แก้ไขปัญหาหนี้สินครู : ความท้าทายของคนชื่อณัฎฐพล ทีปสุวรรณ

ความจริงได้พูดถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูมานับครั้งไม่ถ้วนแล้วจึงไม่อยากพูดถึงอีกเพราะพรรคพวกหลายคนก็ฝากมาว่าพูดไปก็เหมือนเอาวิถีชีวิตความเป็นหนี้ของครูมาประจานให้สังคมได้รับรู้มาก ๆ แล้วจะอับอายไปเปล่า ๆ ทั้ง ๆ ที่ครูส่วนใหญ่ไม่เป็นอย่างที่วิพากษ์วิจารณ์กันทางหน้าสื่อมวลชลขณะนี้ ซึ่งผมเองก็เลยหยุดการเขียนและการพูดถึงเรื่องนี้มาหลายเดือนแล้วเพราะพูดไปก็ยังไม่มีใครแก้ปัญหานี้ได้เลย แม้ว่าจะผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมาหลายคนแล้ว ผ่านผู้มารับผิดชอบเลขาธิกา สกสค. ที่มาทำหน้าที่บริหารจัดการเงิน ชพค. ชพส. และดำเนินงานแก้ไขปัญหาหนี้สินครูมาหลายคนแล้วก็ตาม ก็ไม่มีท่าทีว่าจะแก้ ไขปัญหาหนี้สินครูที่หมักหมมเป็นเวลานานของครูได้เลย ทั้ง ๆ ที่ผมเองและอีกหลายองค์กรก็เคยเสนอแนะและพยายามเข้ามาช่วยกันในหลายทาง

จนกระทั่งเห็นข่าวทางหน้าสื่อมวลชลที่ผ่านมาซึ่งพาดหัวข่าวอย่างหน้าติดตามว่า ครูเฮ ศาลชี้ รมว.ศธ. – บิ๊ก ข้าราชการผิดระเบียบหักเงินเดือนเงินบำเหน็จบำนาญชำระหนี้เงินกู้เกินกฎหมายกำหนด (เคลินิวส์ 26 กันยายน 2562) สั่งให้ดำเนินการให้ถกต้องใน 180 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

ในรายละเอียดของคดีนี้เกิดจากข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีหนี้สินวิกฤต จากทั้งประเทศจำนวน 162 คน ยื่นฟ้อง รมว. ศธ., ปลัดศธ., สำนักงานสพฐ. พร้อม ผอ. เขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศต่อศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2561 รวม 45 สำนวนคดีว่า รมว.ศธ. กันพวกตามคำฟ้อง รวมกันหักเงินเดือนเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้สินเงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ ในอัตราเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยไม่เป็นไปตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการหักเงินเดือนเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อการชำระหนี้สินเงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการเพื่อการชำระหนี้สินเงินกู้ให้แก่

สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ. 2551 ที่กำหนดว่า เมื่อส่วนราชการและสหกรณ์ผู้ให้ผู้ดำเนิน การหักเงินเดือน เงินบำเหน็จบำนาญของข้าราชการผู้กู้เพื่อชำระหนี้สินเงินกู้ ผู้กู้จะต้องมีเงินเหลือจากการหักชำระหนี้ ณ ที่หายไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของอัตราเงินเดือนบำเหน็จบำนาญที่ได้รับ ทำให้ข้าราชการครูทั่วประเทศได้รับความเดือดร้อนมีภาวะหนี้สินวิกฤตกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่และการดำรงชีพของข้าราชการครูตลอดจนระบบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ โดยศาลปกครองกลางพิพากษาให้ รมว.ศธ.กับพวกที่กล่าวหาข้างต้น คำเนินการตามระเบียบดังกล่าวให้เสร็จสิ้นภายใน 180 วันนับจากวันที่มีคำพิพากษา ตามรายละเอียดในข่าวที่กล่าวมาแล้ว

ผลสะท้อนจากคำพิพากษาดังกล่าวจาก 3 ฝ่ายที่มีผลกระทบอันได้แก่ ฝ่ายผู้เป็นเจ้าหนี้อันได้แก่ธนาคารออมสินและสหกรณ์ออมทรัพย์ ครูซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ฝ่ายที่ 1 กับครูที่เป็นลูกหนี้ทั้งมวลฝ่ายที่ 2 และ รมว.ศว. กับพวกอันเป็นสายบังคับบัญชาผู้หักเงินฝ่ายที่ 3 

โดยจะเริ่มมองไปที่ฝ่ายลูกหนี้อันได้แก่ครูที่เป็นลูกหนี้ทั้งมวลทั่วประเทศ ซึ่งย่อมดีใจเป็นธรรมดาที่ได้รับผลประโยชน์จากคำพิพากษาศาลปกครองครั้งนี้ เพราะจะได้มีเงินเหลือในแต่ละเดือนมากขึ้นกว่าปัจจุบันแน่นอน เพราะบางคนเหลือเงินที่ถูกหักจากหนี้แล้ว5-10 เปอร์เซ็นต์ก็มีจำนวนมากอันนี้

เมื่อมองปฎิกิริยาของบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายว่าคิดอย่างไรต่อคำพิพากษาของศาลปกครองครั้งนี้ ซึ่งสามารถดูได้จากการประชุมสันนิบาติสหกรณ์แห่งประเทศไทยที่มีการประชุม บรรดาสหกรณ์ออมทรัพย์ครูและสหกรณ์ในเครือข่ายทั่วประเทศหลังได้รับทราบคำสั่งศาลปกครองกลางแล้วเห็นว่า คำพิพากษาดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อเจ้าหนี้ทั้งมวลอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นธนาคารออมสิน และสหกรณ์ออมทรัพย์ต่างๆที่ไม่สามารถหักเงินเข้าบัญชีจากครูทั้งประเทศได้อย่างที่ผ่านมา ซึ่งจะมีผลให้เจ้าหนี้ต้องบังคับหนี้ตามระเบียบและกฎหมายของสถาบันการเงินแต่ละแห่งอย่างแน่นอนนั่นก็คือการไปบังคับเอากับผู้ค้ำประกัน การยึดทรัพย์ บอกเลิกสัญญา ฟ้องล้มละลาย และการปรับโครงสร้างหนี้นั่นเอง

ซึ่งที่ประชุมสันนิบาติสหกรณ์แห่งประเทศไทยจึงมีมติ ให้ทำหนังสือหารือไปยัง รมว.ศธ. เพื่อขอให้มีการอุทธรณ์ คำพิพากษาภายในกำหนดเพื่อยืดระยะเวลาออกไปก่อนจะได้หาแนวทางแก้ไขได้

หันมาดูฝ่ายที่3คือผู้ถูกฟ้องและแพ้คดีครั้งนี้คือท่าน รมว.ศธ.กับพวกว่าจะเอายังไงต่อ ซึ่งนายณัฏฐพล  ทีปสุวรรณ ผู้ซึ่งมาเป็น รมว.ศธ.คนแรกหลังรัฐบาล คสช.ออกไปแล้ว ก็เข้ามารับ แจ๊คพอต ในคดีนี้เป็นคดีแรกทันที และออกมาสัมภาษณ์ต่อคดีนี้ว่า จะรีบคลี่คลายคดีโดยเร็ว และมาตอบคลี่คลายปัญหานี้อีกครั้งเมื่อ 11 ตุลาคม 2562 ต่อหน้าชมรมครูชีวิตใหม่ แห่งประเทศไทย หลายร้อยคนเข้าพบที่หอประชุมคุรุสภาเช่นเดียวกัน โดยสรุปได้ว่า ต่อคดีที่ศาลปกครองกลางพิพากษาครั้งนี้ตนมีแนวคิดที่จะไม่ขออุทธรณ์คดีดังกล่าว เพื่อไม่ให้ปัญหานี้ยืดเยื้อต่อไป แต่จะมีแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างไรนั้นตนมีแนวทางบ้างแล้ว ซึ่งจะต้องค่อยแก้ไขต่อไปในระยะยาวเวลาที่ศาลกำหนดให้ได้

ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่งกับทิศทางของนายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศธ.ที่ไม่ต้องการให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูยืดเยื้อออกไปอีกจึงเป็นทิศทางที่เดินมาถูกทางแล้วครับเพราะจะได้รีบถือโอกาสจัดระบบการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ให้ยั่งยืน โดยถือโอกาสสร้างวินัยทางการเงินให้กับครูให้มีความรัดกุมมากยิ่งขึ้นตั้งแต่ระดับตัวครูเอง ไปจนถึงผู้บังคับบัญชาทุกระดับ ทั้งผู้บริหารระดับเขตพื้นที่ไปจนถึงระดับนโยบายทุกระดับ ซึ่งต้องทำเป็นกระบวนการและมีระเบียบบังคับอย่างชัดเจน

ผู้เขียนขอเอาใจช่วยอย่างเต็มที่ ถ้ามีเวลาในฉบับหน้าจะมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมให้อีก ขอให้สำเร็จในภารกิจอันสำคัญครั้งนี้นะครับท่านณัฎฐพล ทีปสุวรรณ

โดย-ดร.เพิ่ม หลวงแก้วประธานสภาสหภาพครูแห่งชาติ

แสดงความคิดเห็น