น่าทึ่ง และน่ายินดี ที่ม.ขอนแก่น พัฒนานวัตกรรมเครื่องตรวจวัดฝุ่นขนาดเล็ก PM มอร์นิเตอร์ ติดตั้งในรถยนต์ได้สำเร็จ ที่สำคัญพร้อมส่งมอบให้สนง.สิ่งแวดล้อมในพื้นที่ 5 จังหวัดอีสานใช้นำร่องเฝ้าระวังตรวจวัดฝุ่น PM 2.5 แบบเรียลไทน์ แล้ว
มลพิษจากฝุ่น PM 2.5 กลายปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เมืองใหญ่ทั่วประเทศต้องเฝ้าระวังอย่างสูง แม้ว่าหลายจังหวัดจะยังไม่มีเครื่องวัดก็ตาม ที่สำคัญมีอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก และถ้าขนาดเล็กมากอาจเข้าสู่กระแสเลือด เพิ่มความรุนแรงให้กับหลายโรคอีกด้วยเรื่องนี้ทำให้หลายฝ่ายเริ่มเห็นความสำคัญของปัญหา โดยเฉพาะนักวิชาการ นักวิจัย เริ่มเข้ามามีบทบาทในการหาทางป้องกันแก้ไขมากขึ้น
อย่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น นางสาวอุดมลักษณ์ เพียรสุขเวชา นักวิจัยโครงการนวัตกรรมเพื่อเฝ้าระวังและลดผลกระทบของมลภาวะสิ่งแวดล้อมต่อสุขภาพ กล่าวถึงแรงจูงใจให้คิดค้นนวัตรกรรมตรวจวัดฝุ่น ที่เรียก PM มอร์นิเตอร์ ว่า เครื่องมือตรวจเก็บค่า PM 2.5 ในขอนแก่นมีติดตั้งเพียงที่เดียว ดังนั้นการที่เราจะบอกว่าอำเภอต่าง ๆ มีค่า PM 2.5 เท่าไหร่ เราก็ไม่สามารถบอกได้ ดังนั้นในเฟสแรกของเรา จึงคิดเครื่องมือติดตั้งไปกับรถ เพื่อที่จะเก็บค่า PM 2.5 ไปเรื่อย ๆ รถผ่านทางไหนก็เก็บไปเรื่อย ๆ ดาต้าก็จะลงมาที่เซิร์ฟเวอร์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เราต้องการ Forecast ก็คือการทำนายพยากรณ์ไปข้างหน้าคล้าย ๆ พยากรณ์อากาศว่าตอนนี้ค่า PM 2.5 ประมาณเท่าไหร่ใน 4 ชั่วโมงข้างหน้า ถ้าเกิดว่าเราทราบค่า PM 2.5 ที่มันจะเกิดในอนาคต สิ่งนี้ก็คิดว่าน่าจะช่วยประชาชนของจังหวัดขอนแก่นได้
ส่วน ดร.ชวิศ ศรีจันทร์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ม.ขอนแก่น ผู้คิดค้นนวัตกรรมตรวจวัดฝุ่นขนาดเล็ก PM มอร์นิเตอร์ กล่าวว่า พื้นที่ขอนแก่นประกอบไปด้วยพื้นที่ ที่มีความสูง-ต่ำแตกต่างกัน สังเกตุที่บ้านว่าทำไมที่บ้านค่า PM มันสูงกว่าที่ Station (สถานีตรวจวัดอากาศ) เราก็เลยคิดว่าทำอย่างไรจึงจะใช้กับแต่ละพื้นที่หลาย ๆ จุดพร้อม ๆ กัน ถ้าเอาเซ็นเซอร์ที่เรามีไม่กี่ตัวมาวิ่งแล้วก็วัดเราจะสามารถวัดพื้นที่ได้ในระยะกว้างและทราบ เรียลไทน์ว่าแต่ละพื้นที่มีค่า PM เท่าไหร่ รถที่วิ่งผ่านเราสามารถเอาจุดแต่ละจุดที่รถวิ่งผ่าน มา Interpolate (ประเมินค่า) เกิดเป็นภาพ 3 มิติ โดยละเอียดขึ้นมาซึ่ง Resolution (ความละเอียด) ที่เราได้ก็คือตามระยะที่รถห่างกัน เราจะเห็นละเอียดว่าในเมืองของเรามีตรงจุดไหนบ้าง ที่สำคัญก็คือเราเป็นห่วง Public Space ก็คือพื้นที่คนเยอะ เช่น ที่ ๆ มีเด็กก็คือโรงเรียนและโรงพยาบาล เราก็เลยมีแนวคิดที่ทำเซ็นเซอร์นี้ขึ้นมา
ดร.ชวิศ กล่าวต่อ อุปกรณ์นี้จะมีเซ็นเซอร์เป็นเลเซอร์ ที่ใช้ยิงเซ็นเซอร์ก็จะต่อกับตัว Controller (ตัวควบคุม) ซึ่ง Controller จะได้ตำแหน่งพิกัดจาก WiFi ที่เขาได้รับ หลังจากเขาได้ตำแหน่งพิกัด WiFi ก็จะอัพโหลดข้อมูลโดยตรงไปที่ Cloud Database (ระบบฐานเก็บข้อมูล) ซึ่ง Cloud Database ก็จะเก็บทุกจุดที่เซ็นเซอร์ตัวนี้วิ่งผ่าน สมมุติว่าเรามีรถหลายคันวิ่งพร้อมกันเอาข้อมูลทั้งเมือง แล้วก็มา Plot (เค้าโครง) เป็นรูปสามมิติหรือว่า Plot เป็น 4 มิติ ก็ได้ Plot ทับลงแผนที่เพื่อจะบอกว่าตรงนี้ตอนนี้ไม่ปลอดภัยแล้ว เราก็ประกาศแจ้งเตือนประชาชนว่าจุดนี้คืออันตราย
เราสามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ ckd.kku.ac.th โครงการป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ก็จะมีลิงค์ให้เราเข้าไปคลิกดูได้เลย ไม่ว่าเราจะใช้ ios หรือ Android ดูได้หมด ไม่ต้องลง App ก็จะขึ้นแผนที่ขึ้นมาเลย เราก็จะเห็นจุดวิ่งไปเรื่อย ๆ สมมุติว่าเรานั่งรถจาก Airport มา เราก็เห็นเลยว่าตรงจุดที่ตัวเองนั่งอยู่มีค่า PM เท่าไหร่ ถ้าเราออกไป เราจะต้องเตรียมตัวอย่างไง ต้องใส่หน้ากากมั้ยก็ต้องเซฟตัวเอง
จริง ๆ เราก็มีแนวคิดที่จะสร้าง Safe Zone ด้วย ก็คือใช้ Electrostatic Precipitation (การเกิดไฟฟ้าสถิต) จากการคำนวณของเราสายส่งไฟฟ้าบ้านเราสามารถที่จะสร้าง Safe Zone ได้รัศมีประมาณ 40 เมตร แล้วส่วนหนึ่งก็คือเรามีนวัตกรรมที่จะเป็น Electrostatic เหมือนกัน คือปล่อยประจุเข้าไปฝุ่นมันจะมาเกาะตัวกันเป็นก้อนใหญ่ ไม่เป็นอันตรายอะไร ซึ่งเราจะทำตรงนี้ห้อยไว้ที่คอแทนที่จะใส่มา Mask (หน้ากากอนามัย) เพราะว่าถ้าเราใส่ Mask บางทีเราหายใจไม่สะดวกและก็อึดอัดด้วย และที่สำคัญราคาต้นทุนถูก
ด้านนายวิรุณภพ สุภาพ ผู้อำนวยการสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 กล่าวว่า เนื่องจากการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศนั้น เรามีเครื่องมือของกรมควบคุมมลพิษซึ่งเป็นสถานีอัตโนมัติ แต่มีจำกัด ในภาคอีสานมีเพียง 4 แห่งคือที่ขอนแก่น เลย นครราชสีมา ส่วนอุบลราชธานีนั้นจะเป็นแบบโมบาย เพราะฉะนั้นสถานีก็ไม่มีความพร้อม ไม่ทั่วถึง เพราะฉะนั้นทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นเองได้มีการพัฒนาเซ็นเซอร์ขึ้นมาเพื่อจะตรวจวัดเพื่อเป็นการเฝ้าระวัง โดยทางมหาวิทยาลัยได้ร่วมมือกับทางสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 ในการที่จะเอาเครื่องมือนี้มาใช้ในการติดที่รถยนต์ของสำนักงานที่จะวิ่งไปปฏิบัติงาน ก็จะสามารถที่จะวัดฝุ่นละออง ซึ่งก็จะทำให้เรามีฐานข้อมูลเพิ่มขึ้น ว่าฝุ่นตามจุดต่าง ๆ สถานการณ์เป็นยังไงบ้าง ทำให้ได้ข้อมูลมาใช้ในการวางแผนว่าตรงไหนมีฝุ่นละอองมากเป็นพื้นที่เสี่ยง เราจะได้แจ้งเตือนประชาชนให้ได้รับรู้แก้ไขได้ทันเหตุการณ์ เพื่อเตรียมรับมือกับคุณภาพอากาศที่สูงขึ้น ไม่ให้พี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบ
เช่น มีการป้องกันตัวเองได้ทัน เตรียมความพร้อมในการที่จะจัดหาพื้นที่ Safe Zone หรือพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้ที่จะได้รับผลกระทบ ณ ตอนนี้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ได้สั่งการให้ส่วนราชการต่าง ๆ ท้องถิ่นและประชาชนให้สร้างเสวียน คืออุปกรณ์ที่จัดเก็บใบไม้โดยจะมีการหมักใบไม้เพื่อจะทำเป็นปุ๋ยสร้างความร่วมมือให้ประชาชนลดการเผาในครัวเรือนของตัวเอง รวมทั้งพื้นที่เกษตร เรื่องฝุ่นละอองปีนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าห่วง เนื่องจากเรามีอากาศที่มากับความแห้งแล้ง ทำให้ฝุ่นละอองเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการเผาก็จะเกิดได้ง่าย
เพราะฉะนั้นจึงขอความร่วมมือว่า อยากให้ทุกภาคส่วนได้ตระหนักและเห็นความสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องการเผาซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญและลดการใช้ยานพาหนะที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศสูงเพื่อที่จะช่วยให้อาการนั้นดีขึ้น โดยเฉพาะเกษตรกรอยากให้ลดการเผาในที่โล่ง
|ทาง มข.ได้ร่วมกับสนง.สิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 เอาเครื่องมือนี้มาติดรถยนต์ที่จะวิ่งไปปฏิบัติงาน สามารถวัดฝุ่นละออง ตามจุดต่าง ๆ จะได้แจ้งเตือนประชาชนให้ได้รับรู้แก้ไขได้ทันเหตุการณ์
ที่สำคัญ รศ.พญ.ศิริรัตน์ อนุตระกูลชัย หัวหน้าโครงการนวัตกรรมเพื่อเฝ้าระวังและลดผลกระทบทางมลภาวะสิ่งแวดล้อมต่อสุขภาพ กล่าวว่า เวลาเราพูดถึง PM 2.5 ก็จะหมายถึงมันมีอนุภาคที่มีขนาดเล็ก เล็กกว่า 2.5 ไมครอน เวลาหายใจเข้าไปถ้าเกิดว่าขนาดเกิน 10 ไมครอน มันก็จะไม่เข้ามาอยู่ในทางเดินหายใจเรา แต่ว่าถ้าตั้งแต่ 10 ไมครอนลงไปมันก็จะเข้าไปได้ ถ้าเกิดว่าขณะที่ไม่เล็กกว่า 2.5 อาจจะติดอยู่ตามช่องปาก ช่องจมูก หรือทางเดินหายใจส่วนบนซึ่งก็จะทำให้เกิดจากการระคายเคืองได้ แต่ถ้ามันเล็กกว่า 2.5 มันจะลงลึกไปจนถึงปอดเราจนถึงส่วนที่ใช้กรองอากาศที่เราเรียกถุงลมเล็ก ๆ และถ้าเล็กลงไปกว่านั้นอีกมันก็จะสามารถเข้าไปสู่กระแสเลือดทั้งจากที่ตัวเล็กกระจายเข้าไปโดยตรงหรือว่าการที่เม็ดเลือดขาวเราไปจัดการกับมันและมันก็ไปกับเม็ดเลือดขาวเข้าสู่กระแสเลือด ในความอันตรายก็คือว่าไม่ได้กองอยู่แค่ปอดแล้ว
คราวนี้ก็จะไปทางกระแสเลือด ไปที่อวัยวะอื่น ๆ หากไปที่สมองก็จะทำให้สมองมีการขาดเลือดเสี่ยงเป็นอัมพฤกษ์ – อัมพาตเพิ่มขึ้น ถ้าไปที่หัวใจก็จะทำให้หัวใจขาดเลือด ทำให้คนที่เป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบอยู่แล้ว อาการเป็นมากขึ้น ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะและก็เพิ่มความเสี่ยงที่จะหัวใจวาย ถ้าเกิดว่าไปที่ไตจะทำให้คนไข้เป็นโรคไตอยู่แล้วไตเสื่อมได้เร็วขึ้น นอกจากนี้มีรายงานว่าเพิ่มความเสี่ยงของโรคเบาหวานที่มากขึ้นด้วย รวมทั้งมันสามารถที่จะไปทำอันตรายต่อผิวหนัง ทำให้เกิดการอักเสบที่ผิวหนังและแทรกซึมเข้าไปในผิวหนังจนได้ผลกระทบ
นอกจากจะพูดเรื่องขนาดแล้ว ก็ต้องดูชนิดที่มันปนเปื้อนด้วยว่าอาจจะมีเรื่องของโลหะหนัก เรื่องเชื้อโรค เรื่องเศษผงคาร์บอนที่เกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ พวกนี้ล้วนแต่เป็นผลเสียต่อสุขภาพทั้งนั้น
นวัตกรรมที่ทางเราทำเพิ่มขึ้น ก็จะเหมือนกับเครื่องเซนเซอร์ทั่วไปก็คือแจ้งให้รู้ว่า ค่าตรงนี้มันอยู่ในเกณฑ์ที่มีผลต่อสุขภาพ แต่ที่เราเพิ่มเติมก็คือว่า นอกจากเราจะไปติดตั้งตรงสถานที่ ที่มีกลุ่มเสี่ยงอยู่แล้ว เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล เราจะเอาไปติดตั้งบนรถสาธารณะในขณะที่รถเคลื่อนที่ไปจะสามารถตรวจสภาพอากาศตามระยะทางที่รถวิ่งไปเรื่อย ๆ ถ้ารถวิ่งไป 50 กิโลเมตร 100 กิโลเมตร มันก็จะตรวจได้ระยะทางที่ไกลออกไปตามระยะทาง หรือว่าถ้าขับรถเข้าในชุมชนเราก็จะรู้ค่าเลยว่า ตอนนี้ในชุมชนสภาพอากาศเป็นอย่างไร
นับเป็นอีกก้าวของนวัตกรรมที่จะถูกนำมาช่วยตรวจหาฝุ่นพิษขนาดเล็ก และ PM 2.5 ตลอดจนสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงต่อมลพิษของฝุ่นดังกล่าว เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยงเหล่านั้น หรือหาทางแก้ปัญหาได้ทัน ก่อนที่จะสายเกินไป ถือว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ช่วยเหลือสังคมอย่างสูงด้วย