เนื่องด้วยได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมและเป็นวิทยากรในการประชุมวิชาการนานาชาติที่มหาวิทยาลัย TSUKUBA ประเทศญี่ปุ่น ผมได้เรียนรู้หลายอย่างจากประเทศต่างๆ ที่ได้นำเสนอ การเพิ่มประสิทธิภาพและโอกาสการเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินอย่างเหมาะสม ผมมองว่าถ้าสามารถนำมาปรับให้เข้ากับบริบทของประเทศไทยก็น่าจะทำให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแน่นอน ผมลองเล่าให้ร่วมกันคิด เพื่อไปต่อยอดต่อ ดังนี้
- นโยบายของประเทศด้านการแพทย์ฉุกเฉินต้องถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน ตามที่องค์การสหประชาชาติมีเป้าหมาย SDGs : sustainable development goals
- การพัฒนาระบบบริการต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาความสามารถของทีมผู้ให้การรักษา ความสามารถ ความรอบรู้ ความใส่ใจ ความสนใจและทัศนคติที่ดีของประชาชนด้านสุขภาพด้วย ต้องทำให้ทุกองค์ประกอบนั้นมีการพัฒนาไปพร้อมๆ กัน สุขภาพเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง ทีมใดทีมหนึ่ง ALL for HEALTH
- การพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินด้วยการใช้เทคโนโลยี เช่น สมาร์ทโฟน เป็นวิธีที่น่าสนใจมาก เพราะใช้ง่าย เข้ากับยุค 5 G และคนส่วนใหญ่ก็ใช้ได้ เช่น แอพพลิเคชั่น เรียกรถพยาบาลแทน การใช้โทรหมายเลขฉุกเฉิน เพราะการเรียกโดยแอพพลิเคชั่นนั้นจะมีข้อมูลที่ผู้ใช้ลงทะเบียนไว้ก่อน รู้ตำแหน่งที่รถต้องไปรับชัดเจน มีการให้ความรู้ได้ด้วย
- การสร้างความรู้ให้ทุกคนมีความสามารถในการช่วยฟื้นกู้ชีพคนที่หัวใจหยุดเต้นได้ เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง
- การสร้างความรู้ให้คนไข้ ญาติรู้จักการประเมินอาการป่วยของตนเองว่าเป็นภาวะเร่งด่วนหรือไม่เร่งด่วน ก็จะช่วยลดปัญหาการเข้าถึงห้องฉุกเฉินที่ไม่เหมาะสมลงไปได้ โดยการจัดทำแบบประเมินอาการตนเองให้ทุกคนสามารถใช้แบบประเมินด้วยตนเองได้
- การสร้างระบบให้คำปรึกษาด้านสุขภาพโดยทีมการให้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน ถามได้ทุกปัญหาที่เกี่ยวกับการเจ็บป่วยที่ประชาชนคาดว่าเป็นภาวะฉุกเฉิน อาจตอบด้วยทีมสุขภาพ หรือ AI ช่วยตอบ
- การร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานของรัฐที่ต่างสังกัดกัน และภาคเอกชน เพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากที่สุด
สิ่งที่ผมมองว่าสำคัญ คือ การให้ความสำคัญของปัญหาการแพทย์ฉุกเฉินของผู้บริหารทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และการสร้างความรู้ ความสามารถให้ประชาชนสามารถช่วยให้การปฐมพยาบาล และการเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินได้อย่างเหมาะสม
โดย-ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์
แสดงความคิดเห็น