ถกปัญหาเอเชีย-แปซิฟิก เด็กปากแหว่งเพดานโหว่ เผยอีสานมากสุด 700 คน

มข.ประชุมวิชาการระดับเอเชีย-แปซิฟิก ดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ฯพิการแต่กำเนิดครั้งที่ 9 เผยเด็กอีสานเป็นปากแหว่งเพดานโหว่ฯมากที่สุดถึง 700 คน ยก “ศูนย์ตะวันฉาย” ได้มาตรฐานนานาชาติ ดูแลอย่างครอบคลุม และมีประสิทธิภาพ

นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น เป็นประธานเปิดโครงการประชุมวิชาการระดับเอเชีย -แปซิฟิก ด้านการดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และความพิการแต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้า ครั้งที่ 9 และการประชุมวิชาการสมาคมความพิการปากแหว่ง เพดานโหว่ ใบหน้าและศีรษะ แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 12 โดยมี ศ.นพ.บวรศิลป์ เชาวน์ชื่น ผู้อำนวยการศูนย์ตะวันฉายเพื่อผู้ป่วยปากแหวงเพดานโหว่และพิการทางศีรษะและใบหน้า รพ.ศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมในพิธี ณ ห้องประชุมโรงแรมพูลแมน ราชาออคิด ขอนแก่น

ศ.นพ.บวรศิลป์ เชาวน์ชื่น ผู้อำนวยการศูนย์ตะวันฉายเพื่อผู้ป่วยปากแหวงเพดานโหว่และพิการทางศีรษะและใบหน้า รพ.ศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า งานดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการ ประสบการณ์ และองค์ความรู้ด้านการดูแลรักษาผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ฯที่สมบูรณ์แบบ โดยใช้แม่แบบการฟื้นฟูสภาพโดยมีชุมชนเป็นฐานขององค์การอนามัยโลก ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรทางด้านสาธารณสุขจากนานาชาติ และเพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในการดูแลรักษาผู้ป่วยแหว่งเพดานโหว่ และระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ฯ ที่สมบูรณ์แบบภายใต้รูปแบบทีมสหวิทยาการ

ทั้งนี้ ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่และความพิการแต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้า เป็นปัญหาสำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีประชากร 1 ใน 3 ของประเทศไทย ซึ่งประมาณการณ์ว่าเกิดแต่ละปี 1,000 คน จะมีเด็ดปากแหว่งเพดานโหว่และความพิการแต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้าในแต่ละปี 2-2.5 คน ต่อพัน ขณะนี้ก็จะมีเด็กดังกล่าวประมาณ 600 – 700 คน ในภาคอีสาน

ภาวะความพิการดังกล่าว ก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ป่วยและครอบครัวทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ และยังต้องดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องมีบุคลากรทางการแพทย์จากสหวิชาชีพเข้ามามีบทบาทในการผ่าตัดรักษา ดูแลและฟื้นฟูสภาพ นั่นคือศูนย์การดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่และความพิการแต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้า หรือ “ศูนย์ตะวันฉาย” ของ รพ.ศรีนครินทร์ มข. ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยเฉพาะทางของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ฯ ที่สมบูรณ์แบบ ตามมาตรฐานการดูแลและผู้ป่วยปากแห่วงเพดานโหว่ฯ ระดับนานาชาติ โดยจะใช้เป็นฐานให้บริการด้านการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะปากแหว่ง เพดานโหว่ และพิการทางศีรษะและใบหน้าอย่างครอบคลุม และมีประสิทธิภาพ ทั้งมุ่งเน้นความต้องการและความหวังของผู้ป่วยเป็นหลัก.

แสดงความคิดเห็น