กระทรวงพลังงานเลือกขอนแก่นต้นแบบเมืองจัดการพลังงาน ชู Low Carbon City-ผลิตไฟฟ้าจากขยะ-รถไฟฟ้า LRT โชว์นานาชาติ
ระหว่างวันที่ 19-21 พฤศจิกายน 2562 เณ ห้องบอลรูม ชั้น 7 โรงแรมโซฟิเทล สุขุมวิท กรุงเทพมหานคร นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น ร่วมเป็นวิทยากรในการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การวางแผนประสิทธิภาพของการใช้พลังงานในเมืองและผลสำเร็จของการใช้พลังงาน : กรณีศึกษา: ประเทศไทย, เทศบาลนครขอนแก่น” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมเชิงปฏิบัติการ GMS/ASEAN (อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและประชาคมอาเซียน) ภายใต้หัวข้อ “ประสิทธิภาพของการใช้พลังงาน” โดยมี ดร.กฤษวรุณ ไชยนิจ ปลัดเทศบาล ,นางกฤษณา แสนสอาด รองปลัดเทศบาล ,นายธวัชชัย วนาพิทักษ์กุล ผู้อำนวยการส่วนการโยธา และนางสาวจรินทร์ญา สุทาวัน หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ เข้าร่วมงานในครั้งนี้ด้วย
โดยนายกเทศมนตรีนครขอนแก่นได้กล่าวว่า จากการที่คณะผู้จัดการประชุม (กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงานประเทศไทย ,ธนาคารเอเชีย (ADB) และศูนย์พลังงานอาเซียน) ได้คัดเลือกให้เทศบาลนครขอนแก่นเป็นตัวแทนของประเทศไทยในการเป็นพื้นที่กรณีศึกษาเกี่ยวกับการวางแผนประสิทธิภาพของการใช้พลังงานในเมืองและผลสำเร็จของการใช้พลังงานนั้น เทศบาลนครขอนแก่นได้นำเสนอถึงการบริหารจัดการเมืองโดยการพัฒนารูปแบบและโครงสร้างของเมืองที่สอดคล้องกับแนวคิดของเมืองอัจฉริยะ Smart City การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ประกอบกับการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและข้อมูลมาช่วยในการบริหารจัดการทรัพยากรของเมืองเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป ซึ่งในครั้งนี้ขอยกตัวอย่าง 3 โครงการ คือ
1. Khon Kaen Low Carbon City “คนขอนแก่นหัวใจไร้มลพิษ” โดยให้มีการดูแลพื้นที่สีเขียว ลดการก่อมลพิษลดการใช้ไฟฟ้า ประปา น้ำมัน และหันมาใช้ทรัพยากรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมขับเคลื่อนด้วย 5 ยุทธศาสตร์คือ 1.สังคมแห่งต้นไม้ (การปลูกต้นไม้ในหัวใจคน ได้แก่ จิตอาสาผู้ช่วย D.Tree ,อาสาสมัครคขุนพลสีเขียว 2.สังคมไร้มลพิษ (ขยะ น้ำเสีย อากาศ) 3 ส.งคมพิชิตพลังงาน (ลดการใช้ไฟฟ้า ประปา เชื้อเพลิง และหันมาใช้พลังงานทดแทน) 4. สังคมที่มีการบริโภคอย่างยั่งยืน (กินอยู่อย่างพอเพียง ใช้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า) 5.สังคมการสร้างคนรุ่นใหม่หัวใจสีเขียว (นักรบสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาหลักสูตรสิ่งแวดล้อม) นอกจากนั้นยังได้ขยายกิจกรรมเพิ่มอีก คือ เมืองจักรยาน (ส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน) และ เมืองรู้สู้ภัยพิบัติ (เตรียมความพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ)
2.โครงการบริหารจัดการและกําจัดขยะมูลฝอยด้วยวิธีการแปรรูปขยะเป็นพลังงานไฟฟ้าที่มิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเทศบาลนครขอนแก่นได้เปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนเข้ามาดําเนินงานโครงการนี้ (ระยะเวลาสัญญา 20 ปี) โดยการก่อสร้างโรงงาน และเป็นเทคโนโลยีแบบเผาตรง (การเผาไหม้ขยะประสิทธิภาพสูง) นำพลังงานความร้อนไปผลิตกระแสไฟฟ้า มีระบบบำบัดมลภาวะทางอากาศ ที่ได้รับการยอมรับจากหลายประเทศ สามารถเผาขยะได้ทุกชนิดพร้อมกัน ทั้ง เศษไม้ กระดาษ พลาสติก ยาง ผ้าและเศษอาหาร จากทั้งขยะเก่าและใหม่รวมกัน ซึ่งปัจจุบันนี้สามารถกําจัดขยะได้ 450 – 600 ตันต่อวัน และสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 6.0 เมกะวัตต์ นอกจากนั้นยังมีการคำนึงถึงคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมบริเวณโดยรอบโครงการฯ ทั้งการจัดการระบบน้ำเน่าเสีย หรือ พาหะนำโรคต่างๆ
3.Smart Mobility ระบบขนส่งมวลชนระบบรางเบา Light Rail Transit : LRT สายเหนือ-ใต้ (สำราญ-ท่าพระ)” ก่อเกิดขึ้นมาภายใต้แนวคิด “ระบบรางเปลี่ยนเมือง โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม สร้างความเป็นเจ้าของเมือง ถือเป็นต้นแบบของการมีส่วนร่วม สามัคคี ด้วยการสร้างวิถีการดำรงชีวิตและการทำงานด้วยความเอื้ออาทร ลดความขัดแย้ง ของภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และ ภาคประชาสังคม” ด้วยการบริหารจัดการแบบหลักการพึ่งพาตนเองไม่เป็นภาระแก่รัฐบาลด้านงบประมาณ โดยวิธีการระดมทุนของ 5 เทศบาล (เทศบาลนครขอนแกน ,เทศบาลเมืองศิลา .เทศบาลตำบลเมืองเก่า ,เทศบาลตำบลสำราญ และเทศบาลตำบลท่าพระ) โดยจัดตั้งเป็นบริษัท คือ บริษัทขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด (KKTS) และภาคเอกชน (ได้จัดตั้งเป็นบริษัท คือ บรัษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด (KKTT) ให้การสนับสนุนการดำเนินการที่ว่านี้จะมีความคิดต่างจากพื้นที่อื่น นั่นก็คือ เราตั้งใจที่จะเป็นเมืองที่จะผลิตรถรางเอง โดยซื้อ Know how และเทคโนโลยี ในการผลิตจะต้องสร้างคนเพื่อรองรับและจะต้องนำระบบการศึกษาเข้ามาสนับสนุน และที่สำคัญโครงการนี้จะสามารถเชื่อมโยงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับเมืองขอนแก่นอย่างมากมาย ทั้งการมุ่งเน้นประหยัดพลังงาน ลดค่าใช้จ่าย ลดมลพิษ และแก้ปัญหาการจราจรในอนาคต ตลอดจนยังส่งผลดีต่อระบบการศึกษาของเด็กขอนแก่นหรือเด็กอีสานจะมีงานทำที่ขอนแก่น ไม่ต้องไม่พลัดพรากถิ่นฐานบ้านเกิดไปทำงานที่อื่น ตลอดจนส่งผลดีต่อรายได้ของประชากรและ GDP ของจังหวัดขอนแก่นอีกด้วย นอกจากนั้นยังส่งผลกระทบทางอ้อม คือ ลดความเหลื่อมล้ำความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงโอกาสทางสังคมอีกด้วย
ทั้งนี้ ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมรับฟังเป็นอย่างมากในการที่จะสอบถามกับนายกเทศมนตรีนครขอนแก่นถึงรายละเอียดโครงการเพิ่มเติม สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการ GMS/ASEAN (อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและประชาคมอาเซียน) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 21 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงานประเทศไทย ร่วมกับธนาคารเอเชีย (ADB) และศูนย์พลังงานอาเซียน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการในรูปแบบลักษณะการเรียนรู้และแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างประเทศ และปัจจัยการผลิตเพื่อการปรับปรุงนโยบายและกฎระเบียบพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับการเตรียมการกลไกการดำเนินงานในภาคส่วนต่าง ๆ และหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งในการนี้มีประเทศที่เข้าร่วมนำเสนอ จำนวน 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย ,จีน ,เกาหลี ,อินโดนีเซีย ,ฟิลิปปินส์ ,เวียดนาม ,ลาว ,พม่า ,กัมพูชา และบังกลาเทศ