง่กฎหมาย ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม ได้ให้ข้อมูลถึงประเด็นดังกล่าวว่า “ถ้าในทางกฎหมายมีความผิดแน่นอน เพราะถือว่ามีการดัดแปลงงานศิลปะ และแสวงหากำไรเพื่อเอาไปขาย ซึ่งกฏหมายห้ามในส่วนนี้ โทษคือ ถ้ากระทำเพื่อการค้า โทษจำคุก 6 เดือน ถึง 4 ปี และปรับตั้งแต่ 1 แสน ถึง 8 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
แต่ถ้าเป็นเด็ก 15 ไม่น่าจะติดคุก แต่ถ้าไม่ผิดเลยก็คงจะไม่ใช่ เพราะมันเป็นการดัดแปลง แต่ถ้าจะมองว่า ตร. ทำเกินไปหรือไม่นั้น คิดว่าไม่เกินไป เพราะเป็นเทคนิกของทางตำรวจในการดำเนินการอยู่แล้ว
ส่วนประเด็นล่อซื้อและก่อให้เป็นการกระทำความผิด หลักฐานตรงนี้อาจจะได้มาไม่ชอบ ถ้าจะสู้ประเด็นนี้ก็เป็นไปได้อยู่ แต่ก็ต้องไปสู้คดีในชั้นศาลต่อไป ให้ทนายช่วยในคดีล่อซื้อ”
ขณะที่ พ.ต.อ.คเชนท์ เสตะปุตตะ ผู้กำกับ สภ.เมืองนครราชสีมา เปิดเผย่วา ตนได้ให้ตำรวจเชิญตัว นางสาวเอ (นามสมมติ) อายุ 15 ปี พร้อมสินค้าที่ละเมิดลิขสิทธิ์ มาที่ สภ.เมืองนครราชสีมา ซึ่งผู้เสียหาย และผู้ถูกจับกุมเป็นเยาวชน ได้มีการเจรจายอมความ โดยเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 5,000 บาท และตกลงกันได้
อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าว อยากฝากไปยังประชาชนเยาวชนที่ต้องการหารายได้ จากการผลิตสินค้าเพื่อนำมาขายบนโลกโซเชียลว่า ควรมีการตรวจสอบเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ให้ดี เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา
และกรณีดังกล่าว ผู้ที่ถูกจับกุมเป็นเยาวชน ซึ่งอาจจะทำด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่เมื่อเป็นเรื่องของลิขสิทธิ์ก็ต้องดำเนินการไปตามกฎหมาย
ต่อมาเวลา 20.00 น. นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ โพสต์ลงแฟนเพจ ชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมว่า “พรุ่งนี้จะให้นำเงินมาคืนเด็ก ชมรมได้คุยกับเจ้าของลิขสิทธิ์พรุ่งนี้จะนำเงินมาคืนเด็กผ่านผกก สภ.เมืองนครราชสีมาและกระทงทำขายได้โดยไม่มีความผิดแต่อย่างใด”
อ่านต่อ>>https://workpointnews.com/2019/11/04/police-cartoon-1/?fbclid=IwAR1spSUZTMvR2PGeBESWgoU57Ynxm7P-ejcmtjV3SFY7B4sAxvSz6EAzgoA