แร่ใยหินไครโซไทล์ สารก่อมะเร็งที่ยังคงลอยนวลอยู่ในประเทศไทย ล่าสุด สมัชชาสุขภาพขอนแก่นร่วมกับภาคีเครือข่าย เอาจริง ที่จะ “แบน” ให้หมดไปเร็วที่สุด จากการให้ความรู้ถึงพิษภัยกับกลุ่มเสี่ยงที่เป็นคนงานก่อสร้าง และคนทั่วไปได้สัมผัส สู่การเลิกใช้ และไม่นำเข้าในที่สุด
ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยต้องไร้แร่ใยหิน เพราะจากการประชุมปรึกษาหารือการทบทวนมติ ของสมัชชาสุขภาพขอนแก่นร่วมกับภาคีเครือข่ายหลายครั้ง ทำให้เห็นอันตรายร้ายแรงที่ไม่อาจมองข้าม เพราะแร่ใยหินทุกชนิดเป็นสารพิษก่อมะเร็ง ที่มีผลต่อสุขภาพอย่างมาก
สืบเนื่องจากสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ที่จัดขึ้นเมื่อปี 2553 ได้มีมติรับรองมาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน จนนำไปสู่มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 12 เมษายน 2554 เห็นชอบตามมติสมัชชาสุขภาพ ทว่า ยังไม่สามารถดำเนินการยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหินไครโซไทล์ ทั้งยังมีการคัดค้านเรื่องนี้จากบรรดาบริษัทที่ยังใช้อยู่ โดยมีเหตุผลว่า จำนวนผู้ป่วยโรคเหตุใยหินยังมีจำนวนไม่มาก และสารที่จะใช้ทดแทนก็ยังไม่มีคุณภาพเพียงพอและมีราคาสูง
รศ.ดร.พรพรรณ สกุลคู อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.ขอนแก่น กล่าวว่า แร่ใยหินทุกชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง ที่มีผลต่อสุขภาพของคนงานที่ทำงานในสถานประกอบกิจการที่ใช้แร่ใยหิน และส่งผลกระทบทางสุขภาพต่อประชาชนทั่วไปที่มีการสัมผัสกับแร่ใยหินจากการใช้ การแพร่กระจาย การทุบทำลายผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นองค์ประกอบหรือส่วนผสม ตลอดจนการกำจัดขยะอันตรายที่มีแร่ใยหิน ทั้งยังมีความกังวลต่อปริมาณการใช้แร่หินไครโซไทล์ในประเทศที่ยังคงมีการนำเข้าอย่างต่อเนื่อง และใช้อยู่ในผลิตภัณฑ์หลายประเภท จากข้อมูลปี 2559 ประเทศไทยจัดเป็นประเทศที่มีอัตราจากการนำเข้าแร่ใยหินสูงอันดับ 5 ของโลก ขณะที่มี66ประเทศทั่วโลก ยกเลิกการใช้แร่ใยหินแล้ว
สำหรับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ คือกลุ่มแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิตที่ต้องสัมผัสกับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน กลุ่มแรงงานก่อสร้างอาคารบ้านเรือนที่ต้องสัมผัสกับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน ประชาชนทั่วไปที่ได้รับสัมผัสแร่ใยหินจากกิจกรรมต่าง ๆ
“นี่จึงเป็นที่มาของการประชุมปรึกษาหารือเพื่อทบทวนมติ ‘มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน’ โดยการสร้างความเข้มแข็งท้องถิ่นและชุมชนให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหิน ส่งเสริมการใช้สารทดแทนที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ รวมทั้งเผยแพร่ ความรู้ พัฒนาระบบเฝ้าระวังและติดตามกลุ่มเสี่ยง และการวิจัย เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยที่ประชุมเห็นพ้องว่าจำเป็นต้องทบทวนมตินี้อีกครั้ง โดยภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอเป็นระเบียบวาระเข้าสู่การพิจารณาในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ประจำปี 2562 ที่กำลังจะจัดขึ้นในช่วงปลายปี62”
ส่วนการนำเข้าเป็นระเบียบวาระสมัชชาสุขภาพแห่งชาติรอบใหม่จะมีข้อเสนอที่แตกต่าง และยกระดับจากข้อเสนอเดิม แสวงหาวิธีการใหม่ๆ ที่จะแก้ปัญหา ตั้งเป้าหมายไว้ 3 ระยะ โดยในระยะสั้นจะร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ประชาสัมพันธ์ให้องค์กรวิชาชีพ ผู้บริโภค ทราบถึงอันตรายจากแร่ใยหินไครโซไทล์ และสารทดแทน
ระยะกลางจะเป็นผลักดันให้หน่วยงานราชการ เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์เป็นส่วนประกอบของวัสดุในการก่อสร้างอาคารของหน่วยงาน
ส่วนระยะยาวจะทำการยกเลิกการนำเข้าและใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ ตลอดจนมีแผนการจัดการกับขยะแร่ใยหินไครโซไทล์ที่เหมาะสมต่อไป